2 ปรากฎการณ์ดาราศาสตร์เดือนนี้ ดาวศุกร์สว่างสุด – กลางวันเท่ากลางคืน

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) ระบุผ่านทางเฟสบุ๊กเพจว่า ในวันที่ 18 ก.ย. 2566 ช่วงรุ่งเช้า ‘ดาวศุกร์’ จะปรากฏสว่างเด่นชัด สามารถดูได้ด้วยตาเปล่า ตั้งแต่เวลาประมาณ 03.25 น. ถึงรุ่งเช้า ซึ่งเป็นวันที่ดาวศุกร์สว่างสุดในรอบปี

อีกปรากฎการณ์ดาราศาสตร์ประจำเดือนกันยายนคือ ‘กลางวันเท่ากับกลางคืน’ โดยในวันที่ 23 ก.ย 2566 จะเป็นวัน Autumnal Equinox ที่เวลากลางวันเท่ากับกลางคืน หรือที่เรียกในภาษาไทยว่าวันศารทวิษุวัต (สาด-ทะ-วิ-สุ-วัด) ถือเป็นวันเปลี่ยนฤดูกาลเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเปลี่ยนสู่ฤดูใบไม้ผลิของประเทศในซีกโลกใต้

Autumnal Equinox คำว่า Equinox มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน 2 คำ คือ Aequus แปลว่า เท่ากัน และ Nox แปลว่า กลางคืน ดังนั้น Equinox หมายถึงวันที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน ซึ่งตรงกับคำว่า “วิษุวัต” แปลว่า “จุดราตรีเสมอภาค” 

โดยวันที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากันนี้จะเกิดขึ้นเพียง 2 ครั้งต่อปี คือในช่วงเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิ เรียกว่า วันวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) และในช่วงเริ่มต้นฤดูใบไม้ร่วง เรียกว่า วันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox)

ในแต่ละวันดวงอาทิตย์จะปรากฏในตำแหน่งต่างกัน เปลี่ยนตำแหน่งไปประมาณวันละ 1 องศา ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ดวงอาทิตย์ค่อยๆ เคลื่อนที่จากจุดเหนือสุดลงมาทางใต้ เมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนมา ณ ตำแหน่งตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลก ทำให้ดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี

การเปลี่ยนตำแหน่งของดวงอาทิตย์ส่งผลโลกมีอุณหภูมิต่างกัน ช่วงเวลากลางวันและกลางคืนต่างกัน ทำให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลก วันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง ประเทศทางซีกโลกใต้จะเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ 

.

ที่มา 

  • NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

Related posts

คลื่นความร้อนซ้ำเติมฝุ่น PM2.5 อาเซียนเผชิญสภาพอากาศสุดขั้วเพิ่มขึ้น

ภาวะโลกร้อนเขย่าวิกฤตอาหารโลก ผลผลิตลด คนหิวโหย อันตรายถึงชีวิต

‘โคคา-โคล่า’ ยืนหนึ่งก่อมลพิษพลาสติก
สัดส่วน 11% สูงที่สุดในโลก