ออสเตรเลียเริ่มแบนหลอดบังคับใช้ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา

รัฐเซาท์ออสเตรเลียเป็นรัฐแรกในออสเตรเลียที่เริ่มบังคับใช้กฎหมายห้ามใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastic) หลังจากร่างกฎหมาย The Single-use and Other Plastic Products (Waste Avoidance) Bill 2020 เข้าสภาเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2563 และผ่านออกมาเป็นกฎหมายในเดือนกันยายนปีเดียวกัน จากนั้นก็มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มีนาคม 2564

กฎหมายนี้ห้ามจำหน่าย จัดหา หรือแจกจ่ายผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งมีผลทันทีกับผลิตภัณฑ์ 3 ประเภท คือ หลอดพลาสติก แท่งพลาสติกสำหรับผสมเครื่องดื่ม และชุดช้อนส้อมพลาสติก หลังจากนั้นจะขยายไปยังผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทอื่น คือ แก้ว ถ้วย จาน กล่องพลาสติกบรรจุอาหารแบบ Clam-shell containers และผลิตภัณฑ์พลาสติก OXO-degradable ภายในวันที่ 1 มีนาคม 2565 โดยมีข้อยกเว้นสำหรับการจัดหาให้กับกลุ่มที่มีความจำเป็นด้านสุขภาพหรือผู้พิการ

การประกาศห้ามจำหน่าย จัดหาหรือแจกจ่ายผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งภายในรัฐเซาท์ออสเตรเลียทำให้มีการตั้งโรงงานผลิตพลาสติกแบบใช้ซ้ำและพลาสติกทางเลือกอื่นๆ เช่น พลาสติกที่ผลิตจากวัตถุดิบที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะเกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมแล้วส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงานในท้องถิ่นและช่วยรักษาชีวิตสัตว์ที่ไม่ต้องหลงกินพลาสติกเข้าไปจนได้รับอันตรายหรือเสสียชีวิตอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม หากมีผู้ฝ่าฝืนกฎหมายจะถูกปรับตั้งแต่ 315-1,000 ดอลลาร์ออสเตรเลียและมีโทษปรับสูงสุดถึง 20,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือปรับตั้งแต่ 7,000 – 500,000 บาท (1 ดอลลาร์ออสเตรเลียเท่ากับประมาณ 23.76 บาท) 

ข้อมูลจาก WWF ออสเตรเลีย ระบุว่า ชาวออสเตรเลียใช้พลาสติกเฉลี่ย 130 กิโลกรัมต่อคนต่อปี แต่พลาสติกเหล่านั้นถูกนำมารีไซเคิลเพียงร้อยละ 9 และปริมาณขยะพลาสติกประมาณ 130,000 ตันจะถูกทิ้งเป็นขยะในทะเล ซึ่งเป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเลและเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม จึงเป็นที่มาให้ภาคส่วนต่างๆ เริ่มมีนโยบายใช้พลาสติกรีไซเคิล และรณรงค์ให้ประชาชนลดปริมาณขยะพลาสติก

Related posts

คลื่นความร้อนซ้ำเติมฝุ่น PM2.5 อาเซียนเผชิญสภาพอากาศสุดขั้วเพิ่มขึ้น

ภาวะโลกร้อนเขย่าวิกฤตอาหารโลก ผลผลิตลด คนหิวโหย อันตรายถึงชีวิต

‘โคคา-โคล่า’ ยืนหนึ่งก่อมลพิษพลาสติก
สัดส่วน 11% สูงที่สุดในโลก