เปิดผลตรวจดีเอ็นเอเสือโคร่ง 2 ตัวที่ถูกยิงเป็นแม่-ลูกกัน

ผลการตรวจดีเอ็นเอเสือโคร่ง 2 ตัวที่ถูกชาวบ้านปิล็อกฆ่าและชำแหละหนังกลางป่าอุทยานฯ ทองผาภูมิเมื่อเดือนก่อน เป็นแม่-ลูกกัน ซึ่งจะมีผลต่อรูปคดี 

นายสมปอง ทองสีเข้ม ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ ว่า ศูนย์ปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ ได้ตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ และหาเพศของเสือโคร่งที่ถูกยิงตายจำนวน 2 ตัว ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 9 ม.ค. ที่ผ่านมาโดยสรุปว่าเสือที่ถุูกยิงเป็นแม่ลูกกัน โดยลูกมีอายุเพียง 1 ปี ซึ่งโดยนิเวศวิทยาแม่เสือกับลูกต้องอยู่ด้วยกันตลอดจนกว่าลูกจะเลิกกินนมและแยกตัวออกช่วง 3-4 ปี

นายสมปอง กล่าวว่า ผลการพิสูจน์ดีเอ็นเอที่ออกมามีผลต่อคดี เพราะชี้ให้เห็นว่าแม่เสือและลูกอยู่ด้วยกัน ไม่ได้ถูกยิงคนละจุดแล้วนำซากมายังจุดที่ตรวจพบ นอกจากนี้แม่เสือตัวดังกล่าวฐานข้อมูลพบว่าปี 2563 กล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าเคยถ่ายติดที่เขตทองผาภูมิ แต่ยังไม่มีลูกหรือถ่ายไม่เห็นตัวลูก ในทางคดีต้องสู้กันด้วยพยานหลักฐาน และเป็นการฆ่าเพื่อการค้าหรือแค่ดำรงชีพ

ด้าน ดร.กณิตา อุ่ยถาวร ผอ.ศูนย์นิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ กล่าวว่า ขั้นตอนจากนี้จะตรวจสอบเทียบจากวัตถุพยานที่ตำรวจเก็บมาจากจุดเกิดเหตุแต่ละจุดเพื่อพิสูจน์ว่าเสือแม่ลูกถูกฆ่าใกล้กัน หรือถูกล่าอย่างไร โดยจะใช้เวลาสักระยะหนึ่งเพื่อความแม่นยำเพราะจะมีผลต่อรูปคดี (ที่มา: https://news.thaipbs.or.th/content/312564)

เหตุการณ์นี้เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ทองผาภูมิได้ลาดตระเวนไปพบซากเสือถูกฆ่าและมีการชำแหละหนังตากอยู่ในเพิงบริเวณป่าห้วยปิล็อก หมู่ที่ 4 ต.ปิล็อก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ในเขตอุทยานฯ ทองผาภูมิ เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2565 

ชาวบ้านตำบลปิล็อกที่ลงมือก่อเหตุฆ่าเสือโคร่งทั้ง 5 คน ได้ติดต่อขอมอบตัวและถูกตั้งข้อหาร่วม 10 ข้อหา ต่อมาศาลทองผาภูมิได้อนุญาตให้ประกันตัว เมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยผู้ต้องหาอ้างเหตุว่ามีความโกรธแค้นที่เสือเข้ามากินวัวที่เลี้ยงไว้ในป่า จึงใช้วัวมาล่อให้เสือโคร่งออกมาและลงมือยิง ก่อนจะชำแหละซาก

อย่างไรก็ตาม ก่อนพบการฆ่าเสือโคร่งในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ทองผาภูมิได้ออกลาดตระเวนปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายในเขตอุทยานฯ เป็นเวลา 4 วัน 3 คืน ระหว่างวันที่ 8-11 ม.ค.ที่ผ่านมา และพบกลุ่มผู้ต้องหา 5 คนอยู่ในเพิงพัก แต่เมื่อเห็นเจ้าหน้าที่จึงได้วิ่งหลบหนีเข้าป่า

ภายหลังได้รับการประกันตัวคนละ 1 แสนบาท เมื่อวันที่ 18 ม.ค. เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้เข้าติดป้ายประกาศบริเวณบ้านของผู้ต้องหาทั้ง 5 คน รวม 4 หลังที่อยู่ในเขตพื้นที่อุทยานฯ เขาแหลม พร้อมทั้งได้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและบ้านเรือนทั้งหมด พร้อมทั้งให้ทุกคนที่อาศัยออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน 

เนื่องจากบุคคลดังกล่าว (ถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย – บัตรสีชมพู) ได้รับการผ่อนปรนให้อยู่อาศัยในเขตอุทยานฯ เขาแหลม ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2541 แต่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ระบุว่า การก่อเหตุฆ่าเสือโคร่งที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองใกล้สูญพันธุ์ถือว่ากระทบกระเทือนต่อการรักษาป่า จึงต้องดำเนินการตามกฎหมายกำหนด

Related posts

คลื่นความร้อนซ้ำเติมฝุ่น PM2.5 อาเซียนเผชิญสภาพอากาศสุดขั้วเพิ่มขึ้น

ภาวะโลกร้อนเขย่าวิกฤตอาหารโลก ผลผลิตลด คนหิวโหย อันตรายถึงชีวิต

‘โคคา-โคล่า’ ยืนหนึ่งก่อมลพิษพลาสติก
สัดส่วน 11% สูงที่สุดในโลก