พบนกพิราบไก่ฟ้าหลังดำอีกครั้ง หลังได้รับการบันทึกเมื่อ 140 ปี ที่แล้ว

ทีมนักวิทยาศาสตร์และนักอนุรักษ์ได้ค้นพบนกพิราบไก่ฟ้าหลังดำอีกครั้ง บนเกาะเฟอร์กูสันซึ่งเป็นเกาะที่ทุรกันดาร ทางตะวันออกของปาปัวนิวกินี หลังได้รับการบันทึกไว้โดยนักวิทยาศาสตร์เป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายในปี 1882

การค้นพบครั้งนี้เป็นการร่วมมือของเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปาปัวนิวกินี นักวิทยาศาสตร์จาก Cornell Lab of Ornithology และ American Bird Conservancy

การสำรวจนี้ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ตั้งแต่เดินทางรอบเกาะ สัมภาษณ์คนในชุมชนท้องถิ่นเพื่อระบุตำแหน่งสำหรับตั้งกล้องจับภาพ โดยทีมงานได้ตั้งกล้อง 12 ตัวไว้บนเนินเขาคิลเคอร์แรน ซึ่งเป็นภูเขาที่สูงที่สุดของเกาะเฟอร์กูสัน และอีก 8 ตัวในตำแหน่งที่นักล่าท้องถิ่นเคยรายงานว่าพบนกพิราบไก่ฟ้าหลังดำ

และเพียงสองวันก่อนที่ทีมสำรวจจะออกจากเกาะ กล้องก็ได้จับภาพของนกหายากนี้ไว้

“หนึ่งเดือนของการค้นหา การได้เห็นภาพแรกของนกพิราบไก่ฟ้าหลังดำ รู้สึกเหมือนได้พบยูนิคอร์น” ​​จอห์น ซี. มิตเตอร์ไมเออร์ ผู้อำนวยการโครงการนกที่สาบสูญของ American Bird Conservancy และหัวหน้าร่วมของคณะสำรวจกล่าว “มันเป็นช่วงเวลาที่คุณใฝ่ฝันมาทั้งชีวิตในฐานะนักอนุรักษ์และนักดูนก”

นกพิราบไก่ฟ้าหลังดำเป็นนกพิราบขนาดใหญ่หางกว้างและอาศัยอยู่ตามพื้นดิน นักวิทยาศาสตร์ยังมีข้อมูลของนกสายพันธุ์นี้เล็กน้อย แต่เชื่อว่ามีประชากรไม่มากและกำลังลดลง

การค้นพบในครั้งนี้สร้างความตื่นเต้นให้กับชุมชนท้องถิ่นเป็นอย่างมาก เพราะหลายคนไม่เคยเห็นหรือได้ยินนกชนิดนี้มาก่อนจนกระทั่งนักสำรวจได้ค้นพบ “ตอนนี้พวกเขารอคอยที่จะร่วมงานกับเราเพื่อช่วยปกป้องนกพิราบไก่ฟ้าหลังดำ” เซเรน่า คีธาโลยา นักอนุรักษ์จาก Milne Bay กล่าว

ยังไม่ชัดเจนว่ามีไก่ฟ้าหลังดำเหลืออยู่กี่ตัว ด้วยภูมิประเทศที่ทุรกันดารทำให้ระบุจำนวนประชากรได้ยาก แต่การค้นพบในครั้งถือเป็นความหวังของนักวิทยาศาสตร์และทีมสำรวจที่จะได้พบนกชนิดอื่นที่หายสาบสูญ

.

Content & Photo: Nov 19,2022, “Large pigeon lost to science for 140 years rediscovered in Papua New Guinea Re:wild Organisation.” Re:wild

Related posts

เปิดวาร์ป ‘เม่นหมวกกันน็อค’

คลื่นความร้อนซ้ำเติมฝุ่น PM2.5 อาเซียนเผชิญสภาพอากาศสุดขั้วเพิ่มขึ้น

ภาวะโลกร้อนเขย่าวิกฤตอาหารโลก ผลผลิตลด คนหิวโหย อันตรายถึงชีวิต