ลิเบียอ่วมน้ำท่วมใหญ่ พายุกระหน่ำซ้ำเขื่อนแตก

ทางการลิเบียตะวันออกรายงานยอดผู้เสียชีวิตน้ำท่วมใหญ่ จากเหตุฝนถล่มและเขื่อนแตก ล่าสุดอยู่ที่ 5,300 คน ขณะที่อีกอย่างน้อย 10,000 คนยังคงสูญหาย โดยคาดว่ายอดผู้เสียชีวิตอาจเพิ่มสูงขึ้นอีกอย่างมาก 

เหตุน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้เกิดขึ้นจากพายุแดเนียลที่ก่อตัวขึ้นในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และพัดถล่มพื้นที่ฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของลิเบียในวันขที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา ส่งผลให้เขื่อนในเมืองเดอร์นาทั้ง 2 แห่งแตก มวลน้ำไหลทะลักเข้าท่วมในหลายเมืองของลิเบีย ก่อให้เกิดภาวะน้ำท่วมสูงเฉียบพลัน ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำ Wadi Derna ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ไหลจากภูเขาผ่านเมืองและลงสู่ทะเล

ล่าสุดโฆษกกระทรวงมหาดไทยลิเบียตะวันออกระบุว่าในเมืองเดอร์นาเพียงแห่งเดียวมียอดผู้เสียชีวิตมากกว่า 5,300 ราย สูญหายอีกอย่างน้อย 10,000 ราย 

ทาเมอร์ รามาดาน ทูตลิเบียประจำสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ กล่าวในการบรรยายสรุปของสหประชาชาติคาดว่าจะมีผู้พลัดถิ่นจากเหตุการณ์นี้มากกว่า 40,000 คน และยังกล่าวเพิ่มอีกว่าสถานการณ์ในลิเบีย ‘เลวร้าย’ พอๆ กับเหตุการณ์แผ่นดินไหวในโมร็อกโกที่พึ่งเกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

คริสโตส เซเรฟอส ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศ กล่าวว่าข้อมูลพายุยังไม่ได้รับการรวบรวมอย่างสมบูรณ์ แต่เขาประเมินว่าปริมาณฝนตกที่ลิเบียจะเท่ากับ 1,000 มม. (1 เมตร) ซึ่งปริมาณฝนตกชุกแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่มาก่อนนับแต่มีการครั้งแรกในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 และเขาเชื่อว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกอย่างแน่นอน

ซูซาน เกรย์ อาจารย์ด้านอุตุนิยมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเรดดิ้งในอังกฤษ กล่าวว่าจากรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหลักฐานที่สอดคล้องกันว่าในอนาคตพายุประเภทนี้จะเกิดขึ้นถี่และรุนแรงมากขึ้น แต่ ผลกระทบต่อประเทศต่างๆ รอบๆ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับมาตรการการเตรียมตัว

คำถามสำคัญก็คือเหตุใดฝนจึงทะลักทะลุเขื่อน เพราะปริมาณฝนที่ตกมากหรือเพราะเขื่อนขาดการบำรุงรักษา

ความเสียหายที่น่าตกใจนี้ชี้ไปที่ 2 ปัจจัยหลัก นั่นคือความรุนแรงของพายุจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความอ่อนแอของระบบการปกครองที่แบ่งแยกลิเบียตะวันออกและลิเบียตะวันตก และผลที่ตามมาก็คือการละเลยโครงสร้างพื้นฐานในหลายพื้นที่

“เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นละเลยเมืองเดอร์น มาหลายปีแล้ว แม้แต่การบำรุงรักษาก็ขาดไป ทุกอย่างถูกเลื่อนออกไป” เจเลล ฮาร์เชาอุย ผู้ร่วมงานที่เชี่ยวชาญด้านลิเบียจากสถาบัน Royal United Services Institute for Defense and Security Studies ในลอนดอน ระบุ

ตั้งแต่ปี 2557 ลิเบียถูกแยกออกเป็น 2 ฝั่งจากความขัดแย้งของกองกำลังทหารและสองรัฐบาลคู่แข่ง นับตั้งแต่การลุกฮือในอาหรับสปริงที่ได้รับการสนับสนุนจาก NATO โค่นล้มผู้ปกครองเผด็จการ โมอัมมาร์ กัดดาฟี ในปี 2554

‘ตริโปลี’ เมืองหลวง ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของลิเบีย มีนายกรัฐมนตรีอับดุล ฮามิด ไบบาห์เป็นหัวหน้ารัฐบาลลิเบียที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ในขณะที่กรุงเบงกาซี เมืองใหญ่อันดับสองของลิเบีย มีนายกรัฐมนตรีคู่แข่งอย่าง ออสซามา ฮาหมัด เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารฝั่งตะวันออก ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยผู้บัญชาการทหารผู้มีอำนาจ คาลิฟา ฮิฟตาร์

ศูนย์อุตุนิยมวิทยาแห่งชาติลิเบียจะออกคำเตือนล่วงหน้าสำหรับพายุดาเนียล ซึ่งเป็น “เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว” 72 ชั่วโมงก่อนเกิดพายุ และแจ้งให้หน่วยงานของรัฐทั้งหมดทราบทางอีเมลและผ่านสื่อเรียกร้องให้ใช้มาตรการป้องกัน แต่ชาวบ้านกล่าวกับสำนักข่าว AP ระบุวว่าสัญญาณอันตรายเพียงอย่างเดียวที่พวกเขาได้รับคือเสียงเขื่อนแตก ไม่มีระบบเตือนภัยหรือแผนการอพยพใดๆ ทั้งสิ้น 

น้ำท่วมถือเป็นภัยพิบัติสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่งที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ แต่ระดับความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นสามารถเบาบางลงได้ด้วยแผนและมาตรการการป้องกัน



ที่มา

  • Sep 14, 2023. Catastrophic Libya flood kills thousands, desperate relatives search for survivors. Reuters
  • Sep 13, 2023. How Libya’s chaos left its people vulnerable to deadly flooding. AP
  • Sep 13, 2023. Thousands are feared dead and thousands more are missing in flood-ravaged eastern Libya
  • Sep 13, 2023. How Libya’s chaos left its people vulnerable to deadly flooding
  • Sep 13, 2023. Libya Floods: 5,000 Dead, 10,000 Missing
  • Sep 12, 2023. Thousands are feared dead and thousands more are missing in flood-ravaged eastern Libya. Kiro7

Related posts

คลื่นความร้อนซ้ำเติมฝุ่น PM2.5 อาเซียนเผชิญสภาพอากาศสุดขั้วเพิ่มขึ้น

ภาวะโลกร้อนเขย่าวิกฤตอาหารโลก ผลผลิตลด คนหิวโหย อันตรายถึงชีวิต

‘โคคา-โคล่า’ ยืนหนึ่งก่อมลพิษพลาสติก
สัดส่วน 11% สูงที่สุดในโลก