ขยะกระทงทั่วกรุงเกือบ 6.4 แสนใบ ถึงเวลาเปลี่ยนประเพณีแล้วหรือไม่?

สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการระบายน้ำ และสำนักงานเขต 50 เขต ของกรุงเทพมหานคร (กทม.)ได้จัดเก็บกระทงที่ประชาชนนำมาลอย เนื่องในเทศกาลลอยกระทงกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2566 ในแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งคลองต่างๆ ในแต่ละสำนักงานเขต 50 เขต เก็บกระทงได้จำนวนทั้งสิ้น 639,828 ใบ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ซึ่งจัดเก็บได้ จำนวน 572,602 ใบ หรือเพิ่มขึ้น 67,226 ใบ คิดเป็นร้อยละ 11.74

ในจำนวนนี้แบ่งเป็นกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ หรือวัสดุที่ย่อยสลายได้ง่าย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น หยวกกล้วย ใบตอง มันสำปะหลัง ชานอ้อย ขนมปัง จำนวน 618,951 ใบ คิดเป็นร้อยละ 96.74 กระทงที่ทำจากโฟม จำนวน 20,877 ใบ คิดเป็นร้อยละ 3.26 กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 95.70 ในปี 2565 เป็นร้อยละ 96.74 กระทงโฟม ลดลงจากร้อยละ 4.30 ในปี 2565 เป็นร้อยละ 3.26

พื้นที่เขตที่มีปริมาณกระทงมากที่สุด คือ เขตคลองสามวา จำนวน 31,575 ใบ เขตที่มีปริมาณกระทงน้อยที่สุด คือ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย จำนวน 160 ใบ เขตที่มีปริมาณกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติมากที่สุด คือ เขตคลองสามวา จำนวน 31,560 ใบ และเขตที่ปริมาณกระทงโฟมมากที่สุด คือ เขตบึงกุ่ม จำนวน 1,579 ใบ

สวนสาธารณะที่เปิดให้บริการ 34 แห่ง มีประชาชนมาใช้บริการรวมทั้งสิ้น 290,886 คน รวมปริมาณกระทงที่จัดเก็บได้ จำนวน 88,011 ใบ คิดเป็นสัดส่วนประชาชนต่อจำนวนกระทง 3 คน ต่อ 1 ใบ สวนสาธารณะที่มีประชาชนมาใช้บริการมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อุทยานเบญจสิริ สวนลุมพินี และสวนเบญจกิติ

สำหรับกระทงที่จัดเก็บได้ กทม.จะนำไปคัดแยกและส่งไปกำจัดที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยทั้ง 3 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ศูนย์กำจัดมูลฝอยสายไหม และศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม เพื่อนำไปทำลายอย่างถูกวิธี โดยกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายได้ จะนำเข้าสู่โรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์หนองแขม ส่วนกระทงโฟมจะนำเข้าสู่กระบวนการฝังกลบต่อไป

ขณะที่การลอยกระทงดิจิทัลผ่าน Projection Mapping ซึ่งเป็นการลอยกระทงมิติใหม่ที่ กทม.จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในเทศกาลลอยกระทงประจำปีนี้ ณ คลองโอ่งอ่าง บริเวณสะพานบพิตรพิมุข มีประชาชนให้ความสนใจร่วมลอยกระทง จำนวน 3,744 ใบ

ภาพจาก: กรุงเทพมหานคร

คำถามก็คือว่า หากรวบรวมขยะจากการลอยกระทงทั่วทั้งประเทศคงจะมีปริมาณขยะลอยไปตามแม่น้ำลำคลองต่างๆ จำนวนมหาศาล คำถามคือเราควรยกเลิกประเพณีลอยกระทงหรือไม่ หรือควรปรับเปลี่ยนประเพณีการสะเดาะเคราะห์และขอขมาต่อพระแม่คงคาในวันที่พระจันทร์เต็มดวงให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่เปลี่ยนไปจะดีกว่าหรือไม่

National Geographic ฉบับภาษาไทย นำเสนอบทความไว้น่าสนใจ โดย iGreen ขอสรุปเนื้อหามานำเสนอในบางส่วน บทความ NG thai ระบุว่า ในทุกวันนี้พิธีกรรมแสดงความเคารพต่อสายน้ำเช่นการลอยกระทงกลับเป็นการทำลายล้าง หลังคืนลอยกระทงผ่านพ้น ทั่วแม่น้ำลำคลองจะเต็มไปด้วยขยะปริมาณมหาศาลทั้งย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และย่อยสลายไม่ได้ หากถูกเก็บออกจากแหล่งน้ำล่าช้าก็จะส่งผลให้เกิดการอุดตัน

นอกจากนี้ ในวันลอยกระทงประเทศไทยยังผลิตก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นอีกมหาศาลจากขยะเป็นตันๆ แม้ว่ากระทงส่วนใหญ่จะประดิษฐ์ขึ้นจากวัสดุตามธรรมชาติก็ตาม แต่ทั้งหมดทั้งมวลคือรอยเท้าคาร์บอนที่พวกเราร่วมกันสร้างขึ้นจากการเฉลิมฉลองบูชาแม่น้ำ

ในขณะที่สถานการณ์ ‘ขยะ’ ทั้งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ทั้งในประเทศไทยและระดับโลก รวมไปถึงสถานการณ์การสร้างขยะครั้งใหญ่ในเทศกาลลอยกระทง ว่ากำลังเป็นไปในทิศทางใด

หลายปีที่ผ่านมาเกิดกระแสรณรงค์ให้ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะผลกระทบจาก “ขยะพลาสติก” ที่ไหลลงสู่มหาสมุทร คร่าชีวิตสัตว์ทะเล และทำลายระบบนิเวศน้ำเสียหาย

ประเทศไทยก็ได้ตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติก รัฐบาลมีการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการขยะพลาสติกในภาพรวมของประเทศ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกของประเทศไทย ภายใต้ roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 (Thailand’s Roadmap on Plastic Waste Management 2018 – 2030) โดยมีวิสัยทัศน์ว่า ก้าวสู่การจัดการพลาสติกที่ยั่งยืน ด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน (Moving Towards Sustainable Plastic Management by Circular Economy)

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวแนวหน้า (2565) ระบุว่า “วารสาร Science Advances ฉบับเดือนตุลาคม 2563 รายงานว่า สถิติการสร้างขยะพลาสติกในประเทศไทยต่อประชากรสูงเป็นอันดับที่ 5 ของโลก โดยมีปริมาณขยะพลาสติก 4,796,494 ตัน/ปี (หรือราว 69.54 กิโลกรัม/ปี/คน) และมีสัดส่วนขยะพลาสติกในขยะทั่วไปมากเป็นอันดับที่ 3 ของโลก สามารถแบ่งชนิดของปริมาณพลาสติกในประเทศไทยได้ 3 ชนิด คือ

1) ถุงพลาสติก 1.11 ล้านตัน 2) ขวดพลาสติก 0.40 ล้านตัน และ 3) แก้ว กล่อง และถาดพลาสติก 0.23 ล้านตัน” (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ กรมอนามัยเผยสถิติวิจัย ไทยสร้างขยะมากเป็นอันดับ3ของโลก) ฯลฯ (อ่านฉบับเต็ม https://ngthai.com/environment/45142/loy-krathong-waste/?)

นอกจากนี้ National Geographic ฉบับภาษาไทย ยังนำเสนออีกบทความอีกชิ้นที่น่าสนใจเนื้อหาบางตอน ระบุว่า ที่แม่น้ำจอร์แดน เด็กๆ จะถูกจุ่มร่างลงยังแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ เพื่อแสดงความเป็นคริสต์ศาสนิกชนอย่างเต็มตัว ส่วนในกัมพูชา พวกเขามีพิธีเฉลิมฉลองเทศกาลน้ำในเดือน พ.ย. เพื่อตอบแทนสายน้ำที่มอบชีวิตและความอุดมสมบูรณ์มาให้ คล้ายคลึงกับประเพณีลอยกระทงในประเทศไทย

ทว่าวิถีชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำที่แท้จริงตั้งแต่ลืมตาดูโลกจนสิ้นชีวาอยู่ที่อินเดีย ชาวฮินดูมีพิธีกรรมชำระบาปให้แก่เด็กทารกแรกเกิดในแม่น้ำคงคา เพราะเชื่อกันว่าสายน้ำแห่งนี้คือสายน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ไหลมาจากสรวงสวรรค์ ชาวอินเดียใช้น้ำจากแม่น้ำในการอุปโภคบริโภค นักบวชใช้น้ำจากแม่น้ำอุ้มชูจิตวิญญาณ และเมื่อเสียชีวิตร่างของชาวฮินดูก็จะถูกนำมาเผากันที่ริมแม่น้ำ

ดังคำกล่าวที่ว่า “ควันไฟจากการเผาศพไม่เคยเลือนหายไปจากเมืองพาราณสีมานานกว่า 2,500 ปีแล้ว” เหล่านี้คือภาพสะท้อนในสำนึกของมนุษย์หลากหลายวัฒนธรรม ที่ซาบซึ้งในคุณค่าของสายน้ำ เพราะตระหนักดีว่าหากไม่มีน้ำคอยหล่อเลี้ยงชีวิต ตัวตนของพวกเขาก็จะสูญสลายไปเช่นกัน

พิธีกรรมบูชาน้ำในวัฒนธรรมไทย ในฐานะที่น้ำคือตัวแทนแห่งความอุดมสมบูรณ์ เชื่อกันว่าได้รับอิทธิพลมาจากในอินเดีย และในช่วงเดือน พ.ย.นี้เอง ในหลายประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา, ลาว และกัมพูชาก็ประกอบพิธีกรรมบูชาสายน้ำ และจุดไฟตามประทีปเช่นกัน บ่งชี้ให้เห็นถึงวัฒนธรรมร่วมแต่เก่าก่อนในภูมิภาคอุษาคเนย์ โดยมีหลักฐานแรกสุดคือภาพสลักศิลาบนระเบียงของประสาทบายน ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1724 – พ.ศ. 1762) ปรากฏเป็นภาพสตรีถือกระทงบูชารูปดอกบัว และปล่อยกระทงนั้นให้ลอยไปตามสายน้ำ

แต่ทุกวันนี้ พิธีกรรมแสดงความเคารพต่อสายน้ำกลับเป็นการทำลายล้างเสียเอง เมื่อวัสดุสมัยใหม่อย่างพลาสติก โฟม และอื่นๆ อีกมากมายถูกนำมาใช้แทนวัสดุธรรมชาติเช่นในอดีต แม้จะมีการใช้วัสดุธรรมชาติทำกระทงมากขึ้นและคนไทยตื่นตัวด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น ทว่าผลกระทบจากเทศกาลลอยกระทงไม่ได้มีแค่ปัญหากระทงโฟม

บทความ NG thai ฉบับนี้ได้กล่าวถึง รอยเท้าคาร์บอน ซึ่งหมายถึงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละบุคคล องค์กร หรือในระดับประเทศ โดยรวมทั้งทางตรงและทางอ้อมจากกิจกรรมนั้นๆ ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุด ในทางตรงก็เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลจากการเดินทาง การขนส่ง ส่วนในทางอ้อมก็เช่น การบริโภคอาหาร สินค้า หรือปริมาณขยะที่ถูกสร้างขึ้น

เหล่านี้คือกิจกรรมที่เพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ในชั้นบรรยากาศ เพราะในทุกกิจกรรมตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต มาจนถึงการส่งต่อให้ผู้บริโภค และจบลงที่การย่อยสลายล้วนผลิตและปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาด้วยกันทั้งสิ้น

การวัดปริมาณรอยเท้าคาร์บอน ยังสัมพันธ์กับอัตราการบริโภคของบุคคลและสังคมนั้นๆ โดยประเทศที่ผู้คนมีรายได้สูงมักมีอัตราการบริโภคต่อหัวสูงตาม นั่นทำให้ปริมาณรอยเท้าคาร์บอนต่อคนสูงไปด้วย ปัจจุบันมีการรณรงค์ให้ตัวบรรจุภัณฑ์ของสินค้าแต่ละชนิดแสดงปริมาณรอยเท้าคาร์บอน เพื่อให้ผู้บริโภคได้เลือกสินค้าที่มีส่วนช่วยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในอีกนัยหนึ่งก็เพื่อเป็นการแข่งขันของผู้ผลิตเองว่าบริษัทใดที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่ากัน

ว่าแต่ประเด็นนี้เกี่ยวอะไรกับเทศกาลลอยกระทง?
หลังคืนลอยกระทงผ่านพ้น ทั่วแม่น้ำลำคลองจะเต็มไปด้วยขยะปริมาณมหาศาลทั้งย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และย่อยสลายไม่ได้ เมื่อปีที่ผ่านมา (2561) รายงานจากกรมชลประทานและจิตอาสาอำเภอเมืองเชียงใหม่ ระบุว่ามีขยะจากกระทงมากถึง 120 ตัน ขยะเหล่านี้จะถูกนำไปคัดแยกเพื่อทำปุ๋ย และทำลายด้วยการฝังกลบ เช่นเดียวกับขยะอาหาร กระบวนการจัดการกับขยะด้วยวิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้กันทั่วไปในหลายประเทศ

ทว่าในหลุมฝังกลบขยะสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, ก๊าซมีเทน และก๊าซไนตรัสออกไซด์ ในจำนวนนี้ 40 – 50% จะเป็นก๊าซมีเทน ซึ่งหากหลุดลอยสู่ชั้นบรรยากาศก็จะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างมาก เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์พบว่าก๊าซมีเทนมีประสิทธิภาพปกคลุมชั้นบรรยากาศโลกมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า

มากไปกว่านั้นขยะจากกระทงปริมาณมากมาย หากถูกเก็บออกจากแหล่งน้ำล่าช้าก็จะส่งผลให้เกิดการอุดตัน หรือหมักหมมจนเน่าเสียและส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตนานาชนิดที่อาศัยในน้ำตามมา ทั้งยังไม่รวมกับขยะอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นมากมายจากงานเทศกาล ไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติก ภาชนะใส่อาหาร ไปจนถึงขยะอันตรายอย่างพลุ และดอกไม้ไฟ

นั่นหมายความว่านอกเหนือจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการกำจัดขยะตามปกติแล้ว ในวันลอยกระทงประเทศไทยยังผลิตก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นอีกมหาศาลจากขยะเป็นตันๆ แม้ว่ากระทงส่วนใหญ่จะประดิษฐ์ขึ้นจากวัสดุตามธรรมชาติก็ตาม แต่ทั้งหมดทั้งมวลคือรอยเท้าคาร์บอนที่พวกเราร่วมกันสร้างขึ้นจากการเฉลิมฉลองบูชาแม่น้ำ

อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้มีเทคโนโลยีการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพเหล่านี้ (ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, ก๊าซมีเทน และก๊าซไนตรัสออกไซด์ ที่ได้จากการหมักหมมของขยะ) เช่น หลุมฝังกลบขยะมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร ที่ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม หรือหลุมฝังกลบขยะมูลฝอยของจ.เชียงใหม่ รายงานจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เมื่อปี 2559 พบว่าวิธีการนี้ช่วยลดปริมาณการผลิตก๊าซเรือนกระจกไปได้หลายหมื่นตันต่อปี ทว่ายังเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ สิ่งสำคัญที่รัฐบาลควรจะกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักคือ ทำอย่างไรให้เกิดขยะน้อยที่สุดไม่ใช่หรือ?

บทความ NG thai นำเสนอการลอยกระทงยุคใหม่ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมไปในตัว

1. ใช้กระทงที่ทำจากวัสดุย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ แม้จะเกิดขยะก็จริง แต่ก็ใช้เวลาย่อยสลายที่สั้นกว่า และไม่ปลดปล่อยสารเคมีออกมาระหว่างกระบวนการย่อยสลายดังเช่น พลาสติก หรือโฟม

2. หากไปร่วมงานเป็นคู่ เป็นครอบครัวหรือเป็นกลุ่ม ใช้กระทงใบเดียวร่วมกัน แทนที่จะลอยกระทงคนละใบ วิธีนี้จะช่วยลดปริมาณขยะไปได้มาก

3. ใช้ระบบ Carpool ทางเดียวกันไปด้วยกัน เพื่อลดปริมาณรถยนต์ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะเกิดขึ้นจากการเดินทางไปร่วมงานลอยกระทง

4. เลือกลอยกระทงในสระน้ำปิด หรือสระส่วนตัว เช่น สระในมหาวิทยาลัย สระของโรงแรม เป็นต้น เพื่อความสะดวกในการจัดเก็บขยะ และลดปริมาณขยะที่จะไปหมักหมมเน่าเสียในแม่น้ำลำคลอง

5. เลือกใช้วัสดุทำกระทงที่มีความหลากหลายน้อย เพื่อง่ายต่อการจัดการ และลดภาระของเจ้าหน้าที่ในขั้นตอนแยกขยะ

6. เลือกลอยกระทงออนไลน์ นี่คือวิธีที่ก่อให้เกิดรอยเท้าคาร์บอนน้อยที่สุด ทุกวันนี้ในโลกอินเตอร์เน็ตมีกิจกรรมลอยกระทงมากมาย หากตั้งใจที่จะระลึกถึงพระคุณของสายน้ำ การไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำเลย แม้ในทางอ้อมอย่างการลอยกระทง น่าจะดีที่สุด

7. ลดการรับหรือใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งขณะร่วมงานเทศกาล ไม่ว่าจะเป็นถุงหิ้ว ช้อน ส้อม ขยะเหล่านี้เมื่อจบงานมีปริมาณไม่น้อยไปกว่ากระทง และยากต่อการจัดการมากกว่า

8. งดการจุดประทัด และพลุ เพื่อลดปริมาณมลพิษในอากาศ อีกทั้งยังเป็นกิจกรรมที่เพิ่มเติมมาในภายหลัง ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการบูชาสายน้ำแต่อย่างใด

(บทความฉบับเต็ม https://ngthai.com/cultures/15401/carbon-footprint-from-krathong/)

Related posts

คลื่นความร้อนซ้ำเติมฝุ่น PM2.5 อาเซียนเผชิญสภาพอากาศสุดขั้วเพิ่มขึ้น

ภาวะโลกร้อนเขย่าวิกฤตอาหารโลก ผลผลิตลด คนหิวโหย อันตรายถึงชีวิต

‘โคคา-โคล่า’ ยืนหนึ่งก่อมลพิษพลาสติก
สัดส่วน 11% สูงที่สุดในโลก