กรรมการมรดกโลกกังวลสูงสุด ผุดเขื่อนในกลุ่มป่าแก่งกระจาน

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จะต้องชี้แจงเพิ่มเติมต่อที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก เรื่อง สถานภาพการอนุรักษ์พื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติของ “ป่าแก่งกระจาน” ซึ่งกำหนดประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ระหว่างวันที่ 10-25 ก.ย. 2566 ที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย เนื่องจากมีข้อกังวลเกี่ยวกับสถานภาพการอนุรักษ์ที่ไม่ชัดเจน และให้ทำเอกสารชี้แจงภายในวันที่ 1 ธ.ค. 2567 อีกครั้ง

ประเด็นที่คณะกรรมการมรดกโลก แสดงความกังวลสูงสุดเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชีบริเวณที่ติดกับพื้นที่มรดกโลก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่มรดกโลกที่มีความสำคัญของความสมบูรณ์ของแหล่ง และอาจส่งผลกระทบทางลบต่อคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (OUV) ของแหล่งมรดกโลก

อีกประเด็นอาจทำให้มีปัญหาต่อกับชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ซึ่งมีเป็นทุนเดิมอยู่แล้วให้ยากเพิ่มขึ้นไปอีก โดยขอให้ไทยในฐานะรัฐภาคีแจ้งศูนย์มรดกโลกถึงสถานภาพของโครงการสร้างเขื่อนที่กำลังจะดำเนินการ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมถึงให้พิจารณาทางเลือกในการไม่มีโครงการนี้ด้วย

นอกจากนี้ คณะกรรมการมรดกโลก ยังกังวลเรื่องสถานภาพการอนุรักษ์ที่ไม่ชัดเจนของป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรีและพื้นที่สงวนของกองทัพ ซึ่งเป็นแนวทางเชื่อมต่อทางระบบนิเวศที่สำคัญอย่างยิ่งระหว่างอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานภายในพื้นที่มรดกโลก

ทั้งนี้ ขอให้ไทยแจ้งศูนย์มรดกโลกเกี่ยวกับสถานภาพ การปกป้องพื้นที่ และระบบจัดการสำหรับเชื่อมต่อดังกล่าว เพื่อรวมสถานภาพการปกป้องพื้นที่ และระบบการจัดการที่ได้นำเสนอในเอกสารนำเสนอ รวมถึงความเป็นไปได้ในการรวมพื้นที่เข้าไปอยู่ในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี โดยปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้เสีย และผู้ถือครองสิทธิทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมการมรดกโลกขอให้ไทย ส่งรายงานเป็นเอกสารที่เป็นปัจจุบันภายในวันที่ 1 ธ.ค. 2567 เพื่อให้คณะกรรมการมรดกโลกได้พิจารณาในคราวการประชุมครั้งที่ 47

สำหรับพื้นที่กลุ่ม “ป่าแก่งกระจาน” เป็นแหล่งมรดกโลก แห่งที่ 6 และเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ แห่งที่ 3 ของไทย ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เมื่อปี 2564 โดยป่าแก่งกระจานเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ มีคุณค่าโดดเด่นระดับโลก รวมไปถึงเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรี และแม่น้ำภาชี

เป็นป่าผืนใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีเนื้อที่ประมาณ 2.5 ล้านไร่ (4,089 ตารางกิโลเมตร) มีความยาวตั้งแต่เหนือสุดถึงใต้สุดของพื้นที่มากกว่า 200 กิโลเมตร หากมีการสร้างเขื่อนพบว่า ตัวเขื่อนและเขตน้ำท่วมจะอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชีกินพื้นที่ป่า 2,168 ไร่ ทับซ้อนป่าต้นน้ำแหล่งกำเนิดแม่น้ำภาชีที่ถูกจัดเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำน้ำชั้น 1A ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ และอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม

กว่าที่ป่าแก่งกระจานจะได้รับการพิจารณาขึ้นทะเบียนมรดกโลก ไทยได้พยายามผลักดันเข้าสู่ที่ประชุมมาถึง 3 ครั้ง ในปี 2558 2559 และ 2562 กระทั่งได้รับการอนุมัติเมื่อปี 2564 และยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกภายใต้เกณฑ์ข้อที่ 10 ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งถือเป็นแหล่งที่มีคุณค่าโดดเด่นเชิงวิทยาศาสตร์ หรือเชิงอนุรักษ์ระดับโลก

สาเหตุที่มีการเลื่อนการพิจารณาในครั้งแรก ปี 2560 มีปัญหาการปักปันเขตแดนไทย-เมียนมา ต่อมาในปี 2562 ถูกคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 43 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ให้ไทยกลับไปทำเอกสารเพิ่มเติมและส่งกลับมาพิจารณาใหม่ใน 3 เรื่อง 1) ข้อเรียกร้องของชุมชนกะเหรี่ยง 2) การแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชน และ 3) การรับฟังความคิดเห็นต่อการเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก

ทราบกันดีว่าพื้นที่ป่าแก่งกระจานมีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีการดำเนินคดีฐานบุกรุกป่าและการบังคับย้ายชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี โดยอุทยานฯ แก่งกระจาน ที่เริ่มใช้ “ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร” ขับไล่ชาวกะเหรี่ยง “บ้านใจแผ่นดิน” ออกจากป่าลงมาอยู่ด้านล่างหรือบ้านบางกลอย

ชาวบ้านบางกลอยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชาวปกาเกอะญอที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่า อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี มาก่อนการประกาศเขตอุทยานฯ แก่งกระจาน เมื่อปี 2524 เมื่อมีการประกาศเขตอุทยานเจ้าหน้าที่ก็ได้ไล่รื้อบ้านและบังคับให้อพยพออกจากพื้นที่ระหว่างปี 2539 และ 2554 ที่มีการใช้ “ปฏิบัติการยุทธการตะนาวศรี” เผาบ้านและยุ้งฉางของชาวกะเหรี่ยงกลุ่มนี้ออกจากป่าใจแผ่นดินซึ่งเป็นถิ่นฐานอาศัยอยู่เดิม

ปัจจุบันความขัดแย้งและการต่อสู้ระหว่างชาวบ้านบางกลอยกับเจ้าหน้าอุทยานฯ ยังดำรงอยู่ โดยมีการดำเนินคดีชาวบ้านข้อหาบุกรุกป่าอยู่ จำนวน 30 คน

อ้างอิง
https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_4136860
https://www.bbc.com/thai/thailand-56453842

Related posts

เปิดวาร์ป ‘เม่นหมวกกันน็อค’

คลื่นความร้อนซ้ำเติมฝุ่น PM2.5 อาเซียนเผชิญสภาพอากาศสุดขั้วเพิ่มขึ้น

ภาวะโลกร้อนเขย่าวิกฤตอาหารโลก ผลผลิตลด คนหิวโหย อันตรายถึงชีวิต