เขื่อนจีนกักระบายน้ำโขงปล่อยอาเซียนด้านล่างเผชิญแล้ง

จีนกักน้ำโขงตอนบนไว้ผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ตลอดทั้งปี และเลือกปล่อยน้ำจากเขื่อนตามอารมณ์ ทำให้ประเทศอาเซียนด้านล่างเผชิญภาวะแล้งจัด

งานวิจัยล่าสุดจากกลุ่มนักอุตุนิยมวิทยาชาวอเมริกันยืนยันหลักฐานอย่างเป็นวิทยาศาสตร์เป็นครั้งแรกว่าจีนควบคุมระดับน้ำของแม่น้ำโขงให้ระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์

เป็นที่ทราบกันดีว่ารัฐวิสาหกิจของจีนได้สร้างเขื่อนหลายแห่งเพื่อกั้นแม่น้ำโขง ทีมวิจัยจึงเทียบระดับน้ำกับภาพถ่ายดาวเทียม รวมถึงระยะเวลาปฏิบัติการของเขื่อนเหนือแม่น้ำโขง ซึ่งตามปกติแล้วถ้าจีนแล้ง ประเทศใต้น้ำก็ต้องแล้ง ถ้าจีนมีน้ำมากประเทศใต้น้ำก็จะมีน้ำมาก

แต่หลังจากจีนสร้างเขื่อนเรื่องแบบนี้ก็เริ่มไม่ปกติ ทีมวิจัยพบว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างระดับน้ำที่ลดลงที่วัดได้ที่เชียงแสนและสภาพของแม่น้ำโขงจากภาพถ่ายดาวเทียมในช่วงปีแรกๆ ที่จีนเริ่มสร้างเขื่อน สถานการณ์ชัดเจนอย่างมากช่วงที่จีนเริ่มเติมน้ำโขงเข้าสู่อ่างเก็บน้ำ Manwan และ Dachaoshan

ระดับน้ำที่วัดได้และการไหลตามธรรมชาติของแม่น้ำโขงลดลงหลังอย่างชัดเจน หลังจากปี 2555 เมื่อมีการสร้างเขื่อนใหญ่และอ่างเก็บน้ำสองแห่งซึ่งจำกัดปริมาณและเวลาของน้ำที่ปล่อยออกมาอย่างมาก

รัฐบาลจีนตั้งใจใช้เขื่อนเหล่านี้เพื่อควบคุมการไหลของกระแสน้ำ เพื่อมีน้ำเพียงพอในการผลิตกระแสไฟฟ้าตลอดทั้งปี ดังนั้นแทนที่แม่น้ำโขงจะไหลเป็นธรรมชาติคือน้ำมากในหน้าฝน และน้ำน้อยในหน้าแล้ง จีนทำการกระจายน้ำในฤดูกาลต่างๆ ให้เท่าเทียมกันโดยผิดธรรมชาติ

ความไม่เป็นธรรมชาติของกระแสน้ำยิ่งชัดขึ้น เมื่อเขื่อนที่ใหญ่ที่สุด คือ Nuozhadu และอ่างเก็บน้ำสร้างแล้วเสร็จ ทำให้การขาดน้ำในช่วงฤดูฝนเด่นชัดที่สุด หลังจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดเริ่มทำงาน

มีเขื่อนอีก 6 แห่งที่สร้างขึ้นหลังการสร้างเขื่อน Nuozhadu ในปี 2555 ยิ่งบิดเบือนวิถีการไหลของแม่น้ำตามธรรมชาติผ่านการเติมอ่างเก็บน้ำให้เต็มและปล่อยน้ำออกมาตามที่จีนต้องการ

จากการคำนวณของทีมวิจัยพบว่า เขื่อนในประเทศจีนกักน้ำไว้ในระดับสูงกว่า 124.96 เมตร ส่วนระดับน้ำที่เชียงแสนหายไป 126.44 เมตร ในช่วง 28 ปีที่เก็บสถิติกันมาพบว่าปี 2562 ปีคือปีที่ประเทศใต้เขื่อนของชาติอาเซียนได้รับผลกระทบ เลวร้ายที่สุด เมื่อแม่น้ำโขงตอนล่างมีระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าแล้งแต่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี

เมื่อใช้ดัชนีความชื้น (wetness index) ทำนายการไหลตามธรรมชาติของแม่น้ำ จะเห็นได้ว่ามีการไหลตามจากแม่น้ำโขงตอนบนสูงกว่าค่าเฉลี่ยในฤดูแล้งซึ่งคาดว่าป็นการปล่อยผิดฤดูเพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าในต้นปี 2562

ในขณะที่การไหลของแม่น้ำโขงตอนล่างในช่วงฤดูฝนถูกจำกัดอย่างหนักจากแม่น้ำโขงตอนบน คือประเทศจีน บวกกับแม่น้ำโขงตอนล่างมีปริมาณน้ำฝนที่ลดลงทำให้เกิดวิกฤตแล้งเป็นประวัติการณ์

อลัน เบซิสท์ (Alan Basist) ผู้ร่วมเขียนรายงานกล่าวกับ NYT ว่า ข้อมูลจากดาวเทียมโกหกไม่ได้ พวกเขาพบว่ามีน้ำปริมาณมากในที่ราบสูงทิเบตหรือในเขตจีน แต่ประเทศใต้น้ำอย่างกัมพูชาและไทยกับต้องเผชิญกับสภาพขาดน้ำรุนแรง

ที่เชียงแสนนั้นระดับน้ำต่ำแบบที่ไม่เคยพบเห็นกันมาก่อนตั้งแต่เริ่มเก็บสถิติเลยด้วยซ้ำ

อ้างอิงจาก

Monitoring the Quantity of Water Flowing Through the Upper Mekong Basin Under Natural (Unimpeded) Conditions โดย Alan Basist และ Claude Williams เผยแพร่เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563

China Limited the Mekong’s Flow. Other Countries Suffered a Drought. โดย Hannah Beech ใน The New York Times เผยแพร่เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2563

Related posts

คลื่นความร้อนซ้ำเติมฝุ่น PM2.5 อาเซียนเผชิญสภาพอากาศสุดขั้วเพิ่มขึ้น

ความหวังจาก ‘คาร์บอนเครดิต’หนึ่งในอาวุธ สู้วิกฤตโลกรวน

ภาวะโลกร้อนเขย่าวิกฤตอาหารโลก ผลผลิตลด คนหิวโหย อันตรายถึงชีวิต