ความหวังจาก ‘คาร์บอนเครดิต’หนึ่งในอาวุธ สู้วิกฤตโลกรวน

ในวันที่โลกกำลังต่อสู้กับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้นเรื่อย ๆ เห็นได้ชัดเจนจากการเกิดภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำ ไฟป่ารุนแรง ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น น้ำท่วม น้ำแข็งขั้วโลกละลาย วาตภัยขนาดใหญ่ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และอื่น ๆ

ดาวเคราะห์ดวงนี้กำลังถูกปิดล้อมจากวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมมากมาย ซึ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการแก้ไขในทันที โดยเฉพาะการควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอน และก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ จากกิจกรรมของมนุษย์

นั่นทำให้ “คาร์บอนเครดิต” กำเนิดขึ้นมาและกลายเป็นสัญญาณแห่งความหวัง

คาร์บอนเครดิตเป็นกลไกในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อจูงใจให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นการนำเสนอทางออกแบบวิน-วิน สำหรับทั้งสิ่งแวดล้อมและธุรกิจ คาร์บอนเครดิตยังมีศักยภาพในการดึงชุมชนและบุคคลทั่วไปให้เข้ามามีส่วนร่วม นอกจากจะเป็นการลงทุนเพื่อสร้างรายได้จากตลาดคาร์บอนแล้ว ยังเป็นการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับโลกไปพร้อมกันด้วย

คาร์บอนเครดิตคืออะไร?

          โดยทั่วไปแล้วผู้ที่อยู่ในแวดวงสิ่งแวดล้อม คงจะเคยได้ยินคำว่า “คาร์บอนเครดิต” (Carbon Credit) มาบ้าง แต่จริง ๆ แล้วมันคืออะไรกันแน่?

คาร์บอนเครดิต คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด/กักเก็บได้จากการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกผ่านกลไกลดก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆ เช่น การปลูกป่า เพิ่มพื้นสีเขียว ใช้พลังงานทดแทน ฯลฯ มีหน่วยเป็นตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) และมีการนำไปใช้หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย

คาร์บอนเครดิตสามารถนำไปแลกเปลี่ยนหรือซื้อ-ขายในตลาด โดยตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตแบ่งเป็นภาคบังคับมีรัฐบาลกำกับดูแลจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อนำมาหักล้างกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ตนปล่อยออกไป ทำให้ระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมไม่เกินที่กฎหมายกำหนดไว้ และอีกหนึ่งประเภทคือแบบภาคสมัครใจ เกิดจากผู้ประกอบการหรือองค์กรธุรกิจหรือเอกชนที่ต้องการเข้าร่วมซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดด้วยความสมัครใจ ไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย (1) ซึ่งในขณะนี้ประเทศไทยมีตลาดคาร์บอนเครดิตแค่ภาคสมัครใจ

ประโยชน์ของคาร์บอนเครดิต ในระยะสั้นช่วยให้เกิดเศรษฐกิจ-สังคมคาร์บอนต่ำง่ายขึ้น ช่วยแก้ปัญหาของภาคธุรกิจที่ลดก๊าซเรือนกระจกได้น้อย ในระยะกลางและยาว คาร์บอนเครดิตเป็นประโยชน์ในการสนับสนุนการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกติดลบ ช่วยให้โครงการเกี่ยวข้อง เช่น การปลูกป่า เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ การกักเก็บคาร์บอน ฯลฯ มีเงินทุนหมุนเวียนและเดินหน้าไปเร็วขึ้น โดยเฉพาะโครงการปลูกป่าซึ่งป่าไม้ทำหน้าที่กักเก็บก๊าซเรือนกระจกได้ดีที่สุด (5)

โอกาสสีเขียวจากคาร์บอนเครดิตของไทย

คาร์บอนเครดิตซึ่งเปรียบเสมือนอาวุธในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทั่วโลกต่าง (ต้อง) กระโดดเข้าสู่สงครามนี้ ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน

ไทยมีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 40 ภายในปี 2030 และวางเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 รวมทั้งการบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2065 (2)

ที่ผ่านมาตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจในไทยถูกพัฒนาขึ้นโดยมีองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เป็นหน่วยงานที่ให้บริการ ดูแล และกำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับคาร์บอนเครดิตภายใต้ชื่อเต็มว่า โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย(Thailand Voluntary Emission Reduction Program) หรือ ทีเวอร์ (T-VER)

โครงการลดก๊าซเรือนกระจกที่สามารถพัฒนาเป็นโครงการ T-VER ได้มีอยู่ด้วยกันหลายประเภท ยกตัวอย่างเช่น พลังงานทดแทน การจัดการของเสีย การปลูกป่า/ต้นไม้ การอนุรักษ์หรือฟื้นฟูป่า โดยตั้งแต่ปี2557 จนถึงปัจจุบัน มีโครงการ T-VER ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน (ทั่วไป) แล้วจำนวน 375 โครงการ และมีโครงการที่ได้ขอรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด/กักเก็บได้ แล้วกว่า 164 โครงการ (จำนวน 318 ครั้ง) คิดเป็นปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด 17,034,173 tCO2eq

ในปีงบประมาณ 2566 ไทยมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER รวมทั้งสิ้น 857,102 tCO2eq มูลค่าการซื้อขายมากกว่า 68.32 ล้านบาท ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 79.71 บาท/tCO2eq (3)

ปลูกต้นไม้…สร้างรายได้!

โครงการลดก๊าซเรือนกระจกที่เราคุ้นเคยคือโครงการประเภท ปลูกป่า/ต้นไม้เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน และสร้างรายได้จากคาร์บอนเครดิต โดยข้อกำหนดเบื้องต้นสำหรับการทำโครงการนี้คือ

– มีพื้นที่ปลูกต้นไม้ยืนต้นตั้งแต่ 10 ไร่ขึ้นไป

– เป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือเอกสารที่ยืนยันได้ว่าเจ้าของผู้มีกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่นั้น ๆ ยินยอมให้ดำเนินการ

– มีความรู้ในการประเมินการกักเก็บคาร์บอน และจัดทำเอกสารข้อเสนอโครงการ

– มีทุน ซึ่งนอกเหนือจากการปลูกต้นไม้และดูแลรักษาแล้ว ยังต้องจ้างผู้ประเมินภายนอกมาตรวจสอบความใช้ได้ ทวนสอบข้อมูลก๊าซเรือนกระจก ฯลฯ

ค่าใช้จ่ายการดำเนินโครงการโดยคร่าว ๆ สำหรับประเภทป่าบก เช่น กลุ่มพรรณไม้โตช้า พื้นที่ 100 ไร่ ค่าใช้จ่ายรวม 10 ปี 430,000 บาท ต้นทุน 4,300 บาท/ไร่/ปี 453 บาท/tCO2eq

ส่วนประเภทป่าเศรษฐกิจ ไม้โตเร็ว เช่น กระถินเทพา พื้นที่ 100 ไร่ ค่าใช้จ่ายรวม 10 ปี 430,000 บาท ปริมาณคาร์บอนเครดิต 4,770 ต้นทุน 4,300 บาท/ไร่/ปี 90 บาท/tCO2eq เป็นต้น

หากพื้นที่มากขึ้น ต้นทุนบาท/ไร่/ปีและบาท/tCO2eq จะลดลง  (4)

ถอดรหัสความท้าทาย

เส้นทางสายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยในวันนี้อาจไม่ราบรื่น ด้วยมีอุปสรรค ปัญหา และความท้าทายมากมายรออยู่ เช่น

– การซื้อขายคาร์บอนในประเทศไทยยังมีปริมาณน้อย เมื่อเทียบกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมของประเทศ

– ขาดแพลตฟอร์มการซื้อขายและแลกเปลี่ยน

– ต้นทุนสูง ทั้งการตรวจวัด การรายงาน การทวนสอบในการรับรองคาร์บอนเครดิต

– ตลาดคาร์บอนไม่ได้กำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายของประเทศ อาจทำให้การลดก๊าซเรือนกระจกเป็นไปได้ช้า

สิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพื่อการเติบโตของตลาดคาร์บอนเครดิต รวมถึงการจูงใจให้ภาคเอกชนเข้าร่วมตลาดคาร์บอนมากขึ้น ทั้งยังจำเป็นต้องมีการกำหนดเกณฑ์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้สอดคล้องกับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ

นอกจากนี้ยังต้องมีการจัดทำระบบฐานข้อมูลการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อความโปร่งใส น่าเชื่อถือ และสามารถติดตามสถานการณ์ได้ในทางหนึ่ง

ควรส่งเสริมให้มีการลงทุนในเทคโนโลยีที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การลงทุนเพื่อผลิตคาร์บอนเครดิต เช่น จัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ

พร้อมไปกับสร้างการรับรู้และส่งเสริมให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างรายได้ให้กับชุมชน (6)

จากที่อธิบายมาทั้งหมดนี้ หลายคนอาจจะตระหนักว่า การก้าวเข้าไปในขอบเขตของคาร์บอนเครดิตนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเสียทีเดียว ด้วยกฎระเบียบและเงื่อนไขรายละเอียด ตลอดจนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเห็นได้ชัดว่า เส้นทางข้างหน้ามีความท้าทาย และเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม จากการคาดการณ์ถึงการเติบโตแบบก้าวกระโดดสำหรับตลาดคาร์บอนทั่วโลกในอนาคต ถือว่า “คาร์บอนเครดิต” ถือเป็นโอกาสสำหรับทุกคนในการมีส่วนร่วมเพื่อประโยชน์ที่ดียิ่งขึ้นในการช่วยดูแลโลก โดยเฉพาะเรื่องคาร์บอนเครติดไม่ได้เกี่ยวกับรัฐบาลหรือบริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพียงเท่านั้น แต่ผู้ผลิตรายย่อย ชุมชน หรือบุคคลที่สามารถจะสร้างผลกระทบเชิงบวกด้วยการมีส่วนร่วมได้

ดังนั้น ในวันที่โลกกำลังเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจากภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำ ไฟป่ารุนแรง ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น น้ำท่วม น้ำแข็งขั้วโลกละลาย วาตภัยขนาดใหญ่ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และอื่น ๆ “คาร์บอนเครดิต” จึงเสมือนเป็นสัญญาณแห่งความหวัง เป็นหนึ่งในอาวุธการต่อสู้สำหรับการฝ่าวงล้อมจากวิกฤตโลกรวนอันเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์

 

ที่มา :

(1) (3) (4) กลไกการลดก๊าซเรือนกระจก (2024). Retrieved Feb 1, 2024, from https://ghgreduction.tgo.or.th

(2) เป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (2nd Update NDC) (2023). Retrieved Feb 1, 2024, from https://climate.onep.go.th/th/เป้าหมายการมีส่วนร่วมท/

(5) กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ : ตลาดคาร์บอนเครดิตในเทรนด์ธุรกิจโลก (2022). Retrieved Feb 1, 2024, from https://www.bangkokbiznews.com/tech/963474

(6) สภาพัฒน์ แนะเพิ่มมาตรการจูงใจเพื่อดึงเอกชนร่วมตลาดคาร์บอนเครดิตมากขึ้น (2022). Retrieved Feb 1, 2024, from https://www.infoquest.co.th/2022/201972

Related posts

ภาวะโลกร้อนเขย่าวิกฤตอาหารโลก ผลผลิตลด คนหิวโหย อันตรายถึงชีวิต

ถ้าบริหารจัดการน้ำเหมือนปี 54วิกฤตอุทกภัยอาจเลวร้ายยิ่งกว่า

ประเทศไทยเอาไงดี? ส่องความคืบหน้าแผนรับมือโลกร้อน