กทม.อากาศแย่อันดับ 4 ของโลก ‘เหนือ-อีสาน-กลาง’ แดงเถือก

ฝุ่นพิษกรุงเทพฯ แย่อันดับ 4 ของโลก เหนือ-อีสาน-กลางอ่วมหลายพื้นที่ เตือนเฝ้าระวัง 16-17 เม.ย. ภาคเหนือตอนบนฝั่งตะวันออกอากาศนิ่งกระทบอีสาน 

เว็บไซต์ IQAir เว็บไซต์จัดอันดับคุณภาพอากาศทั่วโลก รายงานในช่วงเวลา 09.00 น. วันที่ 10 เม.ย. ว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีคุณภาพอากาศแย่เป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากปากีสถาน อินเดีย และปักกิ่ง ประเทศจีน

ขณะที่ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กรมควบคุมมลพิษ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2565 ว่า สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานในหลายพื้นที่ ได้แก่ กทม.และปริมณฑล ตรวจวัดได้ 50 – 92 มคก./ลบ.ม. 

ทั้งนี้ พื้นที่เกินค่ามาตรฐานสูงสุดในระดับสีแดงและกระทบต่อสุขภาพที่บริเวณริมถนนลาดกระบัง เขตลาดกระบัง 92 มคก./ลบ.ม. 

ขณะที่ภาคเหนือ ตรวจวัดได้ 41 – 95 มคก./ลบ.ม. เกินมาตรฐานในระดับสีแดงสูงสุดบริเวณ ต.ท่าอิฐ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ 95 มคก./ลบ.ม.ต.นาจักร อ.เมือง จ.แพร่ 94 มคก./ลบ.ม.  

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตรวจวัดได้  49 – 123 มคก./ลบ.ม. เกินมาตรฐานเกือบทุกสถานีตรวจวัด และเกินมาตรฐานในระดับสีแดงสูงสุดบริเวณ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี 123 มคก./ ลบ.ม. ต.มีชัย อ.เมือง จ.หนองคาย 104 มคก./ลบ.ม. 

ภาคกลางและตะวันตกตรวจวัดได้ 58 – 100 มคก./ลบ.ม. เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ เกินมาตรฐานสูงสุดในระดับสีแดงที่บริเวณ ต.หน้าพระลาน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี 100 มคก./ลบ.ม.  ภาคตะวันออก ตรวจวัดได้  50 – 74 มคก./ลบ.ม.  ขณะที่ภาคใต้ ตรวจวัดได้ 11 – 18 มคก./ลบ.ม.

ศกพ. คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ล่วงหน้า ดังนี้ พื้นที่กทม.และปริมณฑล  1 วันข้างหน้าคุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ และคาดการณ์ 7 วันข้างหน้านั้น แนวโน้มของสถานการณ์ในภาพรวมช่วงวันที่ 11 – 17 เม.ย. จะมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหลังวันที่ 11 เป็นต้นไป 

สำหรับพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ 1 วันข้างหน้า  คุณภาพอากาศโดยภาพรวมเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ และคาดการณ์ 7 วันข้างหน้านั้น แนวโน้มของสถานการณ์ในช่วงวันที่ 16 – 17 เม.ย. ควรเฝ้าระวังเป็นหากจุดความร้อนมีจำนวนมาก 

ทั้งนี้หลังวันที่ 11 เม.ย.สถานการณ์บริเวณภาคเหนือจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศนิ่งลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับพลังงานการยกตัวของมวลอากาศสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ  

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 16-17 เม.ย.ควรเฝ้าระวังจุดความร้อนเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากสภาพอากาศที่นิ่ง และมวลอากาศยกตัวได้ไม่ดี ซึ่งจะกระทบภาคเหนือด้านตะวันออก รวมไปถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

Related posts

ความหวังจาก ‘คาร์บอนเครดิต’หนึ่งในอาวุธ สู้วิกฤตโลกรวน

ภาวะโลกร้อนเขย่าวิกฤตอาหารโลก ผลผลิตลด คนหิวโหย อันตรายถึงชีวิต

ถ้าบริหารจัดการน้ำเหมือนปี 54วิกฤตอุทกภัยอาจเลวร้ายยิ่งกว่า