เปิดตัว ‘Thailand Taxonomy 2.0’ เครื่องมือเปลี่ยนผ่านสู่คาร์บอนต่ำ

 

 

 

กรมลดโลกร้อน ร่วมเปิดตัว ‘Thailand Taxonomy 2.0’ ยกระดับมาตรฐานเศรษฐกิจสีเขียว ขับเคลื่อนไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน

 

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2568 คณะทำงานขับเคลื่อนการกำหนดนิยามและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) ระยะที่ 2 ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมด้วยหน่วยงานภาครัฐและเอกชนรวม 32 หน่วยงาน จัดงานสัมมนา “Thailand Taxonomy 2.0: ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่ความยั่งยืน” ณ โรงแรมคอนราด กรุงเทพมหานคร งานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์และส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับ Thailand Taxonomy ให้เป็นมาตรฐานกลางในการกำหนดนิยามและจัดกลุ่มกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย โดยมุ่งสนับสนุนการจัดสรรเงินทุนไปยังกิจกรรมที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ในโอกาสนี้ ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้แทนคณะทำงานฯ เข้าร่วมพิธีเปิดงาน เพื่อแสดงถึงบทบาทสำคัญของกรมฯ ในการผลักดันประเทศไทยสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ

กรมลดโลกร้อน ร่วมเปิดตัว ‘Thailand Taxonomy 2.0’

ความสำคัญของ Thailand Taxonomy

 

Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 มุ่งเน้นครอบคลุมกิจกรรมในภาคพลังงานและการขนส่ง ซึ่งเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญที่สุดของประเทศ ส่วนในระยะที่ 2 ได้ขยายขอบเขตให้ครอบคลุมภาคเศรษฐกิจเพิ่มเติม ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคเกษตร ภาคก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการจัดการของเสีย ซึ่งทั้งหมดนี้มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 95% ของการปล่อยทั้งหมดในประเทศไทย ดังนั้น Thailand Taxonomy จึงเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืน สนับสนุนให้ธุรกิจและการลงทุนในประเทศไทยเติบโตบนพื้นฐานของความยั่งยืน

 

นายปวิช เกศววงศ์ ได้เน้นย้ำถึงบทบาทของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมในฐานะหนึ่งในหน่วยงานหลักของคณะทำงานฯ ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันประเทศไทยไปสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ โดยกรมฯ มีภารกิจหลักในการกำหนดนโยบายและจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงพัฒนาและส่งเสริมกลไกทางการเงินที่เอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ซึ่งสอดคล้องกับ (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. … ที่อยู่ในกระบวนการ Fast-Track และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาในลำดับถัดไป

กรมลดโลกร้อน ร่วมเปิดตัว ‘Thailand Taxonomy 2.0’

Thailand Taxonomy ในร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้กำหนดให้ Thailand Taxonomy เป็นองค์ประกอบสำคัญในหมวดที่ 13 ซึ่งว่าด้วยมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการประเมินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเชื่อมโยงนโยบายและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียว นอกจากนี้ ร่าง พรบ. ฉบับนี้ยังกำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนภูมิอากาศในหมวดที่ 4 เพื่อวางรากฐานสำหรับการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นทั้งการส่งเสริมการลงทุนด้านภูมิอากาศและการยกระดับขีดความสามารถของภาคธุรกิจ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ

 

การสนับสนุนเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ

 

นายปวิช กล่าวย้ำว่า “Thailand Taxonomy ไม่เพียงแต่ช่วยยกระดับความโปร่งใสในตลาดทุนและภาคธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นกรอบการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC 3.0) เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในระยะยาว” การพัฒนาและการนำ Thailand Taxonomy ไปใช้จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถจัดสรรทรัพยากรทางการเงินไปยังกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป

Related posts

ธารน้ำแข็ง Birch ในสวิตเซอร์แลนด์ ถล่ม ภัยพิบัติจากภาวะโลกร้อน

นักวิทย์พบ ‘ทองคำ’ ในหินภูเขาไฟ มาจากแกนโลก

‘ตู้เสื้อผ้าแคปซูล’ ทางเลือกใหม่ของคนรักษ์โลก