วิกฤตภูมิอากาศไม่ใช่แค่เรื่องโลกร้อนแต่ทำให้มนุษย์ก้าวร้าวมากขึ้นเสี่ยงขัดแย้งและเกิดสงครามสูง

หนังสือเล่มล่าสุดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกให้มุมมองแบบที่เราคาดไม่ถึงมาก่อน เพราะตามปกติแล้วเวลาเราพูดถึงปัญหานี้ (หรือเรียกสั้นๆ ว่าภาวะโลกร้อน ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้มีแค่ภาวะโลกร้อนก็ตาม) เราจะคิดถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับธรรมชาติ

แต่มันมีความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ด้วย หนังสือเล่มล่าสุดที่เพิ่งออกมาในเดือนกุมภาพันธ์นี้ให้คำตอบกับเราถึงสิ่งที่เกิดขึ้น คือ Climate Change and Human Behavior (การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพฤติกรรมของมนุษย์) เขียนโดยอันเดรียส ไมล์-โนเวโลและ เครก เอ. แอนเดอร์สัน แห่งมหาวิทยาลัยแห่งรัฐไอโอวา

พวกเขาทำการตรวจสอบผลกระทบทางจิตวิทยาของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเน้นว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับธรรมชาติจะนำไปสู่พฤติกรรมก้าวร้าวและความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้นอย่างไร และจะส่งผลต่อพฤติกรรมอื่น ๆ ในแง่มุมอื่น ๆ อย่างไร

การศึกษาพบว่าเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นจะทำให้สมองสั่งการให้มีการหันเหทรัพยากรไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายเพื่อพยายามทำให้เย็นลง เมื่อภาวะนี้เกิดขึ้น พื้นที่ของสมองจะไม่ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำให้ยากขึ้นที่คนบางคนจะประมวลผลข้อมูลใหม่ จัดการอารมณ์ และควบคุมแรงกระตุ้น

 

 

นอกจากนี้คนที่ได้รับผลกระทบยังมองว่าคนอื่นมีพฤติกรรมก้าวร้าวด้วย ซึ่งเพิ่มโอกาสในการเผชิญหน้าที่ไม่เป็นมิตร เรื่องนี้ถูกตั้งข้อสังเกตอย่างเป็นวิทยาศาสตร์โดยผู้เขียนพบความรุนแรงที่เกิดขึ้นเพราะอุณภูมิที่สูงขึ้นส่งผลต่อผู้คนในหลายพื้นที่ ในช่วงเวลาต่าง ๆ กัน

ผู้เขียนพบข้อมูลที่ยืนยันหนักแน่นว่า ภูมิภาคที่ร้อนกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกมีอัตราการเกิดอาชญากรรมรุนแรงขึ้น แม้จมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ด้วย เช่น ความยากจนและช่วงอายุ

การวิจัยก่อนหน้าของหนึ่งในผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงที่ชัดเจนระหว่างช่วงเวลาที่ร้อนแรงและความรุนแรงจากพฤติกรรมมนุษย์ พบว่าอัตราการฆาตกรรม การข่มขืน และการทำร้ายร่างกายในอเมริกาสูงขึ้นในช่วงวัน เดือน ฤดูกาล และปีที่อากาศร้อนขึ้น

 

นอกจากอารมณ์รุนแรงที่เพิ่มขึ้นจากอากาศที่ร้อนขึ้น การเปลี่ยนแปลของสภาพภูมิอากาศยังจะทำให้โลก “เดือดขึ้น” ในทางการเมือง เนื่องจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดภัยแล้งที่รุนแรงและบ่อยครั้งมากขึ้น เช่น ไฟป่า น้ำท่วม และพายุเฮอริเคน

Syrian refugee family and camp – January 2018

ผู้เขียนชี้ว่า ผู้คนทั่วโลกจะมีความเสี่ยงสูงต่อความหิวโหยและการขาดสารอาหาร ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ และความยากจน มันจะขับเคลื่อนการย้ายถิ่นจำนวนมากไปยังพื้นที่ที่มีทรัพยากรมากขึ้น (เช่น พื้นที่กินหญ้าที่ดีกว่า เมืองที่มีงานมากขึ้น) ซึ่งสามารถนำไปสู่การแข่งขันแย่งชิงทรัพยากร

“เรื่องนี้อาจะฟังดูเป็นข้อสรุปที่ง่ายไปหน่อย แต่สงครามกลางเมืองในซีเรียเริ่มต้นด้วยความแห้งแล้งอย่างรุนแรง ประชากรในชนบทส่วนใหญ่ย้ายไปเมืองต่าง ๆ เพื่อหางาน อาหารและน้ำ แต่รัฐบาลที่ไม่มั่นคงอยู่แล้วไม่ได้เตรียมรับการไหลเข้าของผู้คน นำไปสู่การแย่งชิงทรัพยากร เช่น งานและที่อยู่อาศัย กระตุ้นให้เกิดความไม่สงบทางการเมือง ในที่สุดเกิดสงคราม” ไมล์-โนเวโลผู้เขียนร่วมกล่าว

TURKISH-SYRIAN BORDER -JUNE 11, 2011

ไม่ใช่แค่สงครามในตะวันออกกลาง ผู้เขียนล่าวเสริมว่า ความรุนแรงในซีเรียนำไปสู่การอพยพครั้งใหญ่ไปยังยุโรป ซึ่งทำให้เกิดการเคลื่อนไหวต่อต้านผู้อพยพในสถานที่ต่าง ๆ เช่น เยอรมนีและสหราชอาณาจักร กลายเป็นความรุนแรงที่ไม่ใช่สงครามที่กระจายตัวไปยังพื้นที่อื่น

ผู้เขียนเน้นว่า ไม่ว่าสภาพอากาศในอนาคตจะดูมืดมนเพียงใด ก็มีวิธีแก้ไขเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พวกเขากล่าวว่าหนึ่งในขั้นตอนแรกควรเปลี่ยนวิธีการอธิบายถึงผลกระทบเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นักวิทยาศาสตร์ นักการเมือง และสื่อต่าง ๆ ควรช่วยให้ผู้คนเข้าใจถึงความเชื่อมโยงระหว่างภาวะโลกร้อนอย่างรวดเร็วกับภัยคุกคามที่ผู้คนประสบในชีวิตประจำวัน (เช่น ความยากจน อาชญากรรม) แทนที่จะอภิปรายว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีจริงหรือไม่

ขั้นตอนที่สำคัญอีกประการคือการโยกภาระบางส่วนจากบุคคลคนทั่วไป ไปให้รัฐบาลและองค์กรธุรกิจแบกรับแทน ผู้เขียนได้รวมการอ้างอิงถึงรายงานปี 2017 จากฐานข้อมูล Carbon Majors ซึ่งมีรายละเอียดว่าบริษัท 100 แห่งมีส่วนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก 71% ดังนั้นกลุ่มนี้ต้องมีส่วนรับผิดชอบมากกว่าคนอื่น ไม่ใช่คนทั่วไปที่ต้องแบกรับ

เรียบเรียงจาก
• “New book connects the climate crisis and violence”. (Feb 22, 2022). Press release from Iowa State University.

Related posts

‘เหี้ย’ สัตว์ป่าคุ้มครอง กรมอุทยานฯ วางกฎ เพาะพันธุ์ต้องมีใบอนุญาต

‘แผ่นดินไหวญี่ปุ่น’ กว่า 1,000 ครั้ง ทางการสั่งอพยพ ไทยแจ้งเตือนฉุกเฉิน

‘โลกร้อน’ รุกหนัก ‘กรุงเทพฯ-สมุทรปราการ’ เสี่ยงจมน้ำในปี 2050