เชียงใหม่โมเดลแก้ฝุ่น PM2.5 ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ชุมชนเป็นแกนหลัก

ปีนี้จังหวัดภาคเหนือต้องเผชิญสถานการณ์มลพิษทางอากาศหรือปัญหาฝุ่น PM2.5 เข้าสู่ปีที่ 15 โดยเฉพาะ 9 จังหวัดภาคเหนือซึ่งจากการวิเคราะห์ด้วยภาพถ่ายดาวเทียมพบว่า ปี 2563 มีพื้นที่เผาไหม้สะสมทั้งสิ้น 8,615,470 ไร่ ปี 2562 มีพื้นที่เผาไหม้สะสม 7,211,517 ไร่ นั่นคือมีพื้นที่เผาไหม้สะสมเพิ่มขึ้นถึง 1,403,953 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 2.13

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้จะเป็นปีแรกที่ภาครัฐได้เปลี่ยนแนวนโยบายและแผนการแก้ปัญหาโดยจะให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการเชิงพื้นที่เพื่อให้ผู้ว่าฯ มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการจัดการปัญหาได้เอง ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ได้กำหนดแนวทางการรับมือผ่าน “เชียงใหม่โมเดล” ซึ่งจะเป็นการใช้ชุมชนเป็นฐาน หรือเรียกว่าเปลี่ยนแนวทางสั่งการจาก “บนลงล่าง” เป็นแก้จาก “ล่างขึ้นบน”

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจจังหวัดเชียงใหม่  อธิบายว่า เชียงใหม่โมเดล คือ ความร่วมมือของทุกฝ่ายในการแก้ปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 โดยใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงและงานวิชาการที่ทุกฝ่ายยอมรับ แล้วเปลี่ยนกระบวนการคิดและกระบวนการแก้ปัญหา ซึ่งเป็นมาตรการใหม่ที่ต่างไปจากเดิม

กล่าวคือวิธีคิดแต่เดิมมองว่าฝุ่นควันเป็นอุบัติภัย หรือไฟไหม้ ส่วนราชการจึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแก้ปัญหาในช่วงเดือนธันวาคม มกราคม เพื่อดับไฟ เมื่อดับไปเสร็จเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม และเมษายน ก็สลายตัวเข้ากรม ถือเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เมื่อดับไฟแล้วก็จบ  ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้

สภาลมหายใจเกิดขึ้นเมื่อเดือนกันยายน 2562 ซึ่งเป็นช่วงที่ไฟดับแล้ว แต่ได้เรียนรู้มากพอสมควรนั่นก็คือ ข้อแรกจากพื้นที่ 32 ตำบลนำร่อง ซึ่งสภาองค์กรชุมชนของพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองต่าง ๆ ที่กระจายตัวอยู่ใน 25 อำเภอของเชียงใหม่ ทำให้อย่างน้อยพบข้อเท็จจริงนี้ว่า ‘คุณไม่สามารถบริหารจัดการแบบเดียวกันทั้งเชียงใหม่ได้’

Cr.ภาพ : เพจประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

“นั่นคือโซนใต้ใบไม้ธรรรมชาติจะแห้งร่วงในช่วงประมาณเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ ตรงกลางจะประมาณเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม โซนเหนือจะเป็นช่วงเดือนมีนาคม เมษายน ซึ่งแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน

“อย่างน้อยก็เป็นฐานตั้งต้นแล้วว่า มันไม่เหมือนกัน คุณใช้แบบเดียวกันไม่ได้ สิ่งที่เราเริ่มมาคุยกันมากขึ้นก็คือ ทำอย่างไรให้เกิดการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน โดยแก้ที่ต้นเหตุทุกสาเหตุ ต่อให้ระดมคนทั้งประเทศให้มาดับไฟก็แก้ปัญหา PM2.5 ไม่ได้ ไม่มีทางเลย

“เราเริ่มค้นพบว่าปัญหาของ PM2.5 มีหลายสาเหตุมาก มีทั้งปัญหาจากภาคเมือง คือ รถยนต์  คมนาคม ขนส่ง โรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้างต่าง ๆ ซึ่งรถยนต์และโรงงานเท่ากับเป็นการจุดไฟ 365 วัน คือทุกครั้งที่มีการสตาร์ทรถคือการจุดกองไฟ แต่ฮอตสปอตมันจับไม่ได้ ดาวเทียมมันจับไม่ได้ 365 วัน

“PM2.5 มันขังมารวมกันอยู่ในแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน โดยลักษณะภูมิประเทศของเราที่เป็นแอ่งกระทะ แล้วพอช่วงกุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน ไฟจากการเผาในที่โล่งมันเข้ามา มันก็เลยสมทบกันหลายส่วน รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพราะฉะนั้นมันหนักมาก

“ประเด็นก็คือ ทำอย่างไรให้คนเข้าใจข้อเท็จจริงอันนี้ เข้าใจปัญหาที่แท้จริงถึงปัจจัยแวดล้อมทั้งหมดที่มาเป็นองค์ประกอบของ PM2.5 ที่เกิดขึ้นในเชียงใหม่”

ประเด็นการสร้างความเข้าใจซึ่งเป็นข้อสอง ชัชวาลย์ มองว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเดิมทีคนเมืองจะโทษชาวบ้าน รัฐก็จะโทษชาวบ้าน โทษกันไปโทษกันมา โดยไม่สามารถมองเห็นช้างทั้งตัวได้ ดังนั้นต้องใช้ข้อมูลวิชาการมาช่วยกันทำให้เห็นภาพที่ชัดขึ้น และประการที่สาม คือ ที่ผ่านมาใช้วิธีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงเป็นการสั่งการ หรือวิธีการทำงานลักษณะ Top-Down สั่งการจากบนลงล่าง

“คือวิธีนี้มันจะได้แค่นิดเดียว ก็คือกลไกของรัฐที่ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ได้รับเงินเดือนของรัฐเท่านั้นที่จะทำตามคำสั่ง คนอื่นเขาไม่สนใจอยู่แล้ว มันแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราก็ปรับกระบวนการที่สำคัญก็คือว่ามันต้องเป็นการทำงานแบบบูรณาการที่เป็นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย แล้วในจุดเน้นขีดเส้นใต้ก็คือว่า ‘ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ใช้ชุมชนเป็นแกนหลัก’ ในการปฏิบัติการแก้ปัญหา

“โดยมีสภาองค์กรชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกลไกในการประสาน หรือเป็นแกนประสาน การมีส่วนร่วมนัยของมันคือ ทำให้ทุกคนได้ร่วมวิเคราะห์ปัญหา หาทางแก้ปัญหา ร่วมวางแผน ร่วมขับเคลื่อนแก้ปัญหาด้วย อันนี้เป็นอีกอันที่น่าจะเป็นลักษณะที่เราเรียกว่า ‘เชียงใหม่โมเดล’ ซึ่งเปลี่ยนจาก ‘บนลงล่าง’ เป็น ‘ล่างขึ้นบน’” 

Cr.ภาพ : เพจเหยี่ยวไฟ

ถัดมาคือนโยบายห้ามเผา หรือ Zero-Burning ที่เป็นคำสั่งหรือกฎหมาย หากใครเผาโดนจับซึ่งปีที่ผ่านมามีอยู่ประมาณ 1,000 กว่าคดี แต่ในความเป็นจริงก็คือต้องเริ่มแยกแยะว่ามีไฟที่จำเป็นต้องใช้ในวิถีชีวิตด้วย อาทิ ใช้หุงข้าว เผาศพ ทำไร่หมุนเวียน ส่วนไฟไม่จำเป็น หมายถึงว่า มีทางเลือกอื่นได้ อย่างเช่น กวาดใบไม้ตอนเช้าแล้วเผา

อย่างไรก็ตาม จากการสรุปบทเรียนเมื่อปีที่แล้วทุกฝ่ายคงเห็นว่านโยบาย Zero Burning ทำให้เกิดไฟไหม้วินาศสันตะโรหนักที่สุด ดังนั้นต้องเปลี่ยนจากห้ามเผามาเป็นการบริหารจัดการเชื้อเพลิง ซึ่งต้องใช้สติปัญญามากขึ้น ใช้ข้อมูลมากขึ้น และใช้การบริหารจัดการที่ดีขึ้น โดยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดตั้งแต่พฤษภาคม 2563  คือหลังสรุปบทเรียนเสร็จในเดือนเมษายน

“อันนี้อันที่หนึ่งคือคณะกรรมการชุดนี้ถือว่าเป็นคณะใหญ่ที่ดูภาพรวม มีคณะทำงานที่ดูในเมือง เรื่องคมนาคม การขนส่ง การก่อสร้างทั้งหลายในเมือง สองพื้นที่เกษตร เรื่องข้าวโพดเชิงเดี่ยว เรื่องพืชเชิงเดี่ยวที่จะแปลจากเชิงเดี่ยวมาเป็นยั่งยืนได้อย่างไร จะลดการเผ่าได้อย่างไร ทั้งที่นา ที่ไร่ ที่สวน ทั้งหมดเลย

Cr.ภาพ : เพจป่าชุมชนออนไลน์

“อันถัดมาคือพื้นที่ป่า คือการแบ่งเขตจำแนกพื้นที่ดินกับป่าไม่ชัดเจนมาโดยตลอด ปีนี้ต้องถือว่าเชียงใหม่น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นอย่างมากเลย เพราะฉะนั้นมันจะเริ่มชัดขึ้น เมื่อก่อนมันมั่วระหว่างที่ดินทำกินกับป่าธรรมชาติ ซึ่งมันไม่เคยแยกแยะชัดเจน

“คือเราเปลี่ยนจากการตั้งคณะกรรมการเดือนตุลาคมมาเป็นพฤษภาคม คณะทำงานทั้งปี และเป็นคณะทำงานที่ดูแลทุกเขต อันที่สองใช้กระบวนการวางแผนโดยชุมชน เน้นกระบวนการป้องกัน มากกว่าการดับไฟ เน้นยุทธศาสตร์การป้องกันมากกว่าการดับไฟ พอแผนเสร็จก็เริ่มเข้าสู่กระบวนการบริการจัดการเชื้อเพลิง ซึ่งการบริหารจัดการเชื้อเพลิงนี้จะใช้สองสามระบบ

Cr. ภาพ : มูลนิธิวิจัยและพัฒนาเพื่อคุณภาพชีวิต

“แผนบริหารเชื้อเพลิงจะมาจากสองส่วน ส่วนของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ คือในเขตป่าสงวน ในเขตอุทยาน เขาก็จะมีการชิงเผาอยู่ด้วย ของชาวบ้านก็จะเป็นไร่หมุนเวียน ทำแผนเสร็จก็จะจองเข้ามาเรียกว่าแอปพลิเคชัน ‘จองเบิร์น’ แอปพลิเคชันตัวนี้จะเป็นการผสมผสานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมดเลย ตั้งแต่อุณหภูมิ กระแสลม การยกตัวของอากาศ ค่า PM2.5 ว่าตอนนี้เวลาที่จองเผามันโอเคไหม มันเป็นอย่างไร มันหนักมันเบาอย่างไร ประมาณนี้เผาได้หรือไม่ได้ ตัวนี้จะให้คณะกรรมการตัดสินใจ ว่าได้หรือไม่ได้ จำเป็นต้องเลื่อนไปหน่อยได้ไหมการจัดการเชื้อเพลิง

“ซึ่งตอนนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 มกราคมมาแล้ว พอเราใช้ชุมชนเป็นฐานในการจัดการ ปัญหาหลักคือไม่มีงบประมาณ เป็นปีแรกที่เราเริ่มระบบใหม่ เพราะฉะนั้นจึงต้องการงบประมาณสนับสนุน สิ่งสำคัญถัดมาก็คือ จำเป็นต้องระดมเครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ ให้ชาวบ้านมีความพร้อมในการจะไปดูแลจัดการป้องกัน ทำแนวกันไฟ 

“ถ้ามีไฟขึ้นมาก็มีศักยภาพในการไปดับไฟแบบนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นตอนนี้เรากำลังระดมทรัพยากร ซึ่งปีนี้สภาลมหายใจร่วมกับทางจังหวัดได้ตกลงกันว่าจะทำการเปิดบัญชีร่วมกัน แล้วระดมเข้ามา แล้วกระจาย มีระบบกระจายที่บูรณาการไม่ให้ซ้ำซ้อน ปีที่ผ่านมาเรามอบไปแล้ว เครื่องเป่าลมพื้นที่ละ 2 เครื่อง โบโด 2 เครื่อง คราด 20 ปีที่แล้ว 150 ชุมชน ปีนี้เราเพิ่มอีกประมาณ 200 กว่าชุมชน ใน 19 อำเภอ เติมเข้าไปอีกซึ่งเราจะมอบในวันที่ 18 มกราคมนี้”

Cr.ภาพ : เพจสภาลมหายใจเชียงใหม่

ที่สำคัญและจำเป็นมาก็คือการระดมงบประมาณ ปีนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถสนับสนุนไปยังชุมชนได้ ซึ่ง อปท.จะเตรียมงบประมาณส่วนหนึ่งไว้ แต่เนื่องจากเป็นปีแรกอาจไม่ได้เตรียมงบประมาณไว้เต็มที่นัก จึงอาจจะมีข้อจำกัดในเรื่องนี้

“ทางฝั่งธุรกิจเอกชนก็เริ่มทำ คราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) ระดมทุนมาเพื่อที่จะเอาไปช่วยชุมชนที่ไม่มีการเผา ชุมชนไหนที่สามารถเอาอยู่จะให้ไปในลักษณะการให้รีวอร์ด (รางวัล) มีสองสามแบบ คือ หนึ่งภาคธุรกิจให้ในลักษณะรีวอร์ด องค์กรปกครองท้องถิ่นก็จะให้เท่าที่มี ถัดมาเราได้มีการพูดคุยกับ อบจ.เชียงใหม่ ให้เตรียมงบไว้สำหรับสนับสนุนชุมชนด้วยในส่วนที่ขาด รวมทั้งสภาลมหายใจเองก็เตรียมระดมทุนอีกทางหนึ่ง เพื่อไปสนับสนุนชุมชน คือหมายความว่าพอเราให้ชุมชนพื้นที่เป็นตัวตั้ง ชุมชนเป็นแกนหลักแล้วเราต้องช่วยกันสนับสนุนชุนด้วย”

ชัชวาลย์ บอกว่า ช่วงที่ผ่านมามีการดำเนินการไปล่วงหน้าบ้างแล้ว เช่น กำหนดพื้นที่เข้มข้นที่จะมีติดตามประมาณ 35 ตำบล เพื่อจะเป็นบทเรียนสำหรับปีหน้า โดย 1) ส่งมอบของ 239 หมู่บ้าน 19 อำเภอของเชียงใหม่ เพื่อไปเสริมในส่วนที่ยังไม่ได้ให้มีความพร้อม 2) การบริหารจัดการเชื้อเพลิงซึ่งได้เริ่มทำตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันจะเข้าไปดูในพื้นที่ว่า มีข้อจำกัดอะไรบ้าง บางครั้งชาวบ้านจองเบิร์นไม่ได้ เพราะชุมชนอาจมีข้อจำกัดในการใช้แอปจองเบิร์น เช่น ไม่มีสัญญาณ ต้องตามเก็บข้อมูล ซึ่งจากนี้ไปคือการระดมทรัพยากรเพื่อที่จะเข้าไปสนับสนุนชุมชน ภาคเมืองก็ทำกิจกรรมรณรงค์เรื่องปั่นเพื่อเปลี่ยน

Cr. ภาพ : เพจปั่นเพื่อเปลี่ยน ตี้เจียงใหม่เจ้า

“นัยของมันก็คือ เราทำให้เกิด Action ซึ่งเดิมเราจะทำ 13 สัปดาห์ ทุก ๆ วันอาทิตย์ โดยร่วมกับชุมชนในเขตคูเมืองเก่าซึ่งมี 13 ชุมชน เราจะทำ 13 สัปดาห์ แต่ว่าเจอสถานการณ์โควิดเลยต้องหยุดไป แต่อย่างน้อยการรณรงค์ปั่นเพื่อเปลี่ยนเราทำได้ 8 ครั้ง เราอยากจะส่งสัญญาณไปว่า การลด PM2.5 ไม่ใช่ทำเฉพาะพื้นที่นอกเมืองเท่านั้นในเมืองก็ต้องทำ

“ในขณะที่ปั่นจักรยานเราก็จะให้ดูต้นแบบต่าง ๆ ซึ่งเราทำอยู่แล้ว ก็คือบ้านสู้ฝุ่น ชุมชนสู้ฝุ่น วัดสู้ฝุ่น โรงเรียนสู้ฝุ่น อะไรพวกนี้ เพื่อให้ไปเจอกับตัวอย่างดี ๆ ที่เป็น Best Practice ต่าง ๆ ซึ่งมันก็มีการปฏิบัติการเรื่องพวกนี้มาต่อเนื่องอยู่แล้วตั้งแต่ต้นปี”

แน่นอนว่าในแง่องค์กรสภาลมหายใจเชียงใหม่เพิ่งก่อตั้งมาได้ไม่นาน อะไรจะเป็นจุดเปลี่ยนในการขับเคลื่อนเชียงใหม่โมเดล ชัชวาลย์ ระบุว่า สภาลมหายใจเป็นภาคประชาชน เป็นการใช้พลังความร่วมมือเหล่านี้ไปช่วยอุดช่องว่าง ไปช่วยเปลี่ยนหลักคิดและกระบวนการทำงานใหม่ให้เกิดขึ้น

ฉะนั้นสิ่งที่สภาลมหายใจทำอยู่คือการเรียนรู้ ทำให้คนมองเห็นภาพ PM2.5 ชัดขึ้น แล้วเกิดการปฏิบัติการด้วยศักยภาพของแต่ละส่วนที่มาเชื่อมโยงกัน ซึ่งถามว่าแต่ละกลุ่มทำไหม? ทำ!  แยกกันทำ จึงไม่มีพลังในการแก้ปัญหา ฉะนั้นสภาลมหายใจคือ “ตัวเชื่อมโยง ตัวอุดช่องว่าง ตัวประสานพลัง” ทั้งหมดเข้ามาโยงกัน ซึ่งอันนี้เป็นหัวใจสำคัญมาก ฉะนั้นกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งหมดมาจากกระบวนการที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน มองเห็นเป้าหมายและสาเหตุร่วมกัน มีข้อมูลชุดเดียวกัน แล้วเกิดการออกแบบการแก้ปัญหาร่วมกัน 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นวาระแห่งชาติ มีคณะกรรมการระดับชาติในการแก้ปัญหา ซึ่งชัชวาลย์บอกว่า ถ้าพูดอย่างตรงไปตรงมาคือวาระที่เป็นวิธีคิดจากส่วนกลาง และเป็นวิธีแบบ Top-Down ในขณะที่เชียงใหม่โมเดลแตกต่างไปจากจังหวัดอื่น เพราะเข้าใจว่าจังหวัดอื่นเพิ่งจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมา

“เราก็สรุปกันอยู่ว่าเชียงใหม่อยากเห็น PM2.5 ลดลง เราอยากเห็นพื้นที่เผาลดลง อยากเห็นการลดลงของ PM2.5 ทุกสาเหตุ ซึ่งขณะนี้จังหวัดตั้งเป้าไว้ที่ 25% แต่ใจจริงของพวกเราพยายามเสนอไปเราอยากเห็นลดลงถึง 50%  ถ้าเชียงใหม่โมเดลมันสามารถลดได้ปีละ 25% ถ้าลองคิดว่าเราทำให้ต่อเนื่องปีละ 25% ก็ถือว่าไม่ช้า ถือว่าเกิดการเรียนรู้ เกิดความเข้มแข็งมากขึ้นในการจัดการปัญหาได้ ใน 4-5 ปีข้างหน้าเราจะอยู่ในสภาวะที่ค่า PM2.5 ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เราหวังอย่างงั้น”

Cr.ภาพ : ร่มบินเชียงใหม่

อย่างไรก็ตาม ชัชวาลย์ยอมรับว่าเชียงใหม่จังหวัดเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาฝุ่นได้ทั้งหมด เพราะจะต้องร่วมกันแก้ทั้งองคาพยพ โดยปีนี้สภาลมหายใจต้องการขยายเชียงใหม่โมเดลไปยังจังหวัดอื่น ๆ ด้วย อย่างน้อย 8 จังหวัด บวก 1 คือ จังหวัดตาก ด้วย

อีกประเด็นที่สำคัญคือการติดตามการผลักดันกฎหมาย พ.ร.บ.บริหารจัดการอากาศสะอาด ให้ได้รับการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอาจจะในปี 2565 ขณะเดียวกันกระบวนการความร่วมมือของ 8 จังหวัด บวก 1 อาจจะไปเชื่อมโยงกับเครือข่ายอากาศสะอาดที่กรุงเทพฯ เพื่อผลักดันให้ท้องถิ่นบริหารจัดการด้วยตนเองมากขึ้นและทำให้ทุกภาคส่วนเข้ามาเชื่อมโยงกันมากขึ้น

“โดยสิ่งที่สำคัญอยู่ที่การใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ใช้ชุมชนเป็นแกนหลัก และใช้ท้องถิ่นเป็นตัวสนับสนุน ซึ่งอันนี้น่าจะเป็นแนวทางสำคัญมาก ๆ  ที่เราเรียกว่าเชียงใหม่โมเดล น่าจะเป็นทางออกที่ยั่งยืนกว่าแนวทางเดิม สิ่งที่สำคัญคือ หลักคิดและกระบวนการแก้ปัญหามันต้องเปลี่ยนใหม่ อันนี้คือความท้าทาย คือถ้าทำแบบเดิมมันแก้ไม่ได้ เปลี่ยนจากเฉพาะหน้าเป็นยั่งยืน เปลี่ยนจากการใช้คำสั่งมาเป็นการมีส่วนร่วม

“การใช้ชุมชนเป็นตัวตั้งใช้ท้องถิ่นเป็นกลไกในการสนับสนุนการขับเคลื่อน แล้วทุกฝ่ายร่วมมือกันทำงาน เปลี่ยนจาก Zero-Burning เป็นการบริหารจัดการเชื้อเพลิง เราจำเป็นที่จะต้องมี พ.ร.บ. เพราะว่าตอนนี้เราใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยซึ่งมันล้าหลังมาก คือเมื่อมีไฟ เมื่อมีเหตุจึงใช้งบ ใช้คน ใช้เครื่องจักรได้ มันเป็นการแก้ปลายเหตุไม่มีลักษณะเชิงรุก การป้องกัน เพราะฉะนั้นต้องเปลี่ยนยังไงก็ต้องเปลี่ยน ต้องมีกฎหมายใหม่

“แต่ว่าการจะไปให้ถึงสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดต้องทำงานกันหนักมาก หน่วยของจังหวัดน่าจะเป็นหน่วยที่เหมาะสมที่จะทำให้ทุกคนเข้ามามีพื้นที่ทำงานร่วมกันได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ความท้าทายที่สำคัญก็คือว่าขอให้แต่ละจังหวัดลุกขึ้นมาและเชื่อมโยงกัน ช่วยกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ วิเคราะห์ปัญหา หาทางแก้ หาทางเลือกใหม่ สร้างวิธีคิด กระบวนการใหม่ ขับเคลื่อนร่วมกัน และเราเชื่อมกันในระหว่างจังหวัดต่าง ๆ หรือว่าทั้งประเทศ เหล่านี้เชื่อว่าปัญหาจะลดลงแน่นอน”

ชัชวาลย์ สรุปว่ากลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหา PM2.5 ให้มีความอย่างยั่งยืนและถาวรในระยะยาว ก็คือกระบวนการพัฒนาอย่างยั่งยืน จะต้องมีการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน ต้องมีระบบการเกษตรอย่างยั่งยืน ต้องมีระบบเศรษฐกิจสีเขียว ต้องเกิดการกระจายอำนาจหรือส่วนกลางต้องคลายล็อค เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มที่และเต็มศักยภาพ ฉะนั้นการกระจายอำนาจจึงเป็นหัวใจของการแก้ไข PM2.5 รวมถึงปัญหาอื่น ๆ ด้วย 

Related posts

ความหวังจาก ‘คาร์บอนเครดิต’หนึ่งในอาวุธ สู้วิกฤตโลกรวน

ภาวะโลกร้อนเขย่าวิกฤตอาหารโลก ผลผลิตลด คนหิวโหย อันตรายถึงชีวิต

ถ้าบริหารจัดการน้ำเหมือนปี 54วิกฤตอุทกภัยอาจเลวร้ายยิ่งกว่า