ดูกัลด์ เซมเพิล สันติแห่งชีวิตในรสชาติผลไม้

“คนส่วนใหญ่ไม่ได้ตายเองหรอก พวกเขาฆ่าตัวเองด้วยมีดกับส้อม”

นี่คือคำพูดของชายคนหนึ่ง ซึ่งจะเปลี่ยนวิถีการบริโภคไร้เนื้อและนักนิยมวิถีเรียบง่ายในโลกตะวันตกไปตลอดกาล

เซมเพิล คือชื่อของเขา ฟังคล้ายกับคำว่า “ซิมเพิล” ที่แปลว่าเรียบง่าย ชีวิตของเขาก็เป็นแบบนั้นจริงๆ และยังเป็นแบบอย่างให้กับคนหลายล้านคนทั่วโลก

ดูกัลด์ เซมเพิล (Dugald Semple) เป็นนักเขียน นักธรรมชาตินิยมชาวสก็อต และนักเคลื่อนไหวเพื่อการกินมังสวิรัติในอังกฤษในช่วงทศวรรษที่ 1930 ถือเป็นผู้นำการกินมังสวิรัติเชิงสังคมคนแรกของโลกตะวันตกก็ว่าได้

แต่ เซมเพิล เป็นที่รู้จักกันมากกว่าในฐานะผู้ริเริ่มการกินผลไม้อย่างเดียวเพื่อยังชีพ หรือ Fruitarianism

บางคนอาจเริดคิ้วด้วยความสงสัยเมื่อได้ยินคำว่าฟรุตแทเรียน เหมือนกับบางฉากในภาพยนต์เรื่อง Notting Hill ที่ตัวประกอบคนหนึ่งบอกว่าเธอไม่กินทั้งเนื้อ และไม่กินทั้งผัก แต่ยังชีพด้วยผลไม้เท่านั้น – เธอเป็นฟรุตแทเรียน

แน่ล่ะ ฉากนั้นสร้างความขบขันและสงสัยให้กับตัวละครและผู้ชม แต่ฟรุตแทเรียนไม่ใช่เรื่องตลก มันมีแนวคิดที่อิงกับสันติภาพของร่างกายปัจเจกบุคคล และสันติภาพของเรือนร่างร่วมของมนุษยชาติ โดยมีปรัชญาที่ลึกซึ้งของเซมเพิลเป็นเสาหลัก

เซมเพิลและแนวคิดของเขาไม่ใช่เรื่องน่าหัวร่อ เขาเป็นหนึ่งใน “นักบวชโมเดิร์น” ที่ใช้ชีวิตตามปรัชญาที่เขานำเสนอ ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย ตระหนักในสันติภาพ คลุกคลีกับธรรมชาติ และตระหนักถึงความจำเป็นที่มนุษย์จะต้องดำรงชีวิตอยู่โดยทำลายธรรมชาติให้น้อยที่สุด

แนวคิดนี้ย่อมน่าหัวเราะเยาะในยุคที่อุตสาหกรรมกำลังเฟื่องฟู เซมเพิลเองก็เคยเป็นฟันเฟืองตัวหนึ่งในยุคอุตสาหกรรมในฐานะคนร่างแบบทางวิศวกรรม แต่เขาผละตัวออกมาจากโลกแห่งจักรกลและมลพิษ เริ่มใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติในช่วงทศวรรษที่ 1910 (1)

เซมเพิลปักหลักใช้ชีวิตอยู่ในเต็นท์ บางครั้งเดินทางแบบคาราวานด้วยรถบ้าน เมื่อปักหลักในฟาร์มที่เบธ, เขตแฟร์ลี, สก็อตแลนด์ เขาก็ทำฟาร์มให้เป็นสวรรค์ของคนรักธรรมชาติ ต้อนรับนักเดินเท้าและนักปั่นจักรยานด้วยไมตรีจิต (ในยุคที่รถยนต์กำลังเริ่มครองโลก) เขาเลิกกินเนื้อกินแต่ผัก และเผยแพร่แนวคิดการกินอาหารอย่างประหยัดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1  บางคนในยุคของเราจึงเรียกเขาว่าเป็นฮิปปปี้คนแรกของโลก (2)

บางคนก็เรียกเขาว่า ธอโรชาวสก็อต (Scottish Thoreau) ด้วยวิถีและแนวคิดของเขาคล้ายกับเฮนรี เดวิด ธอโร (Henry David Thoreau) นักคิดนักเขียนชาวสหรัฐในช่วงศตวรรษที่ 19 ผู้เขียนบันทึกแนวธรรมชาตินิยมและวิถีเรียบง่ายชื่อ Walden (มีแปลเป็นภาษาไทยแล้ว) (3)

ความมุ่งมั่นในปรัชญาธรรมชาตินิยมและสันติภาพโลกของเขานั้นแรงกล้า กระทั่งทางการยังยอมรับเขาในฐานะผู้คัดค้านการทำสงคราม และไม่ต้องถูกเกณฑ์ทหาร ในฐานะผู้คัดค้านโดยอ้างมโนธรรม (Conscientious objector) เช่นเดียวกับศาสนิกผู้รักในวิถีเรียบง่ายหลายๆ กลุ่ม เช่นชาวเควกเกอร์ และชาวแอนาแบพติสต์ที่ไม่ต้องถูกเกณฑ์ไปรบ เซมเพิลจึงสามารถผลักดันปรัชญาและวิถีชีวิตของเขาได้อยางไม่ตะขิดตะขวงใจว่า เป็นคนปากอย่าง (เป็นทหาร) ใจอย่าง (รักสันติ)

เซมเพิลทำการเชื่อมโยงหายนะของสงครามเข้ากับการกินเนื้อและการเกษตรเพื่อป้อนตัณหาที่ลิ้นเอาไว้อย่างน่าสนใจในปาฐกถาเรื่อง “มังสวิรัติกับสงคราม (Vegetarianism and Peace) เมื่อปี 1938 ว่า

“หลายคนอาจตื่นตะลึงกับความเกี่ยวข้องระหว่างสงครามและอาหาร แต่โซเครติสเคยชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์เอาไว้เนิ่นนานมาแล้ว เมื่อเพลโตเสนอกรอบอุดมคติสำหรับประเทศ เขาเสนอว่าอาจจำเป็นจะต้องส่งเสริมการกินอาหารประเภทเนื้อในชุมชนของเขา…

โซเครเตสตอบว่า – เมื่อเจ้าส่งเสริมอาหารประเภทเนื้อ หมายความว่าเจ้าจะไม่มีที่ดินในการเพาะปลูกอาหารและเลี้ยงสัตว์ในเวลาเดียวกัน แล้วเจ้าจะต้องรุกผืนดินของเพื่อนบ้านเพื่อแย่งชิงที่ดินเขามา ซึ่งเขาจะคัดค้าน แล้วเจ้าจะต้องทำสงครามระหว่างกัน นี่คือบทเรียนที่เราได้พบมาในมหาสงครามครั้งก่อน และยังพบเห็นได้ในหลายประเทศที่ไม่อาจเลี้ยงตัวเองได้ จนต้องทะเลาะกับเพื่อนบ้าน”

ปรัชญาของ เซมเพิล เรียบง่ายเหมือนการกระทำของเขา นั่นคือ รับผิดชอบต่อตัวเองและใส่ใจต่อคนอื่นในหนังสือว่าด้วยวิถีเรียบง่าย A Free Man’s Philosophy (ปรัชญาของมนุษย์เสรี) เซมเพิลบอกเล่าประสบกาณ์ในการทำฟาร์มที่เบธ ความสนิทสนมกับสัตว์เลี้ยงในฟาร์มจนเหมือนเป็นญาติสนิทกัน ทัศนะของเขาต่อแนวคิดสังคมนิยม และแนวคิดสหกรณ์ รวมถึงเล่าเรื่องที่เขาไปพบกับมหาตมะ คานธี เจ้าของปรัชญาอหิงสาทางการเมือง ซึ่งตอนนั้นเป็นนักต่อสู้เพื่อเอกราชที่รัฐบาลอังกฤษกลัว แต่คนอังกฤษที่มีใจเป็นธรรมให้ความเคารพรัก

เส้นทางการเป็นนักผลไม้นิยมของเซมเพิลเริ่มต้นในช่วงทศวรรษที่ 10 ในบทความของเขาที่รวบรวมในหนังสือสรรนิพนธ์ว่าด้วยหลักอหิงสา  Here’s Harmlessness: An Anthology of Ahimsa เมื่อปี 1963 เขาเล่าว่า

“ผมเริ่มแบบหักดิบเมื่อ 50 ปีก่อน ไม่ได้แค่เลิกกินเนื้อหรืออาหารคาว แต่ยังเลิกกินนม ไข่ เนย ชา และกาแฟ ผมไม่เคยกินชีส … ต่อมาผมเริ่มกินถั่ว ผลไม้ ธัญพืช และผัก ผมใช้ชีวิตราวกับอยู่ในสวนสวรรค์อีเดนแบบนี้ราวๆ 10 ปี พบว่าสุขภาพและความแข็งแรงของผมดีขึ้น”

ทัศนะของเขาอาจจะดูสุดโต่งไปบ้างในสายตาของใครหลายคน โดยเฉพาะเรื่องไม่ดื่มนมและกินไข่ (เรื่องนี้คนที่กินเจในไทยคงไม่ใช่ปัญหา) เขาบอกเล่าเหตุผลไว้ในวารสาร The Vegetarian Messenger & Health Review เมื่อปี 1912 เอาไว้ว่า “ไข่เกิดขึ้นมาก็เพื่อฟักเป็นไก่ ไม่ใช่เป็นไข่เจียว นมวัวก็เป็นอาหารที่สมบูรณ์แบบที่สุดสำหรับลูกวัว ไม่ใช่สำหรับมนุษย์ที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว”

แต่ที่สุดโต่งกว่าคือแนวคิดเรื่องนิยมผลไม้หรือ “ฟรุตแทเรียน” เขานิยามการดำรงชีวิตด้วยโภชนาการแบบนี้เอาไว้ว่า

“ฟรุตแทเรียนคืออาหารที่มีส่วนประกอบหลักเป็นถั่ว ผลไม้ ไม่จำเป็นจะต้องเลิกกินธัญพืชปรุงสุกและผัก และการเลิกกินอาหารปรุงสุกทั้งหมด เท่าที่ทราบก็คือจะให้ผลดีกว่า สำหรับการกินอาหารแบบนี้ ไม่เพียงแต่ต้องเลิกกินเนื้อ แต่รวมถึงผลผลิตจากสัตว์ด้วย คือนมและไข่ การที่นักมังสวิรัติยังกินของจำพวกนี้อยู่เป็นความขัดแย้งต่อหลักการมังสวิรัติมายาวนาน รวมถึงในหมู่วงการแพทย์”

เขายังเน้นย้ำผลดีต่อสุขภาพไว้ในหนังสือ Joys of the Simple Life (ความสุขแห่งวิถีชีวิตเรียบง่าย) เมื่อปี 1915 เอาไว้ว่า หลังจากเลิกกินเนื้อ กินนม กินไข่แล้ว “สุขภาพของผมดีขึ้นมาก และผมไม่เสียดายกับความเปลี่ยนแปลงนี้เลย”

และเขาบอกว่า

“คนส่วนใหญ่ไม่ได้ตายเองหรอก พวกเขาฆ่าตัวเองด้วยมีดกับส้อม” (ในหนังสือพิมพ์ The Glasgow Herald,  12 ตุลาคม 1953)

คำกล่าวนี้สะท้อนความเชื่อของเขาเรื่องการกินที่เกินขอบเขตเป็นภัยมากกว่าเป็นคุณต่อชีวิต แม้แต่ในยุคของเราเอง การเลี้ยงสัตว์แบบอุตสาหกรรม ก็ทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างเลวร้าย แต่คนส่วนใหญ่หาได้ตระหนักไม่

แม้จะมีวิถีชีวิตไม่เหมือนใครอยู่สักหน่อย แต่ดูกัลด์ เซมเพิล ไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวตลอด เขาเคยมีภรรยาชื่อแคธี แต่เธอเสียชีวิตในปี 1941 ไม่กี่วันหลังจากเยอรมนีทิ้งระเบิดมาหล่นใกล้ๆ กระท่อมของพวกเขาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เคธีกับเซมเพิล ไม่มีลูกด้วยกัน แต่เคธีมีลูกติดชื่อเอียน ซึ่งหายสาบสูญไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1

ดูเหมือนว่าสงครามจะส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อเซมเพิล ไม่น่าแปลกใจที่เขาจะเป็นผู้คัดค้านสงครามและการเกณฑ์ทหารโดยอ้างมโนธรรม เช่นเดียวกับผู้คนบนวิถีเรียบง่ายรายอื่นๆ ทั่วโลก     

มีเรื่องหักมุมนิดหน่อยในช่วงบั้นปลายชีวิตของเซมเพิล เขาไม่ได้ทำตัวซิมเพิลแบบดิบๆ เหมือนตอนยังหนุ่ม ในช่วงท้ายของชีวิตเขาอาศัยอยู่ในบ้านเป็นหลังๆ เหมือนคนทั่วไป และยังมีรถยนต์ส่วนตัว (4) ดูเหมือนจะสวนทางกับวิถีช่วงต้นของชีวิต แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงคือ เจตนารมณ์ไม่เบียดเบียนสัตว์เล็กสัตว์น้อย และถือเนื้อวิรัติ-ผักวิรัติอย่างเคร่งครัด

ดูกัลด์ เซมเพิล (ชาตะ 1884 – มรณะ 1964) ยังคงเป็นไอคอนของนักกินผลไม้เพื่อยังชีพอยู่ตลอดไป

อ้างอิง

  1. Abrams, L. & Brown, C. (2010). A History of Everyday Life in 20th Century Scotland. Sutcliffe, Steven. After ‘The Religion of My Fathers’: The Quest for Composure in the ‘Post-Presbyterian’ Self. Edinburgh University Press. Page 186
  2. Noted Vegetarin Dies at Age 79. (20 January 1964) The Victoria Advocate. Retrieved : 27 March 2019.
  3. “The simple Semple life” (27April 2015). https://www.heraldscotland.com/opinion/13211376.the-simple-semple-life/ Retrieved : 27 March 2019.
  4. Abrams, L. & Brown, C. (2010). A History of Everyday Life in 20th Century Scotland. Sutcliffe, Steven. After ‘The Religion of My Fathers’: The Quest for Composure in the ‘Post-Presbyterian’ Self. Edinburgh University Press. Page 189

ภาพประกอบ

  1. หนังสือและภาพถ่ายของเซมเพิล จาก The Ernest Bell Library
  2. แนวคิดเพื่อสุขภาพของ เซมเพิล ในหนังสือของเขาชื่อ Diet And Good Health ปี 1922
  3. โรงสีของเซมเพิลที่ถูกปล่อยทิ้งร้าง ภาพโดย Rosser1954
  4. Theflyingtortoise

Related posts

Shakers คนสุดท้าย

The God Revolution วิถีเกษตรที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ

‘โรเบิร์ท ฮาร์ท’ นักปรัชญาแห่งป่าสวน