‘โรเบิร์ท ฮาร์ท’ นักปรัชญาแห่งป่าสวน

Forest gardening หรือการทำสวนเสมือนหนึ่งปลูกป่า เป็นวิธีการทำเกษตรแบบบุพกาลที่แพร่หลายในเอเชีย เป็นการปลูกพืชผักที่อิงกับระบบนิเวศเกษตร (Agroecosystem)กล่าวคือเป็นการทำเรือกสวนไร่นาที่อิงกับสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติในพื้นที่นั้นๆ แทบไม่มีการกำหนดพืชที่เป็นศัตรูต่อกัน มีแต่พืชที่เอื้อเฟื้อต่อกัน และแบ่งปันผลผลิตและเรือนร่างของมันแก่มนุษย์

มันคือแนวคิดการทำเกษตรแบบ “หนึ่งคือทั้งหมด ทั้งหมดคือหนึ่ง”

การทำเกษตรแบบสวนป่ายังนิยมทำกันในดินแดนที่ถูกเรียกว่าเป็น “โลกที่สาม” เช่น อินเดียใต้ เนปาล แซมเบีย และศรีลังกา แม้จะด้อยพัฒนาทางวัตถุ แต่รุ่มรวยด้วยองค์ความรู้ด้านการเกษตรที่ยั่งยืน

ประเทศโลกที่สาม” เหล่านี้มีสภาพอากาศแบบร้อนชื้น ซึ่งมีความหลากหลายด้านพืชพันธุ์และสรรพชีวิต เราจะเห็นภาพการเกื้อกูลกันระหว่างพืช สัตว์ และคนได้ง่ายมากในโลกเขตร้อน

แต่ Forest gardening ก็เกิดในดินแดนอบอุ่น หรือซีกโลกเหนือได้เหมือนกัน

ผู้ที่ริเริ่มนำเกษตรสวนป่ามาเผยแพร่ในซีกโลกเหนือคือนักพืชสวนชาวอังกฤษ ชื่อ โรเบิร์ท ฮาร์ท (Robert Hart)

ฮาร์ท เกิดที่ลอนดอน แรกเริ่มเดิมทีเขาทำงานในสำนักข่าวรอยเตอร์สในฐานะผู้ติดตามข่าวจากอินเดีย ซึ่งในขณะนั้นเป็นอาณานิคมอังกฤษ แต่เพราะหน้าที่นี้ ทำให้เขารับรู้ถึงการต่อสู้ของมหาตามะ คานธี และหลักอหิงสา รวมถึงหลักการดำรงชีวิตที่เรียบง่ายของคานธีไปโดยปริยาย

ตอนแรกนั้นเขาถือหลักอหิงสา ต่อต้านความรุนแรงและสงคราม แต่หลังจากที่อังกฤษพบกับความปราชัยอันน่าอดสูที่ดังเคิร์ก ทำให้เขาต้องเปลี่ยนใจ และเข้าร่วมกับกองทัพ โดยทำงานในหน่วยข่าวกรอง และเอาชีวิตรอดจากสงครามโลกครั้งที่ 2 มาได้

แม้จะเลิกเป็นนักอหิงสา (เพราะความรักชาติ) แต่ดูเหมือนว่าในตัวเขายังมีส่วนหนึ่งของมหาตมะ คานธี หลงเหลืออยู่ นั่นคือความปรารถนาที่จะอยู่อย่างเรียบง่ายแบบ Simple living

เขาซื้อที่ดินแปลงเล็กๆ เพื่อทำฟาร์มขนาดย่อม ที่เวนล็อคเอดจ์ ในแคว้นชรอปเชียร์ ตั้งชื่อฟาร์ม ว่า Highwood Hill เพื่อใช้ที่นี่เป็นสถานที่พักฟื้นร่างกายและจิตใจสำหรับตัวเขาและน้องชายที่ป่วยด้วยอาการทางสมอง

การทำฟาร์มมันไม่ง่าย แม้จะเป็นที่ดินแปลงเล็ก ฮาร์ท กลับพบว่าตัวเขาคนเดียวไม่สามารถที่จะดูแลงานปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ได้ เพราะมันเป็นงานที่เกินกำลังความสามารถ

แต่สวรรค์ยังเข้าข้างเขา เพราะ ฮาร์ท สังเกตเห็นว่าผักและพืชเครื่องปรุงกระหย่อมหนึ่งที่เขาปลูกไว้ สามารถเติบโตได้ด้วยตัวเอง โดยให้ความใส่ใจเพียงเล็กน้อย และยังเป็นพืชที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพทั้งสิ้น

ฮาร์ท จึงทำการทดลองในพื้นที่เพียง 500 ตารางเมตร หรือประมาณ 0.3 ไร่  ในฟาร์มของเขา เพื่อทดลองสร้างพื้นที่เกษตรที่มีระบบนิเวศน์คล้ายป่า ให้พืชช่วยดูแลกันเอง และพืชที่เติบโตในผืนนั้นไม่ใช่ศัตรูของกันและกัน และเป็นปฏิปักษ์ต่อมนุษย์ พวกมันต้องเป็นสิ่งที่เกื้อหนุนชีวิตทุกประเภท

เขาเริ่มสังเกตปฏิสัมพันธ์และความเกี่ยวพันระหว่างพืชและระบบธรรมชาติ โดยเฉพาะระบบนิเวศน์ของป่าเขตอบอุ่น จนทำให้เขาได้แนวคิด Forest gardening ของป่าเขตอบอุ่น

Forest gardening ของเขตอบอุ่นมี “ชั้น” หรือ Storeys ที่ถูกกำหนดไว้โดยผู้ปลูก เพื่อสร้างดุลระหว่างพืชเกษตรและความเป็นป่าขนาดย่อม โดย ฮาร์ท ดัดแปลงสวนแอปเปิลและสวนลูกแพร์เพื่อทำการทดลอง

ชั้น” ที่ว่านี้ประกอบไปด้วย

  1. ร่มไม้ (canopy) คือไม้ยืนต้นดั้งเดิม ในที่นี้คือต้นแอปเปิลและแพร์ในสวนของฮาร์ท
  2. ไม้เตี้ย (low-tree layer) คือไม้ที่ให้ผลประเภทถั่วหรือไม้ให้ผลที่ปลูกจากกิ่งตอน
  3. ไม้ร่ม (shrub layer) เช่น ต้นเบอร์รี่
  4. พืชผัก (herbaceous layer) พืชจำพวกผักและพืชที่เป็นสมุนไพรหรือเครื่องปรุง
  5. พืชคลุมดิน (ground cover) พืชกินได้ซึ่งปกคลุมหน้าดินไม่ได้ขึ้นเป็นต้นตั้งตรง
  6. พืชราก (rhizosphere) หรือพืชกินหัว
  7. ไม้เลื้อย ( vertical layer) คือไม่ที่เติบโตโดยเลื้อยไปตามแนวดิ่ง

แน่นอนว่า ทฤษฎีของเขาประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่ง และทำให้ฮาร์ท เป็นประหนึ่งบิดาแห่งป่าสวนของซีกโลกเหนือ เป็นนักทดลองจากชีวิตจริง และดำรงชีวิตอย่างแนบแน่นกับหลักปรัชญาที่ตัวเองนำเสนอ ผ่านหนังสือ  Forest Gardening ที่เผยแพร่เมื่อปี 1996

ฮาร์ท กล่าวว่า เห็นได้ชัดว่าเราเพียงไม่กี่คนที่มีความสามารถในการฟื้นฟูป่า แต่เราหลายสิบล้านคนมีสวน หรือสามารถเข้าถึงพื้นที่เปิดโล่ง เช่น เขตอุตสาหกรรมที่รกร้าง ซึ่งสามารถปลูกต้นไม้ได้ … และหากมีการใช้จุดได้เปรียบในเรื่องนี้อย่างจริงๆ จังๆ แล้ว เรายังสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่มีอาคารหนาแน่นได้ ก็จะเกิด “ป่าในเมือง” ขึ้นได้

ที่สำคัญก็คือ ฮาร์ท เริ่มเปลี่ยนวิถีชีวิตโดยหันมารับประทานอาหารมังสวิรัติ และในสัดส่วน 90% เป็นอาหารสดและดิบ อาหารหลักที่ได้จากเกษตรสวนป่าของเขา คือ ผักใบเขียว ถั่ว และผลไม้ สวนของเขาจึงเป็นแหล่งผลิตอาหารมังสวิรัติแบบออร์แกนิก

สำหรับชาว Simple living การกินอยู่ต้องไม่เป็นอันตรายกับตัวเองและไม่ทำลายสรรพชีวิตรอบๆ ตัวเขาด้วย

เกษตรแบบสวนป่าจะเป็นด้านตรงข้ามของเกษตรอุตสาหกรรม แต่ใช่ว่ามันจะเป็นศัตรูต่อกัน เพราะในโลกที่มีมนุษย์หลายพันล้านคน อุตสาหกรรมการผลิตอาหารย่อมเป็นเรื่องจำเป็น เพียงแต่ในอนาคตได้แต่หวังว่า เกษตรอุตสาหกรรมจะเรียนรู้เรื่องความยั่งยืนและความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้นกว่านี้

Related posts

ความหวังจาก ‘คาร์บอนเครดิต’หนึ่งในอาวุธ สู้วิกฤตโลกรวน

ภาวะโลกร้อนเขย่าวิกฤตอาหารโลก ผลผลิตลด คนหิวโหย อันตรายถึงชีวิต

ถ้าบริหารจัดการน้ำเหมือนปี 54วิกฤตอุทกภัยอาจเลวร้ายยิ่งกว่า