‘หยวกกล้วยเอธิโอเปีย’ ช่วยได้ พืชทางเลือกรับมือภูมิอากาศป่วนสุดยอดอาหารเลี้ยงคนนับร้อยล้าน

ประเทศที่ร้อนตับแตกตลอดเวลาเหมือนเมืองไทยอาจจะรู้สึกแค่ว่ามันร้อนมากกว่าเดิม (นิดหน่อย) แต่ส่วนใหญ่คงไม่รู้ว่า เมื่อสภาพภูมิอากาศโลกปั่นป่วนมันไม่ได้ทำให้แค่ร้อนขึ้น แต่ยังทำให้อุณภูมิไม่เหมาะกับการเพาะปลูกพืช เกิดฝนตกหนักน้ำท่วมทำลายพืชผล และผู้คนจะอดอยากหลายพันล้านคน

ชาวเอธิโอเปียกำลังจัดการกับต้นกล้วยประจำถิ่นเพื่อนำมาปรุงอาหารเครดิตภาพ: Italian boy / wikipedia

จากตัวเลขล่าสุด หากอุณหภูมิของโลกสูงขึ้น 4 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม จะมีผู้คนมากถึง 1,800 ล้านคนต้องอดอยากหิวโหย การวิจัยเมื่อหลายปีก่อนระบุว่ามีโอกาส 90% ที่ผู้คน 3,000 ล้านคนจะต้องเลือกระหว่างทนหิวโหยหรืออพยพครอบครัวไปยังดินแดนที่สภาพอากาศไม่รุนแรงภายใน 100 ปี

หน้าตาของเมนู “โคโช” หรืออีกอย่างเรียกว่า “บูลลา” ของชาวเอธิโอเปีย

ไม่ต้องอะไรมาก ข้อมูลล่าสุดจากออสเตรเลียพบปลาดาวชนิดหนึ่ง (Pentaceraster regulus) ที่ตามปกติอาศัยอยู่ในเขตร้อน มันกลับไปปรากฏตัวในน่านน้ำที่เย็นกกว่าห่างจากถิ่นเดิมของมันถึง 600 กิโลเมตร และไม่น่าจะใช่เรื่องของการพลัดถิ่นโดยบังเอิญ แต่เป็นสัญญาณเตือนว่าโลกร้อนขึ้นจนสัตว์เริ่มอพยพหนีกันตายแล้ว

ดูจากสภาพปัจจุบันแล้ว ความหวังในการต่อสู่กับภาวะโลกร้อนเริ่มริบหรี่ลงมาก หลายคนจึงเริ่มปั้น “แผน B” ขึ้นมารองรับสถานการณ์ หนึ่งในนั้นคือการหาอาหารที่ทนทานต่อภาวะโลกร้อน มีสารอาหารสูง และสาารถเลี้ยงคนได้เป็นล้านหรือหลายร้อยล้านคนโดยไม่ต้องกังวลว่าปัญหาโลกร้อนจะทำให้มันล้มตาย

จากการศึกษาใหม่ชี้ให้เห็นว่า ญาติพืชของกล้วยซึ่งพบในเอธิโอเปียเท่านั้นที่จะมีศักยภาพที่จะเลี้ยงผู้คนมากกว่า 100 ล้านคนในสภาพแวดล้อมที่ร้อนขึ้น มันมีชื่อว่า “Enset” (เอ็นเซ็ต) หรือที่เรียกว่า “กล้วยปลอม” เป็นพืชเนื้อแป้งที่เป็นอาหารหลักในเอธิโอเปีย ดินแดนที่ผ่านความแห้งแล้ง และความอดอยากมาหลายต่อหลายครั้ง

ต้นเอ็นเซ็ต (Ensete ventricosum) พบตามป่าที่มีฝนตกชุกบนภูเขาและตามหุบเหวและลำธารกลางป่า มีลักษณะเหมือนต้นกล้วยอย่างมาก มีลูกที่ดูเหมือนกล้วยหักมุกลูกใหญ่ ๆ หรือหัวปลีแก่ ๆ เพียงแต่มันกินไม่ได้แถมยังมีเมล็ดแข็ง มาถึงตอนนี้แล้วหลายคนอาจจะสงสัยว่าตกลงจะให้กินมันยังไง?

คำตอบคือ “กินต้นและรากของมัน” นั่นเอง โดยเฉพาะเนื้อเยื่อที่อ่อนนุ่มที่อยู่ตรงกลางหรือใจกลางสามารถนำมารับประทานได้ คล้าย ๆ กับ “หยวกกล้วย” (แต่หยวกกล้วยมีคุณค่าอาหารต่ำกว่ามาก) ซึ่งมีรสชาติอร่อยและมีคุณค่าทางโภชนาการ รสชาติคล้าย ๆ กับแกนกลางของต้นปาล์มและปรง

คนท้องถิ่นจะนำเอาแกนหยวกมาตำให้แหลกละเอียดและหมักชิ้นส่วนที่บดแล้วกลายเป็นอาหารที่เรียกว่า “โคโช” อีกอย่างเรียกว่า “บูลลา” ทำมาจากของเหลวที่คั้นออกมาจากแกนหยวก บางครั้งก็กินเป็นโจ๊ก ส่วนเนื้อหยาบจะถูกแช่ในน้ำให้ตกตะกอนก็จะกลายเป็นแป้ง จากนั้นจะนำไปนวดและรีดให้แบนและอบบนกองไฟเหมือนโรตี

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) รายงานว่า “เอ็นเซ็ตให้ปริมาณอาหารต่อหน่วยพื้นที่มากกว่าธัญพืชส่วนใหญ่ คาดว่าเอ็นเซ็ต 40 ถึง 60 ต้นในพื้นที่ 250–375 ตารางเมตร เพียงพอที่จะบริโภคในครอบครัวจำนวน 5 ถึง 6 คน”

นักวิจัยจากเอธิโอเปียและสหราชอาณาจักรกล่าวว่า พืชผลดังกล่าวมี “ศักยภาพที่สำคัญ” ในการแก้ปัญหาความมั่นคงด้านอาหารและการพัฒนาที่ยั่งยืนทั่วแอฟริกา ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมันยังสามารถเลี้ยงคนได้มากกว่า 100 ล้านคนในช่วง 40 ปีข้างหน้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านอาหารในแอฟริกา

เรื่องนี้เป็นแผน B ของแท้ เพราะนักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคาดว่าจะ “ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผลผลิตและการกระจายของพืชผลหลัก” ทั่วแอฟริกา และกล่าวว่าการดำเนินการส่งเสริมการเพาะปลูกเอ็นเซ็ตสามารถช่วยบรรเทาผลกระทบเหล่านั้นได้

รายงานชี้ว่า “สายพันธุ์ที่ยืดหยุ่นและให้ผลผลิตสูง เช่นเอ็นเซ็ตเป็นหนทางเดียวในการปรับปรุงความมั่นคงด้านอาหารในท้องถิ่น ในขณะที่ลดการขยายพื้นที่เพาะปลูกและทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมอาจสูงที่สุดในช่วงที่มีความเสี่ยงร้ายแรง”

ปัญหาในตอนนี้คือ เอธิโอเปียมีกฎหมายห้ามนำพืชพันธุ์ท้องถิ่นออกนอกประเทศ ซึ่งคงต้องหาทางเจรจากันต่อไป อีกปัญหาคือการปลูกเอ็นเซ็ตต้องใช้องค์ความรู้ท้องถิ่นมาช่วย รวมถึงปัญหาสำคัญที่สุดคือ จะทำให้ผู้คนท้องที่อื่นยอมรับแหล่งอาหารประเภทใหม่ได้อย่างไร? แต่นี่เป็นเรื่องของ “แผน B” ที่ยังพอมีเวลาขบคิดกันได้

แน่นอนว่ามันไม่ใช่อาหารที่เหมาะกับคนไทย แต่อาจเป็นทางออกให้กับผู้คนที่จะต้องอดอยากหิวโหยนับพันล้านคนในอนาคตอันใกล้ ซึ่งสภาพอากาศไม่เหมาะกับการปลูกธัญพืชอีก รวมถึงการบาดเจ็บล้มตายจากการแย่งชิงแหล่งน้ำที่อาจทำให้เกิดสงครามระหว่างประเทศได้

อ้างอิง:
• Brooklyn Neustaeter. (January 21, 2022). “Banana-like crop could feed more than 100 million people, study finds”. CTVNews.ca.
• Catherine Brahic (January 8, 2009). “Billions could go hungry from global warming by 2100”. New Scientist.
• Wikipedia contributors. “Ensete ventricosum.” Wikipedia, The Free Encyclopedia. Wikipedia, The Free Encyclopedia, 22 Jan. 2022. Web. 23 Jan. 2022.

Related posts

ฆาตกรเงียบ UN เตือนภัย ‘คลื่นความร้อน’ ถี่ขึ้น เตรียมรับมือ

EU จ่อใช้ ‘คาร์บอนเครดิต’ ต่างชาติ ลดเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปี 2040

CIB บุกยึด ‘เต่าดาวอินเดีย-ปลามังกร’ ลักลอบชายแดน มูลค่า 2 ล้านบาท