‘PES’ กลไกเศรษฐกิจสีเขียว ฟื้นธรรมชาติยั่งยืน

รู้จัก “PES” กลไกเศรษฐกิจรักษาป่า-ลดไฟป่า ให้ผู้ได้รับประโยชน์จ่ายค่าตอบแทนระบบนิเวศ กลไกใหม่เพื่อธรรมชาติและชุมชน

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัญหาไฟป่าที่ลุกลามป่าต้นน้ำของไทยไม่เพียงแต่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ แต่ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสุขภาพของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจรุนแรงขึ้นทุกปี ประเทศไทยจึงมีแนวคิด “กลไกการจ่ายค่าตอบแทนบริการระบบนิเวศ” หรือ PES (Payment for Ecosystem Services) มาใช้เป็นเครื่องมือใหม่ในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

ดร.บัณทูร เศรษฐศิโรฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม อธิบายว่า กระแสคาร์บอนเครดิตทำให้สังคมมองป่าในมุมเดียวคือเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน แต่แท้จริงแล้ว ป่าเป็นแหล่งผลิตขนาดใหญ่ เช่น ให้อาหาร น้ำสะอาด อากาศดี เราจึงควรมีกลไกให้ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้มารักษาธรรมชาติไว้ให้ไม่เสื่อมโทรม 

คณะทำงาน PES

สำหรับ Payment for Ecosystem Services เป็นแนวคิดทางเศรษฐกิจที่ผู้ได้รับประโยชน์จากการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จ่ายเงินหรือสนับสนุนทรัพยากรให้แก่ผู้ที่ดูแลระบบนิเวศ ซึ่งตรงข้ามกับแนวคิดของตลาดคาร์บอนที่ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย 

อีกทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศไทย ที่มีทรัพยากรเงินและบุคลากรภาครัฐอยู่อย่างจำกัด และมักติดขัดเรื่องกฎระเบียบทำให้การทำงานเชิงป้องกันล่าช้า

“ชาวบ้านในพื้นที่คือคนสำคัญในฐานะ นิเวศบริกร ซึ่งมีความเข้าใจในพื้นที่และอยู่ร่วมกับป่ามาเนิ่นนาน ความขัดแย้งเรื่องพื้นที่ทำกินกับพื้นที่อุทยาน จะเบาบางลงได้เมื่อเรามีเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มาพิสูจน์ได้ว่า ควรให้คนอยู่กับป่า ยกตัวอย่างบนดอยสุเทพที่มีไฟไหม้ทุกปี แต่มีจุดหนึ่งที่ไม่มีไฟไหม้มา 5 ปีแล้ว คือบริเวณรอบ ๆ บ้านปงเหนือ เพราะชาวบ้านใช้กระบวนการชิงเผาลดเชื้อเพลิงใบไม้ จัดหน่วยลาดตระเวน ติดตั้งกล้องคอยจับคนจุดไฟ และกำลังพัฒนาการทำป่าเปียก ทุกอย่างที่ชาวบ้านทำล้วนมีต้นทุน แต่นับว่าคุ้มค่ากว่ามากเมื่อเทียบกับการใช้งบประมาณเพื่อดับไฟ เราจึงต้องการกลไกการเงินมาสนับสนุนเหล่านิเวศบริกร”

ในต่างประเทศ แนวคิดนี้ถูกพัฒนามานานกว่า 30 ปี ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ รัฐบาลอังกฤษพัฒนาแนวคิด Natural Capital หรือการมองธรรมชาติในฐานะ “สินทรัพย์ทางเศรษฐกิจ” ที่มีมูลค่าแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ แม่น้ำ หรือระบบนิเวศต่าง ๆ โดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ขับเคลื่อนการเก็บเงินจากผู้ได้รับประโยชน์จากการอนุรักษ์ เช่น บริษัทที่ปล่อยคาร์บอนสามารถจ่ายเงินให้โครงการปลูกป่า บริษัทน้ำดื่มจ่ายเงินให้เกษตรกรเพื่อไม่ใช้สารเคมีที่ปนเปื้อนแหล่งน้ำต้นทาง เมืองใหญ่จ่ายเงินให้โครงการฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวเพื่อลดความเสี่ยงจากน้ำท่วม

บ้านแม่สาน้อย เชียงใหม่

ด้านนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานคณะกรรมการแผนงานวิจัยมุ่งเป้า ลดปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือ 8 จังหวัด สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ความสามารถฟื้นฟูป่าที่สามารถวัดผลได้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์นี้ กำลังจะถูกพัฒนาต่อด้วยการใช้ remote sensing ตรวจวัดติดตามใกล้ชิดมากขึ้น และจะนำไปสู่การสนับสนุนจากภาคเอกชนหรือประชาสังคมที่เข้มแข็ง พ้องกับหลักการ PES ที่ช่วยอุดหนุนผู้ที่ช่วยฟื้นฟูรักษาระบบนิเวศ ซึ่งเราชาวเมืองเองต่างก็ได้ประโยชน์ทุกคนทั้งจากอากาศสะอาด ป่าต้นน้ำฟื้นตัว หน้าดินไม่ทะลายลงมาจากที่สูง และเป็นที่กักเก็บคาร์บอนลดโลกร้อน รวมถึงเป็นพื้นที่สงวนและรักษาความหลากหลายทางชีวภาพให้กับระบบนิเวศ

ล่าสุด คณะทำงานฯ ได้ลงพื้นที่บ้านแม่สาน้อย ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เพื่อศึกษาความสำเร็จของผู้นำชาวม้งในเขตอุทยานดอยสุเทพ-ปุย ที่ร่วมกับ 13 หมู่บ้านใกล้เคียงฟื้นฟูป่าต้นน้ำและจัดการไฟป่าอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการปลูกพืชท้องถิ่นกว่า 30 ชนิด จนฟื้นความหลากหลายทางชีวภาพได้เกือบ 100 สายพันธุ์ พร้อมใช้เทคโนโลยีและกฎชุมชนควบคุมไฟป่าอย่างเข้มแข็ง แนวทางนี้เตรียมต่อยอดสู่การรับการสนับสนุนตามหลัก PES เพื่อให้ผู้ดูแลระบบนิเวศได้รับค่าตอบแทนจากประโยชน์ที่ส่งถึงคนเมืองทั่วประเทศ

————–

เขียนโดย ธันยมัย อนันตกรณีวัฒน์

Related posts

คาดอุณหภูมิสุดขั้ว ทำ ‘สเปนโปรตุเกสไฟดับ’ ครั้งใหญ่

‘ลากไส้หมูเถื่อน’ ทลายโกดังลอบเก็บ มูลค่ากว่า 10 ล้าน เสี่ยงสารเคมี

‘นครพนมโมเดล’ โดรนเพื่อการเกษตร ลดต้นทุน 5,000 บาท/ไร่