พะยูนไทยฟื้น พบ 25 ตัวเกาะลิบง สัญญาณหญ้าทะเลสมบูรณ์

“เฉลิมชัย” ปลื้มพบ พะยูนไทย 25 ตัว หากินเกาะลิบง-มุกด์ จ.ตรัง สะท้อนความสำเร็จฟื้นฟูหญ้าทะเล ขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมอนุรักษ์ ขอสานต่อให้พะยูนคู่ทะเลไทย

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เปิดเผยระหว่างลงพื้นที่ตรวจติดตามการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายหาดในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ถึงกรณีที่ศูนย์ศึกษาและวิจัยอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 (ตรัง) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) สำรวจพบ พะยูนถึง 25 ตัว เข้ามาหากินหญ้าทะเลบริเวณเกาะลิบง และเกาะมุกด์ ในทะเลตรัง ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีของความพยายามแก้ไขปัญหาวิกฤตพะยูนและหญ้าทะเล

ดร.เฉลิมชัย กล่าวว่า การที่พบพะยูนสุขภาพดี กลับมาหากินที่บริเวณเกาะลิบง และเกาะมุกด์ เป็นจำนวนมากเช่นนี้ แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งหญ้าทะเล ที่เป็นแหล่งอาหารหลักของพะยูน ซึ่งจากการสำรวจพบว่าหญ้าทะเลในพื้นที่ดังกล่าว มีการเติบโตและขยายตัวจากการแตกยอดอ่อน รวมถึงพะยูนที่พบ ก็มีพะยูนแม่ลูก ที่แสดงให้เห็นว่า พะยูนในทะเลไทย ยังคงมีการขยายพันธุ์ เป็นแนวโน้มที่ดี และเป็นกำลังใจให้กับทุกฝ่ายในการร่วมกันอนุรักษ์ดูแลพะยูน รวมถึงอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลตามธรรมชาติให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อให้ยังคงมีพะยูนอยู่คู่กับทะเลไทยต่อไป

หญ้าทะเล

“ความสำเร็จที่เกิดขึ้นต้องขอขอบคุณความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งกรมอุทยานฯ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ตลอดจนพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และกลุ่มเครือข่ายต่างๆ  ที่ร่วมมือกันดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาวิกฤตพะยูนและหญ้าทะเลอย่างจริงจัง ตลอด 4-5 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่ที่ได้มีการลงไปพบปะพูดคุยกันที่เกาะลิบง เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2567” ดร.เฉลิมชัย กล่าว

ดร.เฉลิมชัย ฝากทิ้งท้าย ขอให้ยังคงมุ่งมั่นร่วมมือกันทำงานอย่างเข้มแข็ง เพื่อรักษาแหล่งหญ้าทะเลให้มีความมั่นคงสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และรักษาจำนวนประชากรพะยูนในทะเลภาคใต้ของไทยให้มีมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของพี่น้องชุมชนในท้องถิ่น

พบพะยูนเกาะลิบงเพิ่ม 25 ตัว

สถิติพะยูนในท้องทะเลไทย

  • ปี 2565: กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) รายงานพบพะยูน 273 ตัว แบ่งเป็นฝั่งอันดามัน 242 ตัว และอ่าวไทย 31 ตัว แสดงแนวโน้มประชากรเพิ่มขึ้น แต่มีอัตราการตายสูง โดยพบพะยูนเกยตื้นตาย 18 ตัว ส่วนใหญ่ป่วยจากภาวะขาดอาหาร
  • ปี 2567: พบพะยูนตาย 36-48 ตัว โดยเฉพาะในทะเลอันดามัน สาเหตุหลักคือการสูญเสียแหล่งหญ้าทะเล ส่งผลให้พะยูนอพยพจากเกาะลิบงไปยังกระบี่และภูเก็ต
  • ปี 2568 (ม.ค.-เม.ย.): พบพะยูนตาย 3 ตัว และล่าสุดพบฝูงพะยูน 21-25 ตัวที่เกาะลิบงและเกาะมุกด์ สะท้อนความสำเร็จของการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล

ปัจจุบันคาดว่า ประชากรพะยูนในไทยเหลือประมาณ 200-250 ตัว อัตราการตายเฉลี่ย 12-20 ตัวต่อปี สาเหตุหลักคือขาดแหล่งอาหารจากหญ้าทะเลลดลง มลพิษ และภัยจากเครื่องมือประมง 

เกาะลิบงเคยเป็น “เมืองหลวงพะยูน” ด้วยประชากรกว่า 100 ตัว แต่ปัจจุบันลดลงเหลือไม่ถึง 10 ตัว เนื่องจากหญ้าทะเลเสื่อมโทรม การพบพะยูน 25 ตัวในปี 2568 เป็นสัญญาณบวก แต่ยังต้องเร่งฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลและลดภัยคุกคามเพื่อรักษาประชากรพะยูนให้ยั่งยืน

Related posts

ศุลกากรสกัด ‘ครีบปลาฉลาม’ 402 ชิ้น มูลค่ากว่า 2 ล้านบาท

‘โรคแอนแทร็กซ์’ ระบาดไทย ผวาซ้ำ หลังพบวัวตายปริศนา

ปี 2025 สัญญาณอันตราย
อุณหภูมิโลกจ่อทำลายสถิติเก่า