รู้จักปล่อยวางความปวด

Part 9 รู้จักปล่อยวางความปวด

พระไพศาล วิสาโล บอกว่า ถ้าทำได้ให้ปล่อยวางความปวด หลายคนฟังแล้วงง ความปวดเนี่ยฉันไม่ชอบอยู่แล้ว ไม่ต้องบอกฉันก็อยากจะปล่อยวาง แต่มันปล่อยวางไม่ได้ แต่ให้สังเกตนะ ความโกรธเราไม่ชอบ แต่เรามักไปจดจ่ออยู่ที่ความปวด ตรงไหนปวดเรามักจะไปจดจ่อตรงนั้น

เวลาเราปวดหัว ทั้งที่ร่างกายส่วนอื่นปกติดี แต่ใจมันไปจดจ่อที่ปวด อันนี้เรียกว่า เป็นเพราะใจไปยึดติดความเจ็บปวดเอาไว้ ธรรมชาติของใจ ยิ่งไม่ชอบอะไรมันยิ่งยึดติด ใครชมเราๆ จะไม่ค่อยจำๆ ไม่ค่อยได้ แต่ใครด่าเรามักจำแม่นเหลือเกิน

มีคนชมเรา 99 คน มันไม่มีน้ำหนักเท่ากับคนด่าเราหนึ่งคน ถ้าชมเราในคอมเมนต์ในเฟซบุ๊ก เราไม่อ่าน แต่คนที่ด่าเราหนึ่งคน กลับมาอ่านอยู่นั่นแหละ แปลว่า เราจดจ่อยึดติดกับคนที่ต่อว่าเรากับคำต่อว่าด่าทอ

ความเจ็บปวดก็เหมือนกัน เราไม่ชอบ แต่เราไปยิดติด เหมือนเสียงริงโทน เสียงโทรศัพท์ดังในห้องนี้ ทั้งที่เสียงมันเบากว่าเสียงอาตมา แต่เราจะไปจดจ่ออยู่ที่เสียงนั้น ยิ่งเอาหูไปฟังเสียงโทรศัพท์ก็ยิ่งฟังอาตมาไม่รู้เรื่อง เพราะมันไปจดจ่ออยู่ตรงนั้นเต็มที่ เพราะอะไรเพราะไม่ชอบ แล้วทำไมไปจดจ่อทั้งที่ไม่ชอบ ก็เพราะความหลง

จะว่าเป็นเพราะสัญชาตญาณก็ได้ สัญชาตญาณของมนุษย์มันจะไวต่อสิ่งสิ่งที่คิดว่าเป็นอันตราย เช่น เสือ งูพิษในป่า ถ้ามีเสียกรอบแกรบ เราจะจดจ่อตรงนั้น เพื่อดูว่ามันอะไร การที่เราจดจ่อกับสิ่งที่เราคาดว่าเป็นอันตรายต่อเราทำให้มนุษยชาติอยู่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้

ถ้าไม่จดจ่อไม่ระแวงก็อาจจะตายไปแล้วก็ได้ แต่ว่าความระแวง การจดจ่อภยันตราย มันทำให้เราอยู่รอดได้จนทุกวันนี้ นี่คือสัญชาตญาณที่มันฝังไว้ในใจเรา

เวลาเราเจอทุกขเวทนา เราจดจ่อเพื่อจะผลักมันไป เหมือนกับเรารู้ว่าตรงไหนมีงูเราจะหนี แต่ว่าของบางอย่างมันหนีไม่ได้ เช่น ความเจ็บปวดจากโรคบางโรค การจดจ่อนั้นมันจึงไม่ช่วยอะไรเราเลย แต่กลับทำให้เราทุกข์มากขึ้น

ลืมความเจ็บปวดด้วยการดูลมหายใจ

เราสามารถปล่อยวางความเจ็บปวดได้ วิธีหนึ่งคือ การมีสมาธิ เวลาเราโดนยุงกัด เวลาเราโดนมดกัด แต่บางทีเราไม่รู้สึกปวดเลย เพราะตอนนั้นใจเราไปจดต่ออยู่กับเกมออนไลน์หรือโทรศัพท์มือถือ หรือว่าโซเชียลมีเดีย เราเรียกอาการแบบนี้ว่า “ลืมปวด” เพราะมีสิ่งที่จดจ่อดึงดูดใจเรามากกว่า

เราก็เอาวิธีนี้มาใช้ในการดูลมหายใจ จดจ่ออยู่กับลมหายใจ จะทำให้เราลืมปวดที่ท้อง การที่ครูบาอาจารย์แนะนำเรื่องการให้มีสมาธิกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งสำคัญ และบางอย่างมันทำให้เกิดความมหัศจรรย์ขึ้นได้

คุณหมออมรา มลิลา (อดีตกุมารแพทย์ของโรงบาลรามาธิบดีผู้เคยรับรางวัลสตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนาจากองค์การสหประชาชาติในวัดสตรีสากลเมื่อปี 2549 ) เล่าว่า เคยไปเยี่ยมผู้ป่วยคนหนึ่งเป็นอาจารย์ คุณหมอก็ไม่ได้รู้จักดี

อาจารย์ท่านนี้ก็อายุ 40 กว่า เป็นมะเร็ง แล้วมะเร็งมันลามไปถึงกระดูก ปวดมากเลย มอร์ฟีนก็ไม่อยู่

ปวดกระทั่งนอนไม่ได้ นั่งไม่ได้ อยู่ในสภาพเหมือนงอก่องอขิง ปวดปากซีดเลย คุณหมอเห็นก็อยากจะแนะนำว่าลองทำสมาธิดูไหม ผู้ป่วยบอกว่า ผมทำไม่เป็นครับ ทำยังไง หมอก็เลยแนะนำว่า ให้ลองตามลมหายใจ หายใจเข้าพุทธ หายใจออกก็โธ

คนไข้ก็ถามว่า ทำนานเท่าไหร่ครับ คุณหมอบอกว่า เท่าไหร่ก็ได้ 5 นาทีก็ได้ เท่าที่ทำได้ คุณหมอก็เลยชวนทำ ทำพร้อมกัน 5 นาทีแรกได้ยินเสียงฟืดฟาดๆ เพราะคนไข้หายใจไม่สะดวก แต่หลังจากนั้นเสียงก็เงียบไป คุณหมอคิดว่า คนไข้เลิกทำแล้ว ลืมตาดูก็ยังทำอยู่ แต่เสียงฟืดฟาดมันหายไป ลมละเอียดขึ้น

เวลาผ่านไป 10 นาทีก็แล้ว 20 นาทีก็แล้ว 30 นาทีก็แล้ว จน 50 นาที คนไข้พอลืมตาขึ้นเหมือนเป็นคนใหม่เลยหน้าตาแจ่มใส ความรู้สึกปวดหายไปเยอะ ปากเป็นสีชมพู คนไข้อัศจรรย์มาก คุณหมอก็ประหลาดใจว่า ในเมื่อไม่เคยทำสมาธิ ทำไมทำได้ดี ขนาดคนทั่วไปแม้ไม่ป่วยก็ทำได้ไม่เกิน 5 นาที แต่นี่ทำตั้ง 50 นาที

คนไข้ก็บอกว่า ผมคงมีสมาธิกับงาน เวลาทำงานมีสมาธิกับการทำงาน สมาธิกับตามลมหายใจตัวเดียวกันแหละนี่เป็นตัวอย่างนะว่า สมาธิบางครั้งเอาอยู่ ความเจ็บปวดบางอย่างเอาไม่อยู่ แต่สมาธิเอาอยู่ นี่เป็นวิธีการปล่อยวางความปวดอย่างหนึ่ง

Related posts

ฆาตกรเงียบ UN เตือนภัย ‘คลื่นความร้อน’ ถี่ขึ้น เตรียมรับมือ

ต้องจัดการความโกรธออกจากใจ

EU จ่อใช้ ‘คาร์บอนเครดิต’ ต่างชาติ ลดเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปี 2040