5 ประเด็นโลกร้อน ถ้าไม่หยุดเชื้อเพลิงฟอสซิล อุณหภูมิจะสูงทะลุขีดจำกัด

เพื่อความเข้าใจสภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน แม้ผลการประชุม COP28 จะได้ฉันทานุมัติว่าจะ “เปลี่ยนผ่าน” เชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทั่วโลกจะหยุดขุดเจาะเชื้อเพลิงโบราณนี้มาใช้ ในปีนี้จึงสามารถสรุปสถานการณ์ความคืบหน้าปัญหาโลกร้อนออกมาได้ 5 ประเด็น ดังนี้

1. โลกร้อนขึ้นจวนทะลุขีดจำกัดแล้ว

รายงานของ IPCC หรือคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก่อนหน้านี้ ระบุชัดเจนว่า ปัจจุบันมนุษย์มีโอกาสน้อยมากที่จะจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับมาตรฐานก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เนื่องจากแม้รัฐบาลประเทศต่างๆ จะเห็นพ้องและให้คำมั่นว่าจะไม่ปล่อยให้โลกร้อนขึ้นเกินขีดจำกัดดังกล่าว แต่ในความเป็นจริงขณะนี้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มขึ้นเหนือระดับมาตรฐานไปแล้ว 1.1 องศาเซลเซียส ทั้งยังมีแนวโน้มว่าจะพุ่งสูงขึ้นอีกจนทะลุขีดจำกัด 1.5 องศาเซลเซียส ภายในช่วงทศวรรษ 2030 นี้อย่างแน่นอน

2. ต้องเลิกขุดเจาะเชื้อเพลิงฟอสซิล

ดร.ฟรีเดอริเคอ ออตโต หนึ่งในคณะผู้เขียนรายงานบอกกับบีบีซีว่า “…เรื่องควรที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนก็คือ ต้องหยุดยั้งการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลให้ได้โดยเร็วที่สุด เท่าที่มนุษย์จะสามารถทำได้” เนื่องจากเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างถ่านหิน น้ำมันปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาตินั้น หมดอนาคตในการเป็นพลังงานของโลกยุคใหม่แล้ว ทุกประเทศจะต้องเลิกขุดเจาะเชื้อเพลิงชนิดนี้ขึ้นมาใช้โดยเร็วที่สุด และหันมาใช้พลังงานหมุนเวียน อย่างเช่น พลังงานลมหรือแสงอาทิตย์

อย่างไรก็ดี ก่อนการปิดฉากการประชุมเวที COP28 อนาคตของเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมากที่สุดในการเจรจาครั้งนี้ ประเทศที่พยายามผลักดันให้เกิดการยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไม่เห็นด้วยกับร่างฉบับใหม่ เนื่องจากร่างก่อนหน้านี้กำหนดไทม์ไลน์ชะตาของเชื้อเพลิงฟอสซิลด้วยการใช้คำว่า ”ยุติ“ ไม่ใช่แค่ ”เปลี่ยนผ่าน“

นี่เป็นครั้งแรกที่มีการอ้างอิงถึงอนาคตของเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมด (ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ) อย่างชัดเจนในร่างปฏิญญาของ COP28 โดยไม่มีข้อความใดๆ เกี่ยวกับ “การยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล” ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลหลายประเทศต้องการ และมีการยอมรับว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะถึงจุดสูงสุดก่อนปี 2025 และสำหรับประเทศกำลังพัฒนาอาจเกิดขึ้นตามมาในภายหลัง

แม้ข้อตกลงทั้งหมดจากเวที COP28 จะไม่เป็นโซลูชันที่หนักแน่นและเป็นความหวังสูงสุด แต่อย่างน้อยก็มีสัญญาณว่ายุคเชื้อเพลิงฟอสซิลกำลังจะสิ้นสุดลงสำหรับผู้ผลิตน้ำมัน เพียงแต่ยังมีความคลุมเครือมากพอให้สามารถมีการผลิตต่อไปได้ ถึงแม้จะมีคำมั่นสัญญาที่จะเพิ่มพลังงานหมุนเวียนเป็น 3 เท่า

3. ทุกคนสามารถลงมือช่วยโลกได้

ไคซา โคโซเนน ผู้แทนของกรีนพีซที่เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมของ IPCC ระบุว่า กิจกรรมรักษ์โลกที่คนทั่วไปทำได้นั้น รวมถึงการเปลี่ยนมารับประทานอาหารที่ทำจากพืชให้มากขึ้น หลีกเลี่ยงการเดินทางด้วยเครื่องบิน สร้างเมืองและชุมชนที่ผู้คนสัญจรไปมาด้วยการเดินและปั่นจักรยานกันเป็นหลัก ซึ่งอาจช่วยลดปริมาณคาร์บอนในบรรยากาศที่คาดการณ์ไว้ในปี 2050 ลงได้ 40-70%

4. สิ่งที่ทำลงไปวันนี้ ส่งผลถึงอีกหลายพันปีข้างหน้า

รายงานของยูเอ็นระบุว่า การกระทำและการตัดสินใจต่างๆ ของมนุษย์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในช่วงเวลา 7 ปีหลังจากนี้ จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปได้อีกหลายพันปี เช่น การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก 2-3 องศาเซลเซียส ในระดับที่เหนือมาตรฐานของยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม จะทำให้แผ่นน้ำแข็งที่เกาะกรีนแลนด์และทางตะวันตกของทวีปแอนตาร์กติกาละลายไปจนเกือบหมด โดยจะไม่สามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมไปอีกหลายสหัสวรรษ

การที่โลกร้อนขึ้นเพียงเล็กน้อย ยังส่งผลให้ภาวการณ์ทางสิ่งแวดล้อมหลายด้านเข้าสู่จุดวิกฤต เช่น การละลายตัวของธารน้ำแข็งทั่วโลกในอัตราที่เร็วขึ้น หากต้องการหยุดยั้งภาวะโลกร้อนลงในทันที ประเทศต่างๆ จะต้องยอมเพิ่มภาระความรับผิดชอบในการควบคุมปริมาณคาร์บอนขึ้นอีกภายในปี 2030 เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือเน็ตซีโรภายในปี 2050 รวมทั้งสามารถควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้ร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส หรือเกินไปเพียงเล็กน้อย ภายในปี 2100

5. ต้องเข้าใจว่า ‘โลกร้อน’ ไม่ใช่แค่เรื่องวิทยาศาสตร์ แต่เป็นปัญหาทางการเมือง

เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นสาเหตุหลักทำให้โลกร้อน และประเด็นนี้ก็เป็นปัญหาทางการเมืองของกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิล นำโดยกลุ่มการเมืองในประเทศอาหรับ โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบียที่เป็นหัวหอกในการล็อบบี้ไม่ให้ใช้คำว่า “ยุติ” การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แต่เลี่ยงบาลีไปใช้คำว่า “เปลี่ยนผ่าน” แทนในการร่างข้อตกลงในการประชุม COP28 นั่นหมายถึงจะมีการ “เล่นการเมือง” ว่าด้วยเรื่องเชื้อเพลิงฟอสซิลในการติดตามความคืบหน้าและในการประชุม COP ครั้งต่อไป

อ้างอิง:
https://www.bbc.com/thai/international-65045061
https://www.facebook.com/share/p/bkWcjjtuGWDABMUB/?mibextid=WC7FNe

Related posts

ผลกระทบอากาศสุดขั้ว ภัยคุกคาม ‘สุขภาพมนุษยชาติ’ ครั้งใหญ่ที่สุด

‘เอลนีโญ’ ผลพวงสภาพอากาศสุดขั้ว สัญญาณวิกฤตภัยแล้งรุนแรง

‘มหาสมุทร’ แหล่งกักเก็บคาร์บอน 1 ใน 4 ที่มนุษย์ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ