ปี 2025 สัญญาณอันตรายอุณหภูมิโลกจ่อทำลายสถิติเก่า

สถานการณ์วิกฤตโลกร้อนยังคงทวีความรุนแรง อุณหภูมิโลกสร้างความประหลาดใจให้กับนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าปรากฏการณ์ลานีญา (La Niña) ซึ่งปกติจะนำมาซึ่งอุณหภูมิที่เย็นลงในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน กำลังอ่อนกำลังลงและเข้าสู่ภาวะเป็นกลาง แต่ความร้อนทั่วโลกกลับยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน (1)

รายงานจากโครงการสังเกตการณ์โลกแห่งสหภาพยุโรป (Copernicus Climate Change Service) ระบุว่า เดือนมกราคม ปี 2025 เป็นเดือนมกราคมที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยอุณหภูมิพื้นผิวอากาศสูงกว่าระดับก่อนอุตสาหกรรมถึง 1.75 องศาเซลเซียส สถานการณ์นี้ถือเป็นการต่อเนื่องของอุณหภูมิที่สูงเป็นประวัติการณ์ตลอดสองปีที่ผ่านมา ที่น่ากังวลคือ อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลในหลายภูมิภาคทั่วโลกยังคงสูงผิดปกติ (1)

นักวิทยาศาสตร์เคยคาดการณ์ว่า ภาวะอุณหภูมิสูงผิดปกติเช่นนี้จะบรรเทาลงภายหลังจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) ซึ่งมีความรุนแรงสูงสุดในเดือนมกราคม 2024 สิ้นสุดลง และเปลี่ยนเข้าสู่ภาวะลานีญาซึ่งเป็นภาวะเย็นลง อย่างไรก็ตาม ความร้อนยังคงอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงสถิติเดิม ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องถกเถียงกันถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดอุณหภูมิที่สูงเกินความคาดหมาย นักวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ปรากฏการณ์นี้ค่อนข้างน่าประหลาดใจ เนื่องจากไม่พบผลกระทบจากการเย็นลง หรือการชะลอตัวของอุณหภูมิโลกตามที่คาดการณ์ไว้ (1)

ยิ่งไปกว่านั้น อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยในช่วงปี 2023 และ 2024 ได้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เป็นครั้งแรก แม้ไม่ถือเป็นการข้ามเส้นขีดจำกัดตามความตกลงปารีสอย่างถาวร แต่ก็เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าขีดจำกัดดังกล่าวถูกทดสอบแล้ว นักวิทยาศาสตร์เน้นย้ำว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นเพียงเล็กน้อยก็เพิ่มความรุนแรงและความถี่ของเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว เช่น คลื่นความร้อน ฝนตกหนัก และภัยแล้ง (1)

ขณะที่สถานการณ์ลานีญาสิ้นสุดลงในเดือนเมษายน 2025 และมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนกลับเข้าสู่ภาวะ ENSO เป็นกลาง ซึ่งหมายความว่าทั้งเอลนีโญและลานีญาไม่ได้มีอิทธิพลอย่างชัดเจน แต่ผลกระทบจากความร้อนสะสมและความผันผวนของสภาพอากาศยังคงส่งผลกระทบไปทั่วโลก ภาวะเป็นกลางนี้คาดว่าจะต่อเนื่องไปตลอดช่วงฤดูร้อนของซีกโลกเหนือ อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่เอลนีโญหรือลานีญาจะกลับมามีอิทธิพลอีกครั้งในช่วงปลายปี โดยมีโอกาสที่ลานีญาจะเกิดขึ้นมากกว่าเอลนีโญ (2)

มหาสมุทรมีบทบาทสำคัญในการควบคุมสภาพภูมิอากาศและเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอน น้ำทะเลที่เย็นกว่าสามารถดูดซับความร้อนจากบรรยากาศได้มากขึ้น ซึ่งช่วยลดอุณหภูมิอากาศ มหาสมุทรยังเก็บกักความร้อนส่วนเกินประมาณ 90% จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการกระทำของมนุษย์ แต่ทว่าอุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลสูงผิดปกติอย่างยิ่งในปี 2023 และ 2024 การตรวจวัดในเดือนมกราคม ปี 2025 ก็ยังคงสูงเป็นอันดับสองเท่าที่เคยมีมา เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ยังคงสงสัยว่าทำไมอุณหภูมิเหล่านั้นยังคงอบอุ่นอยู่มาก (1)

ปี 2024 ได้สร้างสถิติความร้อนที่น่าตกใจ โดยอุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงกว่าระดับก่อนอุตสาหกรรมถึง 1.5 องศาเซลเซียส เป็นครั้งแรก นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศเตือนว่า หากไม่มีความพยายามอย่างจริงจังในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แนวโน้มความร้อนนี้จะยังคงดำเนินต่อไปจนถึงสิ้นศตวรรษ แม้ว่าการเติบโตของพลังงานหมุนเวียนจะมีความก้าวหน้าอย่างมาก แต่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกยังคงไม่ลดลง ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า อุณหภูมิเฉลี่ยโลกจะเกิน 2 องศาเซลเซียสอย่างแน่นอนภายในปี 2100 หากแนวโน้มปัจจุบันยังคงดำเนินต่อไป (3)

ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเริ่มปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ทวีปเอเชียเผชิญกับภัยพิบัติทางสภาพอากาศมากมาย คลื่นความร้อนมีความรุนแรงและเกิดบ่อยครั้งขึ้น โดยมีผู้เสียชีวิตจากความร้อนในเอเชียคิดเป็น 45% ของจำนวนผู้เสียชีวิตจากความร้อนทั่วโลก อุทกภัยและพายุไต้ฝุ่นยังสร้างความเสียหายอย่างหนัก ทวีปยุโรปก็เผชิญกับภาวะที่ร้อนขึ้นเร็วกว่าทวีปอื่น ๆ โดยปี 2024 มีอุณหภูมิสูงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกมา ในขณะที่ภัยแล้ง และไฟป่าทวีความรุนแรงขึ้น (3)

ทวีปแอฟริกาก็เผชิญกับความร้อนจัดและภัยแล้งที่รุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรและบริการ ที่สำคัญภัยพิบัติทางสภาพอากาศเหล่านี้มักนำไปสู่ภาวะขาดแคลนอาหารและน้ำ ฝั่งละตินอเมริกาเผชิญกับพายุเฮอริเคน ภัยแล้ง น้ำท่วม และไฟป่าที่รุนแรงและถี่ขึ้น ภูมิภาคตะวันออกกลางกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ส่วนภูมิภาคอาร์กติกอุณหภูมิสูงขึ้นเร็วกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึงสามเท่า ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและประชากรพื้นเมือง  (4)

รายงานจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ยืนยันว่า ปี 2024 เป็นปีที่อุณหภูมิสูงกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรมถึง 1.55 ± 0.13 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นปีที่ร้อนที่สุดในรอบ 175 ปีที่มีการบันทึก ระดับความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศสูงที่สุดในรอบ 800,000 ปี ระดับน้ำทะเลสูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกด้วยดาวเทียม และการละลายของธารน้ำแข็งก็รวดเร็วเป็นประวัติการณ์ เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วในปี 2024 ยังทำให้เกิดการพลัดถิ่นของผู้คนมากที่สุดในรอบ 16 ปี (4)

 

ยิ่งไปกว่านั้น ปี 2025 นี้เอง ในช่วงปลายเดือนเมษายนหลายพื้นที่ในซีกโลกเหนือคาดว่า จะเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัดกว่าปกติ โดยพื้นที่ทางตะวันออกของสหรัฐอเมริกาอาจมีอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ย 6-8 องศาเซลเซียส ยุโรปตะวันตก รวมถึงสหราชอาณาจักรก็อาจเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนที่สุดของปี โดยมีอุณหภูมิสูงถึง 25-28 องศาเซลเซียส ขณะที่ปากีสถานและบางส่วนของอินเดียกำลังเผชิญกับคลื่นความร้อนที่รุนแรง โดยอุณหภูมิอาจสูงถึง 48-49 องศาเซลเซียสในบางพื้นที่ ทางการได้ออกคำเตือนให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายจากความร้อน (5)

ผลพวงจากความร้อนที่รุนแรงขึ้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว ภาวะเครียดจากความร้อนเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ และสามารถทำให้อาการป่วยรุนแรงขึ้นได้ จำนวนผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความร้อนจึงเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ง (6)

ภายใต้สถานการณ์สภาพภูมิอากาศทั่วโลกที่ไม่เหมือนเดิมโดยเฉพาะในบ้านเราที่อากาศร้อนมากขึ้น การป้องกันตนเองจากความร้อนของทุกคนจึงเป็นสิ่งจำเป็น ควรหลีกเลี่ยงการออกไปกลางแจ้งในช่วงเวลาที่ร้อนที่สุด ดื่มน้ำให้เพียงพอ สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี และอยู่ในสถานที่ที่เย็นสบาย การดูแลเด็กเล็กและผู้สูงอายุเป็นพิเศษก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง (6)

วิกฤตโลกร้อนในปี 2025 ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น และเกิดผลกระทบขึ้นทั่วโลกเป็นปรากฎการร์ที่ไม่อาจมองข้ามได้ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวเพื่อรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปจึงเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันอย่างเร่งด่วน..ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

อ้างอิง:

(1) https://www.theguardian.com/environment/2025/feb/06/hottest-january-on-record-climate-scientists-global-temperatures-high

(2) https://www.climate.gov/news-features/blogs/enso/april-2025-enso-update-la-nina-has-ended#:~:text=The%20outlook%20for%20the%20rest,NOAA%20Climate%20Prediction%20Center%20image.

(3) https://www.cfr.org/article/earth-experienced-another-year-record-warming-climate-fallout-was-intense?utm

(4) https://wmo.int/news/media-centre/wmo-report-documents-spiralling-weather-and-climate-impacts#:~:text=The%20clear%20signs%20of%20human,social%20upheavals%20from%20extreme%20weather.&text=WMO’s%20State%20of%20the%20Global,doubled%20since%20satellite%20measurements%20began.

(5) https://www.theguardian.com/environment/2025/apr/28/weather-tracker-taste-summer-us-western-europe?utm

(6) https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/climate-change-heat-and-health

Related posts

‘ลากไส้หมูเถื่อน’ ทลายโกดังลอบเก็บ มูลค่ากว่า 10 ล้าน เสี่ยงสารเคมี

ฝุ่นพิษวิกฤต PM2.5 ความท้าทายยุคโลกรวน

‘นครพนมโมเดล’ โดรนเพื่อการเกษตร ลดต้นทุน 5,000 บาท/ไร่