สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เตือนภัย “ภาวะโลกเดือด” กระทบความปลอดภัยแรงงานทั่วโลก แนะใช้ AI และ Healthy Workplace ยกระดับสุขภาวะการทำงาน
นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (สสปท.) เปิดเผยเนื่องในวันความปลอดภัยแห่งชาติ 10 พฤษภาคม ว่า ภาวะโลกร้อน หรือ “ภาวะโลกเดือด” กำลังส่งผลกระทบรุนแรงต่อความปลอดภัยและสุขภาพของแรงงานทั่วโลก ตามรายงานขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) และเวิลด์อีโคโนมิกฟอรั่ม (WEF) คาดการณ์ว่า ปี 2568 จะเป็นปีที่โลกมีอุณหภูมิสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพการทำงานของแรงงานทั่วโลก
องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระบุว่า ในปี 2567 มีแรงงานมากกว่า 2,400 ล้านคนทั่วโลก ต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัดขณะทำงาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งร่างกายและจิตใจ นอกจากนี้ ภาวะโลกร้อนยังก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว ซึ่งถึงแม้จะไม่ใช่สาเหตุโดยตรง แต่ก็เป็นผลจากความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศและสมดุลของโลกที่รุนแรงขึ้น
นายนันทชัย กล่าวต่อว่า ในรอบปีที่ผ่านมา มีแรงงานทั่วโลกเสียชีวิตจากการทำงานมากกว่า 2.9 ล้านคน และบาดเจ็บจากการทำงานถึง 395 ล้านคน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่ทำงานกลางแจ้ง หรือบนท้องถนน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโลกร้อนมากที่สุด การนำมาตรการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยมาใช้เพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากความร้อนในสถานที่ทำงาน สามารถช่วยประหยัดงบประมาณได้ถึง 360,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ตามข้อมูลของ World Academic Forum
ทั้งนี้ รายงานจาก World Academic Forum ยังระบุว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า แรงงานราว 1,200 ล้านตำแหน่ง หรือคิดเป็น 40% ของแรงงานทั่วโลก จะเผชิญความเสี่ยงจากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะแรงงานในประเทศกำลังพัฒนา เช่น ประเทศไทย ซึ่งต้องทำงานภายใต้ความเครียดและสภาพอากาศร้อนจัดจนอาจกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงาน สสปท. จึงเสนอแนวคิด “Healthy Workplace: สุขภาวะดี ในทุกที่ทำงาน” เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมการทำงานที่เหมาะสม พร้อมผลักดันการวิจัยและพัฒนามาตรการปกป้องแรงงานจากผลกระทบของภาวะโลกร้อน
อัคคีภัยและอุบัติเหตุในโรงงานอุตสาหกรรม: ปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข
นายนันทชัย ยังให้ความสำคัญกับปัญหาอุบัติเหตุและอุบัติภัยในสถานที่ทำงาน โดยเฉพาะอัคคีภัย ซึ่งเป็นภัยพิบัติที่พบได้บ่อยในโรงงานอุตสาหกรรม ตามข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในปี 2567 เกิดอัคคีภัยในโรงงานถึง 107 ครั้ง คิดเป็น 75% ของอุบัติเหตุทั้งหมด โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2565-2567) อัคคีภัยในโรงงานมีอัตราการเกิดสูงสุดในรอบ 8 ปี นอกจากนี้ อุบัติเหตุจากการรั่วไหลของสารเคมีก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2567 เกิดขึ้น 19 ครั้ง คิดเป็น 3% ของอุบัติเหตุทั้งหมดในโรงงาน
เทคโนโลยี AI และระบบอัตโนมัติ: โอกาสและความท้าทาย
สสปท. อยู่ระหว่างการศึกษาประเด็นการใช้ระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยี เช่น หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่ง ILO ให้ความสำคัญอย่างมาก เทคโนโลยีเหล่านี้มีส่วนช่วยเพิ่มความปลอดภัยในสถานที่ทำงานโดยลดการสัมผัสกับงานอันตราย อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ อาจนำไปสู่ผลกระทบทางสังคม เช่น การเลิกจ้างงานที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาควบคู่กัน
นายนันทชัย เน้นย้ำว่า การรับมือกับความท้าทายจากภาวะโลกเดือดและอุบัติภัยในสถานที่ทำงาน ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยและยั่งยืน พร้อมทั้งใช้เทคโนโลยีอย่างสมดุลเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานทั่วโลก