กล้องจับภาพเสือพูม่าเผือก ชั่วชีวิตอาจได้เจอแค่ครั้งเดียว

เผยภาพหาชมได้ยากผลงานจากกล้องที่ติดตั้งไว้ในอุทยานแห่งชาติแซร์รา โดส ออร์เกาส์ (Serra dos Órgãos) ในป่าแอตแลนติกทางตะวันออกเฉียงใต้ของบราซิลสามารถจับภาพของเสือพูม่า หรือคูการ์ที่มีขนสีขาวทั้งตัว โดยภาพถ่ายดังกล่าวถ่ายในปี 2556 เป็นครั้งแรกที่ได้รับการยืนยันว่าพบสิงโตภูเขาที่มีอาการ Leucism (ลูซิซึ่ม) ซึ่งเป็นการกลายพันธุ์ทางพันธุกรรมที่ทำให้ร่างกายส่วนใหญ่เป็นสีขาว หรือที่เรียกกันว่าสัตว์เผือกนั่นเอง ภาพนี้เพิ่งจะได้รับการเผยแพร่ในวงกว้างเมื่อเร็วๆ นี้ผ่านทาง National Geographic

นักวิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อมของอุทยานแห่งชาติที่พบเสือภูเขาตัวนี้เผยว่าหลังจากได้ถ่ายภาพแล้วนักวิจัยหวังที่จะจับมันมาเพื่อทำการวิเคราะห์ยีนของมัน แต่พวกเขาไม่เคยเห็นมันอีกเลย และหลังจากตั้งกล้องอีกครั้งก็ยังจับภาพมันไม่ได้

ลุค ฮันเตอร์ ผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์วงศ์เสือ/แมวใหญ่ Wildlife Conservation Society’s Big Cats Program บอกว่า “ในชั่วชีวิตของผมอาจไม่เจอสิงโตภูเขาสีขาวอีกตัวอีกแล้ว”

ข้อแตกต่างระหว่างลูซิซึ่ม ( Leucism) กับภาวะผิวเผือก (Albinism) ก็คือ ภาวะผิวเผือกเป็นภาวะที่ไม่มีเมลานินหรือเม็ดสีซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผิวหนัง ขน และดวงตามีสี ไม่เพียงแต่ผิวมีสีขาว แต่ยังมีดวงตาที่ซีดมากจนมักเป็นสีชมพูหรือสีแดงเพราะเส้นเลือดเห็นได้ชัดขึ้น

ส่วนลูซิซึ่มเป็นเพียงการสูญเสียเม็ดสีบางส่วนซึ่งทำให้สัตว์มีผิวชั้นนอกหรือขนสีขาวหรือเป็นหย่อมๆ อย่างไรก็ตาม เซลล์เม็ดสีในดวงตาไม่ได้รับผลไปด้วย

เสือพูม่า หรือ เสือคูการ์ หรือ สิงโตภูเขา (Cougar, Puma, Mountain lion) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมในวงศ์เสือและแมว (Felidae) มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกา พบได้ตั้งแต่ยูคอนในประเทศแคนาดาถึงทางตอนใต้ของเทือกเขาแอนดีสในอเมริกาใต้

ตามปกติแล้วเสือพูม่าจะมีขนสีดำหรือเทาและภาวะเผือกเป็นสิ่งที่หาได้ยากมากในสัตว์ประเภทนี้ ต่างจากสัตว์ประเเภทเสือหรือแมวชนิดอื่นๆ ที่พบตัวเผือกไม่ยากนัก ซึ่งลุค ฮันเตอร์บอกว่านี่คือสิ่งที่ยืนยันว่าเป็นเรื่องที่ไม่ปกติสุดๆ ที่พบพูม่าขนสีขาว

ข้อมูลจาก:
Christine Dell’Amore. (December 3, 2020). “Extremely rare white cougar highlights a quirk of the species”. National Geographic.
Cecilia Cronemberger. (December 2018). “First record of leucism in puma from Serra dos Órgãos National Park, Brazil”. Cat News.
ภาพ ICMBio

Related posts

ภาวะโลกร้อนเขย่าวิกฤตอาหารโลก ผลผลิตลด คนหิวโหย อันตรายถึงชีวิต

ถ้าบริหารจัดการน้ำเหมือนปี 54วิกฤตอุทกภัยอาจเลวร้ายยิ่งกว่า

ประเทศไทยเอาไงดี? ส่องความคืบหน้าแผนรับมือโลกร้อน