อัปเดตการฟื้นตัวธรรมชาติ เต่าทะเลวางไข่มากขึ้น-พะยูนเพิ่ม เร่งผสมเทียมโลมาทะเลสาบสงขลา

เครดิตภาพ : ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานฯ ทางทะเลจังหวัดภูเก็ต

สถานการณ์สัตว์ทะเลหายากในช่วง 3 ปที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นทั้งโลมา ฉลาม วาฬ และฉลามวาฬ รวมถึงเต่าทะเลที่มีการวางไข่เพิ่มขึ้นล่าสุดมี 502 รัง พะยูนเพิ่มขึ้นเป็น 255 ตัว เร่งศึกษาการผสมเทียมโลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลากับแหล่งอื่นเพื่อรักษาสายพันธุ์ 14 ตัวสุดท้ายที่กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์

เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2565 นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) อัปเดตถานการณ์และผลการดำเนินงานด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาพบว่า แนวปะการัง และแหล่งหญ้าทะเลซึ่งเป็นแหล่งอนุรักษ์พะยูนส่วนใหญ่มีสภาพสมบูรณ์ 52% ป่าชายเลนคงสภาพกว่า 1.7 ล้านไร่ 

นอกจากนี้ มีการพบเห็นสัตว์ทะเลหายากเพิ่มขึ้นทั้งโลมา ฉลาม วาฬ และฉลามวาฬ รวมถึงเต่าทะเลที่มีการวางไข่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี จาก 373 รัง ถึงปีล่าสุดมีจำนวน 502 รัง ด้านพะยูนหลังจากเหตุการณ์สูญเสีย “น้องมาเรียม” เมื่อปี 2562 ทำให้เกิดแผนแม่บท “มาเรียมโปรเจกต์” ในการอนุรักษ์พะยูนโดยมีจำนวนพะยูนเพิ่มขึ้นจาก 221 ตัว เป็น 255 ตัว 

สำหรับโลมาอิรวดี 14 ตัวสุดท้ายในทะเลสาบสงขลาซึ่งตกอยู่ในสถานะเสี่ยงสูญพันธุ์นั้น นายวราวุธ กล่าวว่า นอกจากการรักษาสภาพแวดล้อมและแหล่งอาหารแล้ว การผสมพันธุ์แบบเลือดชิดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โลมาตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงจากปัญหาสุขภาพ 

ทั้งนี้ ให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเร่งศึกษาแนวทางการผสมเทียมกับโลมาอิรวดีจากแหล่งอื่น เพื่อรักษาสายพันธุ์โลมาอิรวดีฝูงนี้ไว้ ควบคู่กับแผนระยะสั้นที่ให้ดูแลความปลอดภัยโลมาอิรวดี 14 ตัวที่เหลืออยู่ 

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ทะเลสาบสงขลาคือสถานที่แห่งแรกในโลกที่โลมาอิรวดีในน้ำจืดจะสูญพันธุ์ โดยขณะนี้เหลืออยู่เพียง 14 ตัว จากเดิมที่เคยมีอยู่ 100 กว่าตัว โลกนี้มีโลมาอิรวดีอยู่ในน้ำจืดเพียง 5 แห่ง อินเดีย 140 ตัว อินโดนีเซีย 90 ตัว พม่า 80 ตัว กัมพูชา 90 ตัว และไทย 14 ตัว

Related posts

ปี 2025 สัญญาณอันตราย
อุณหภูมิโลกจ่อทำลายสถิติเก่า

‘ลากไส้หมูเถื่อน’ ทลายโกดังลอบเก็บ มูลค่ากว่า 10 ล้าน เสี่ยงสารเคมี

ฝุ่นพิษวิกฤต PM2.5 ความท้าทายยุคโลกรวน