‘ชั้นโอโซน’ เกราะป้องกันชีวิตบนโลกที่ควรรู้

Atmospheric aerial view of the green forest with the earth Demonstrate the concept of preserving the top ecosystem and natural environment and Save Earth.

“ชั้นโอโซน” ความสำคัญที่เราไม่ควรมองข้าม ทำไมมันถึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต หลังนาซา เผยข่าวดี ชั้นโอโซน ฟื้นตัวต่อเนื่อง ไปหาคำตอบกัน

นับเป็นข่าวดี เมื่อทางองค์การนาซา และสำนักงานบริหารชั้นบรรยากาศและมหาสมุทรแห่งชาติ รายงานว่า ปัจจุบัน “ชั้นโอโซน” กำลังฟื้นตัวดีขึ้น โดยตอนนี้รูโอโซนเล็กที่สุดในรอบ 5 ปี และมีแนวโน้มที่จะปิดได้ภายในอีก 40 ปี หรือภายในปี 2066 ซึ่งเป็นผลมาจากที่ทุกประเทศทั่วโลก ร่วมกันยุติการผลิตสารเคมี ที่ทำลายชั้นโอโซนในชั้นบรรยากาศของโลก

ชั้นโอโซน: ความสำคัญและบทบาทในการปกป้องโลก

ชั้นโอโซน (Ozone Layer) เป็นส่วนหนึ่งของชั้นบรรยากาศโลก ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตบนโลก โอโซนประกอบด้วย ออกซิเจน 3 อะตอม เป็นก๊าซสีฟ้าจางๆ มีกลิ่นฉุน เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจหากสูดเข้าไปในปริมาณมาก ทั่วไปเราจะใช้โอโซนในการทำความสะอาดฆ่าเชื้อในอากาศ กำจัดกลิ่นตามอาคาร หรือในรถ แต่สำหรับโอโซนในชั้นบรรยากาศระดับสตราโตสเฟียร์ ที่ระดับความสูงประมาณ 10 ถึง 50 กิโลเมตรเหนือพื้นดิน โดยเฉพาะในช่วง 20-30 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของโอโซนมากที่สุด

บทบาทสำคัญของชั้นโอโซน ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันโลกจากรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ที่เป็นอันตราย โดยเฉพาะรังสี UV-B หากร่างกายมนุษย์ ได้รับรังสีนี้มากเกินไป ก็จะทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง โรคต้อกระจก และผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์และสัตว์ รวมทั้ง การรักษาอุณหภูมิ เพราะการดูดซับรังสี UV ยังช่วยรักษาอุณหภูมิในบรรยากาศ ทำให้สภาพภูมิอากาศบนโลกมีความเหมาะสมสำหรับการดำรงชีวิต

ชั้นโอโซนถูกทำลาย

นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1971 เป็นต้นมา ชั้นโอโซนในชั้นบรรยากาศได้ถูกทำลายไปมากจากการกระทำของมนุษย์เรานั่นเอง หลักๆ คือการใช้สารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFC) ในเครื่องปรับอากาศ หรือ ตู้เย็น และจากก๊าซไนตรัสออกไซด์ ซึ่งเกิดจาก เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงของรถยนต์ เครื่องบิน รวมถึงการผลิตไฟฟ้า โดยบริเวณที่เกิดการลดลงของชั้นโอโซนมากที่สุด คือ พื้นที่บริเวณขั้วโลกใต้ รวมถึงประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ “หลุมโอโซน” ที่ทำให้รังสี UV สามารถส่องมายังพื้นผิวโลกได้โดยตรง

โดยสถิติรูโอโซนที่ใหญ่ที่สุดนั้นเกิดขึ้นเมื่อปี 2543 โดยใหญ่กว่าตัวเลขปัจจุบันถึง 50% ซึ่งเป็นผลมาจากสารเคมีที่ลอยขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศ และสามารถวัดได้ว่า รังสีอัลตราไวโอเลตที่เป็นอันตรายจากดวงอาทิตย์เพิ่มขึ้น 10 เท่า และชั้นโอโซนเหนือแอนตาร์กติกา ได้ลดลง 40%

ทั้งนี้ พบว่า หากโอโซนในบรรยากาศในชั้นสตราโตสเฟียร์ลดลงเพียงร้อยละ 1 จะมีผลทำให้อัตราการเกิดต้อกระจกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6-0.8 นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง โดยเฉพาะโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา ซึ่งพบว่าเป็นกันมากในหมู่คนผิวขาว รวมทั้งทำให้ภูมิคุ้มกันโรคลดลง ชึ่งทำให้เกิดโรคติดต่อต่างๆ มากขึ้น นอกจากรังสี UV-B จะมีผลต่อมนุษย์แล้ว สัตว์และพืชก็ได้รับผลกระทบจากรังสีดังกล่าวนี้เช่นกัน โดยรังสี UV-B จะไปทำลายการเจริญเติบโตของสัตว์ในช่วงแรก และทำให้แพลงตอน ซึ่งเป็นอาหารสำคัญของสัตว์น้ำในกระบวนการห่วงโซ่อาหารในน้ำ มีปริมาณลดลง ส่วนผลกระทบต่อพืชนั้น พบว่า รังสี UV-B จะทำให้การเจริญเติบโตของพืชลดลง

ชั้นโอโซน ฟื้นตัว

แต่นับตั้งแต่ปี 2530 ที่นานาประเทศได้ร่วมมือกันลงนามพิธีสารมอนทรีออล เพื่อลด และเลิกการใช้สารทำลายโอโซน หลังจากนั้นเป็นต้นมา ปริมาณโอโซนก็กลับมาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนล่าสุด ทางนาซา เผยว่า ช่องโหว่ชั้นโอโซนบริเวณขั้วโลกกำลังฟื้นตัวดีขึ้น มีขนาดเล็กลง ซึ่งเล็กที่สุดในรอบ 5 ปี โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20 ล้านตารางกิโลเมตร และอาจปิดตัวภายในอีก 40 ปี

รายงานที่นำเสนอที่การประชุม American Meteorological Society ในเมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด เมื่อปี 2565 ระบุว่า การฟื้นตัวของชั้นโอโซนนั้นดำเนินไปอย่างช้าๆ ปริมาณโอโซนเฉลี่ยทั่วโลกที่สูง 18 ไมล์ หรือ 30 กิโลเมตรในชั้นบรรยากาศจะไม่กลับไปสู่ระดับก่อนการเบาบางในปี ค.ศ. 1980 จนกว่าจะถึงปี 2040 และจะไม่กลับสู่ระดับปกติในอาร์กติกจนกว่าจะถึงปี 2045

ความสำคัญของการอนุรักษ์ชั้นโอโซน

การปกป้องชั้นโอโซนจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ และปกป้องสุขภาพของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ การลดการใช้สารเคมีที่ทำลายโอโซน และการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะช่วยให้ชั้นโอโซนฟื้นฟูและกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง

อ้างอิง :

Related posts

‘PES’ กลไกเศรษฐกิจสีเขียว ฟื้นธรรมชาติยั่งยืน

‘ลากไส้หมูเถื่อน’ ทลายโกดังลอบเก็บ มูลค่ากว่า 10 ล้าน เสี่ยงสารเคมี

‘นครพนมโมเดล’ โดรนเพื่อการเกษตร ลดต้นทุน 5,000 บาท/ไร่