น้ำแข็งขั้วโลกเหนือลดลง หมียึดอาคารร้างเกาะอาร์กติก แหล่งที่อยู่ใหม่ที่ไม่คุ้นเคย

มิทรี โคห์ (Dmitry Kokh) ช่างภาพชาวรัสเซียเดินทางไปยังพื้นที่ห่างไกลของรัสเซียทางตอนเหนือ เมื่อในช่วงปลายฤดูร้อนปี 2021 โดยตั้งใจจะไปถ่ายภาพหมีขั้วโลกบนเกาะ Wrangel ซึ่งตั้งอยู่เหนืออาร์กติกเซอร์เคิล และเป็นเขตอนุรักษ์ธรรมชาติและมรดกโลกที่ได้รับการคุ้มครองโดยองค์การวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมเพื่อการศึกษาแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)

สิ่งที่เขาพบกลับกลายเป็นภาพที่แปลกตาและคาดไม่ถึงบนเกาะ Kolyuchin ทางตอนใต้ของเกาะ Wrangel นั่นเพราะหมีขั้วโลกมากกว่า 20 ตัวเข้ามาอาศัยในอาคารที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของสถานีตรวจอากาศของสหภาพโซเวียต ซึ่งภาพที่เห็นหมีขั้วโลกเดินป้วนเปี้ยนอยู่ในอาคารที่ทรุดโทรม โดยต่อมาเขาปล่อยภาพเหล่านี้ลงโซเชียล และก็กลายเป็นภาพไวรัลอย่างรวดเร็ว

สำหรับสถานีตรวจอากาศของรัสเซียแห่งนี้ถูกทิ้งร้างตั้งแต่ปี 1991 หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย โคห์เล่าที่มาการถ่ายภาพของเขาว่าได้ใช้กล้องที่ติดตั้งบนโดรนซึ่งได้รับการดัดแปลงด้วยใบพัดเสียงรบกวนต่ำ ทำให้เงียบพอที่จะเข้าใกล้หมีอย่างช้า ๆ โดยไม่รบกวนพวกมัน

และเพื่อความไม่ประมาท เขาบอกว่าระหว่างการลั่นชัตเตอร์อยู่นั้น เจ้าหน้าที่ของเขตอนุรักษ์ได้คอยรักษาความปลอดภัยอยู่ไม่ห่าง พร้อมปืนไรเฟิลและพลุเพื่อความปลอดภัยไว้ก่อน

ภาพเหล่านี้สะท้อนว่า หลังจากหมีขั้วโลกได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำลายที่อยู่อาศัยของพวกมัน ทำให้หมีจำนวนหนึ่งบุกเข้าไปหาอาหารในเมืองต่าง ๆ ในแถบอาร์กติกของรัสเซียอยู่บ่อยครั้งขึ้น

และภาพชุดหมีขั้วโลกของโคห์เหล่านี้ได้เน้นย้ำถึงความสามารถในการปรับตัวของสัตว์ป่าในโลกที่ได้รับผลกระทบจากมนุษย์ ซึ่งภาพที่หมีกำลังวางขาทั้งสองอยู่บนหน้าต่างของอาคารได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดที่จัดโดย National Geographic รัสเซีย

อ้างอิง:
Mindy Weisberger (Jan 28, 2022 ) “See first-ever photos of polar bears playing house in the Russian Arctic” . Livescience
kat barandy I designboom (jan 25, 2022) dmitry kokh photographs polar bears occupying an abandoned russian weather station . Designboom
เครดิตภาพ: Dmitry Kokh

ติดตามผลงาน Dmitry Kokh ได้ที่ https://www.dmitrykokh.com/polar-bears

Related posts

ความหวังจาก ‘คาร์บอนเครดิต’หนึ่งในอาวุธ สู้วิกฤตโลกรวน

ภาวะโลกร้อนเขย่าวิกฤตอาหารโลก ผลผลิตลด คนหิวโหย อันตรายถึงชีวิต

ถ้าบริหารจัดการน้ำเหมือนปี 54วิกฤตอุทกภัยอาจเลวร้ายยิ่งกว่า