‘ดีแทค’ วางกลยุทธ์ความยั่งยืน รับผิดชอบสิ่งแวดล้อมและสภาวะภูมิอากาศมากขึ้น

ทุกๆ ปีจะมีโทรศัพท์มือถือใหม่จำหน่ายออกสู่ตลาดปีละประมาณ 14 ล้านเครื่อง ในจำนวนนี้เป็นผู้ใช้มือถือครั้งแรกราว 100,000 เครื่องต่อปี และอีกประมาณ 14 ล้านเครื่องต่อปีเป็นการเปลี่ยนอุปกรณ์ของผู้ใช้เดิม คำถามก็คือประเทศไทยมีสัดส่วนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือมากถึง 93.7 ล้านเบอร์ แล้วเครื่องเก่าที่ถูกแทนที่ด้วยเครื่องใหม่ 14 ล้านเครื่องต่อปีนั้นไปอยู่ที่ไหน?

ดีแทคจัดเวทีเสวนา ทิ้งให้ดี Tea & Talk เปิดมุมมองวิวัฒนาการมือถือผ่านเลนส์กูรูและผู้ผลิตระดับโลก ชำแหละชิ้นส่วนทางเทคโนโลยีและตัวแปรที่ผู้ผลิตต้องมีเพื่อขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีไปพร้อมกับความยั่งยืน เพื่อหาคำตอบว่าท่ามกลางการเติบโตของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของมือถือที่มียอดขายสูงมากกว่าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ มากนั้นส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือไม่ และควรมีการจัดการให้เกิดความยั่งยืนอย่างไร

อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า โทรศัพท์มือถือประกอบไปด้วยสารประกอบทั้งที่รีไซเคิลได้และรีไซเคิลไม่ได้ อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ดีแทคในฐานะหนึ่งในซัพพลายเชนของการบริโภคโทรศัพท์มือถือ ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการ “ทิ้งให้ดี” ซึ่งเป็นหนึ่งในความพยายามสู่เป้าหมาย Zero Landfills หรือลดการฝังกลบขยะให้เหลือศูนย์ ภายในปี 2565 โดยลูกค้าดีแทคสามารถทิ้งโทรศัพท์มือถือที่ไม่ใช้แล้วได้ที่จุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่ศูนย์บริการดีแทค 51 สาขาทั่วประเทศ ตามเว็บไซต์ https://dtac.co.th/sustainability/ewaste/

“ดีแทคส่งเสริมให้ลูกค้าและผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกต้อง มุ่งหวังว่าจะช่วยลดปัญหาเรื่องสารเคมีปนเปื้อนที่รั่วไหลจากซากอุปกรณ์เหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง” อรอุมา กล่าว

อรอุมา ระบุอีกว่า โทรศัพท์มือถือ 1 เครื่องสามารถนำมาทำประโยชน์ได้ แต่ถ้าทิ้งไปกับถังขยะจะสร้างมลพิษ และขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้ามาเมื่อนำวัสดุมีค่าไปใช้แล้วส่วนที่เหลือจะถูกนำไปฝังกลบหรือทิ้งอย่างไม่ถูกวิธี และเมื่อไปทดสอบดินในหลายจังหวัดจะพบสารพิษตกค้าง

ดังนั้นขยะมือถือหนึ่งเครื่องสามารถคืนโลหะมีค่ามากมายในการสร้างเศรษฐกิจใหม่ได้ และถ้านำมาทิ้งดีที่ดีแทคจะช่วยลดผลกระทบได้ ซึ่งอุตสาหกรรมโทรคมนาคมสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมในหลายๆ ด้าน ซึ่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ดีแทคสร้างขึ้นจาก 100% ในจำนวนนี้ 80% เกิดจากเสาสัญญาณทั่วประเทศ และอีกส่วนเป็นขยะจากโทรศัพท์มือถือผลิตภัณฑ์ 2% และที่เหลือขยะมือถือที่เก็บจากลูกค้า ซึ่งทั้งหมดนี้ดีแทคได้เก็บเพื่อนำไปรีไซเคิลโดยบริษัท เทส ที่มีมาตรฐานและสามารถรีไซเคิลได้ถึง 98% ของจำนวนขยะมือถือหนึ่งเครื่อง

เมื่อส่งขยะให้เทสทางเทสก็จะนำไปตรวจนับแยะแยกชิ้นส่วนและส่งไปยังสิงคโปร์เพื่อสกัดออกมา ซึ่งโทรศัพท์ 2 แสนเครื่องจะสกัดได้ทองคำ 1 กิโลกรัม เท่ากับเป็นการนำทองคำกลับคืนสู่ระบบเศรษฐกิจและยังลดการสร้างมลพิษอีกด้วย

นอกจากนี้ ดีแทคต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30% เช่น ในเสาสัญญาณจะลดการใช้น้ำมันดีเซลและหันไปใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งการเดำเนินงานทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้กลยุทธ์ด้านความยั่งยืน 2 ด้าน คือ การสร้างศักยภาพด้านสังคม และการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมและสภาวะภูมิอากาศดีแทคจะทำมากขึ้น

พีระพล ฉัตรอนันทเวช หรือ ปีเตอร์กวง ผู้อำนวยการแผนกอุปกรณ์สื่อสาร ดีแทค กล่าวว่า โทรศัพท์มือถือมีขีดความสามารถในการใช้งานก็สูงขึ้นในทุกๆ ปี เนื่องด้วยวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้ปัจจุบันจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือคิดเป็นสัดส่วนกว่า 130% ของประชากรไทย คือมีคนใช้เลขหมายเบอร์โทรศัพท์มากกว่าจำนวนประชากรทั้งประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มคนทำงาน นักธุรกิจที่บางคนมีโทรศัพท์มือถือใช้งานถึง 2 เครื่อง 2 เลขหมายด้วยกัน หรืออาจจะเป็น 1 เครื่อง 2 เลขหมาย

อุปกรณ์โทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีการเติบโตและมียอดขายสูงมากกว่าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ มาก ขีดความสามารถในการใช้งานก็สูงขึ้นในทุกๆ ปี เนื่องด้วยวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่การเติบโตของเทคโนโลยีมือถือก็มาพร้อมกับต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมที่สูงขึ้นด้วย เนื่องจากอายุการใช้งานที่ลดลงเหลือ 18-24 เดือนต่อเครื่อง ขณะที่ในอดีตอายุการใช้งานอยู่ที่ 24-36 เดือน ซึ่งมาจากแฟชั่นนิยมและการตลาด ซึ่งกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงมีการเปลี่ยนเครื่องใหม่เร็วกว่าสมัยก่อนมาก โดยเฉพาะรุ่นที่ราคาสูงกว่าหมื่น

อย่างไรก็ตาม เมื่อตลาดโทรศัพท์มือถือเปลี่ยนแปลงเร็วมาก การแข่งขันสูงมาก และแต่ละแบรนด์ออกสินค้ารุ่นใหม่ๆ กันปีละนับร้อยรุ่น ทำให้อายุของผลิตภัณฑ์โทรศัพท์มือถือลดลงเหลือเพียง 6 เดือน จากเดิม 12 เดือน นั่นเท่ากับปริมาณการบริโภคโทรศัพท์มือถือใหม่อยู่ในระดับสูง ขณะที่การจัดเก็บมือถือเก่าที่ไม่ใช้แล้วยังคงถูกตั้งคำถาม โดยเฉพาะต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

มือถือใหม่จำหน่ายสู้ผู้บริโภค 14 ล้านเครื่อง

พีระพล กล่าวอีกว่า จากปริมาณโทรศัพท์มือถือใหม่ที่ออกสู่ตลาดปีละ 14 ล้านเครื่องในประเทศไทยและนับร้อยล้านนับพันล้านเครื่องทั่วโลก ทำให้ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือในฐานะต้นทางต่างให้ความสำคัญกับ “มาตรฐานทางอุตสาหกรรมต่อสิ่งแวดล้อม” มากขึ้น โดยปัจจุบันผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือได้ยึดมาตรฐาน RoHS (Restriction of Hazardous Substances) ของสหภาพยุโรป เช่นเดียวกับโรงงานประกอบสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ว่าด้วยเรื่องการใช้สารที่เป็นอันตรายในอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นหลักเกณฑ์ในการกำหนดสารประกอบเพื่อผลิตเป็นโทรศัพท์มือถือ

ทั้งนี้ สินค้าที่จะนำไปจำหน่ายในสหภาพยุโรปจะต้องผ่านมาตรฐาน RoHS ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2549 และได้เพิ่ม 4 สารต้องห้ามในปี 2562 เป็นต้นมา โดยมีสาระสำคัญ คือ ชิ้นส่วนทุกอย่างที่ประกอบเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้านั้น ตั้งแต่แผงวงจร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไปจนถึงสายไฟ จะต้องผ่านตามข้อกำหนดดังกล่าว โดยสารที่จำกัดปริมาณในปัจจุบัน กำหนดไว้ 10 ชนิด สินค้าใดที่ผ่านมาตรฐาน RoHS จะมีสัญลักษณ์วงกลมที่มีตัวอักษร Pb คาดด้วยเส้นเฉียง หรือมีการระบุคำว่า RoHS compliant หรือ Pb-Free อยู่บนสินค้านั้นๆ

นอกจากนี้ ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือได้มีความตื่นตัวต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การเปิดตัวโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่จากแบรนด์ชั้นนำที่ผ่านมา ผู้ผลิตประกาศว่าจะไม่มีอะแดปเตอร์หัวชาร์จเจอร์ และหูฟังแบบมีสายในบรรจุภัณฑ์ใหม่ของสินค้าทุกรุ่นอีกต่อไป ซึ่งทำให้ขนาดของกล่องบรรจุภัณฑ์ก็มีขนาดเล็กลงไปโดยปริยาย ใช้กระดาษน้อยลง

ขณะที่การขนส่งต่อเที่ยวมีจำนวนสินค้าได้เพิ่มขึ้นกว่าเดิมทำให้การขนส่งมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ในภาพใหญ่อาจจะทำจำนวนเที่ยวการขนส่งของยานพาหนะลดลงไปด้วยซึ่งเป็นการคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการขนส่งด้วยเครื่องบินและรถขนส่งสินค้า นอกจากนี้ทางผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ๆ ในโลกต่างก็พร้อมใจในการสร้าง นโยบายการช่วยรักษาสิ่งแลดล้อมของตัวเองขึ้นมาอีกด้วย

อย่างไรก็ดี นอกจากผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือในฐานะต้นทางของอุตสาหกรรมจะพยายามจัดการผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพียงใด แต่ผู้บริโภคในฐานะปลายทางของ value chain ก็ต้องตระหนักถึงผลกระทบจากการเก็บโทรศัพท์มือถือที่ไม่ได้ใช้ไว้ หรือไม่ได้รับการจัดเก็บและคัดแยก เพื่อทิ้งอย่างเหมาะสม เพราะสุดท้ายผลกระทบจะกระทบต่อผู้บริโภคเอง

OPPO ลดใช้พลาสติกในกระบวนการบรรจุภัณฑ์

สุทธิพงศ์ อมรประดิษฐ์กุล ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ บริษัท ออปโป้ ไทยแลนด์ กล่าวว่า OPPO มีนโยบายลดการใช้พลาสติกในกระบวนการบรรจุภัณฑ์ ซึ่งได้เริ่มนโยบายนี้ในตลาดยุโรปก่อน มีการเปลี่ยนถาดรองอุปกรณ์ในกล่องมือถือเป็นกระดาษ พลาสติกบรรจุห่อสายชาร์จหรือกล่องพลาสติกใส่หูฟังถูกปรับมาใช้กระดาษจากธรรมชาติ ได้แก่ เยื่อไม่ไผ่ ซึ่งสามารถรีไซเคิลและย่อยสลายได้ง่าย จากนโยบายดังกล่าว OPPO Reno4 สามารถลดการใช้พลาสติกได้ถึง 93% เมื่อเทียบกับบรรจุภัณฑ์แบบเดิม

นอกจากนี้ OPPO ยังได้ใช้มาตรฐาน RoHS ในกระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้องกับแร่หายาก ซึ่งทำให้ขนาดชิปเซ็ตมีขนาดเล็กลง ลดปริมาณการใช้แร่หายากในกระบวนการผลิตได้อย่างมีนัยสำคัญ ตัวอย่างเช่น ความร่วมมือกับ MediaTek ที่สามารถผลิตชิปเซ็ตขนาด 7 นาโนเมตร ซึ่งมีการติดตั้งในรุ่น Reno4 Z ในปัจจุบันความร่วมมือกับ Snapdragon ซึ่งได้คิดค้นนวัตกรรมชิปเซ็ตขนาด 5 นาโนเมตรสำหรับ Snapdragon 875

ขณะเดียวกัน ยังประกาศความร่วมมือกับ Qualcomm เป็นพันธมิตรพัฒนาด้านเทคโนโลยีในงาน WMC 2019 และจะมีการเปิดตัวเทคโนโลยีชิปเซ็ตล่าสุดงาน Tech Summit Digital 2020 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-2 ธันวาคม นี้ที่เมืองซาน ดิเอโก สหรัฐอเมริกา

“เราจะได้เห็นนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนต่อไปในแผนงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงการควบคุมและจัดการพลังงาน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ สร้างแบบจำลองเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อยู่ในกลยุทธ์ทางธุรกิจ นำแนวคิดด้านการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมในขั้นตอนการวิจัยและพัฒนาให้มากขึ้น ซึ่งนี่เป็นทิศทางของ OPPO ที่กำลังก้าวไปในอนาคตอันใกล้” สุทธิพงศ์ระบุ

การออกแบบและเลือกใช้วัสดุต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

กัลยา โกวิทวิสิทธิ์ นักออกแบบผลิตภัณฑ์และผู้ร่วมก่อตั้ง Fab Cafe กล่าวว่า การออกแบบผลิตภัณฑ์ต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่การใช้สอย ความสวยงามน่าใช้ ความสะดวกสบายในการใช้ ความแข็งแรงคงทน ราคา กรรมวิธีการผลิต รวมถึงปัจจัยด้านวัสดุ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับปริมาณขยะบนโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก

“ในอดีตการอออกแบบผลิตภัณฑ์มักคำนึงถึงความทนทานเป็นหลัก จึงมีการใช้วัสดุที่แข็งแกร่ง แต่อาจมีราคาแพง แต่ด้วยปัจจัยทางการตลาดที่กระตุ้นให้มีการซื้อถี่ขึ้น ปัจจัยด้านแฟชั่นนิยมของลูกค้า ทำให้เทรนด์การเลือกใช้วัสดุที่มีคุณภาพต่ำลง ทำให้ปริมาณขยะเพิ่มขึ้น แต่ด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เจ้าของแบรนด์หันมาให้ความสำคัญกับการออกแบบและเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สอดรับกับแนวคิด Circular Economy” กัลยา กล่าว

สำหรับ Circular Economy คือระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดอย่างวงจร ตั้งแต่ภาคการผลิต การบริโภค ไปจนถึงการจัดการของเสียด้วยกระบวนการใช้ซ้ำ (Reuse) หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) และการผลิตใหม่ (Re-material) ตลอดจนคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นระหว่างการขนส่งสินค้า อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของทั้งระบบเศรษฐกิจเอง การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และลดมลภาวะที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม

กัลยา ระบุว่า ในกลุ่มนักวัสดุศาสตร์ (Material scientist) มีความพยายามอย่างมากในการพัฒนาวัตถุดิบเพื่อให้วัตถุดิบสามารถซ่อมแซมตัวเองได้ (Self-healing) หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก็มีแนวโน้มการเลือกใช้วัสดุจาก Electronics-based material สู่ Bio-degradeble materials (สามารถสลายตัวทางชีวภาพได้) ซึ่งจะเห็นการเปลี่ยนผ่านอย่างชัดเจนในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม แม้เจ้าของสินค้ารายใหญ่จะหันมาให้ความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น แต่ต้นทุนของวัตถุดิบที่ได้มาจากการรีไซเคิลมีราคาแพงกว่าวัตถุดิบบริสุทธิ์อยู่มาก ทำให้การปรับใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในทางปฏิบัติยังคงเป็นไปได้ยากในสินค้าทั่วไป

ดังนั้นภาครัฐและผู้กำกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้น โดยร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคม และจะต้องมองให้ครอบคลุมทั้ง value chains ของผลิตภัณฑ์หนึ่งๆ ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การออกแบบ การผลิต ตลอดจนการจัดเก็บ เพื่อนำมาเข้าสู่กระบวนจัดหาวัตถุดิบใหม่อีกครั้ง

Related posts

ความหวังจาก ‘คาร์บอนเครดิต’หนึ่งในอาวุธ สู้วิกฤตโลกรวน

ภาวะโลกร้อนเขย่าวิกฤตอาหารโลก ผลผลิตลด คนหิวโหย อันตรายถึงชีวิต

ถ้าบริหารจัดการน้ำเหมือนปี 54วิกฤตอุทกภัยอาจเลวร้ายยิ่งกว่า