สหรัฐปฏิวัติพลังงานแห่งอนาคต เลิกพึ่งพาอุตสาหกรรมฟอสซิล? นับหนึ่งสู้โลกร้อน-แก้ปัญหาปากท้อง

ถ้าใครที่ยังไม่เข้าใจว่าทำไมเวลานี้บ้านเราข้าวของราคาแพงไปเสียทุกอย่าง ต้องไปติดตามการผ่านกฎหมายการควบคุมเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act of 2022) โดยรัฐสภาของสหรัฐ และประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้ลงนามในร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวไปแล้วเมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมา กฎหมายนี้มีเป้าหมายเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ไม่ใช่กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมเป็นการเฉพาะ เพราะเนื้อในกำหนดเป้าการลดค่าใช้จ่ายด้านยา และขึ้นภาษีกับคนรวยเป็นหลัก

โจทย์การแก้ปัญหาในภาพใหญ่ของสหรัฐคือปฏิวัติการลงทุนพลังงานใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันกับการแก้ปัญหาของแพงและลดต้นทุนที่ประชาชนแบกรับนั่นเอง การออกพระราชบัญญัติการควบคุมเงินเฟ้อของสหรัฐไม่แยกเรื่องจากเรื่องพลังงานออกจากภาวะประชาชน แต่ผลักดันการให้มีการผลิตและใช้พลังงานสะอาดในอนาคตมาแก้ปัญหาหลักของโลกปัจจุบัน นั้นคือลดพลังงานฟอสซิลที่เป็นตัวการก่อโลกร้อน

เมื่อของแพงมาจากราคาพลังงานที่แพงขึ้น สหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ จึงต้องการลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลที่ผันผวนง่ายและต้องพึ่งพาประเทศอื่น (เช่น ตัวอย่างจากสงครามในยูเครนทำให้พลังงานแพงและข้าวของแพงไปด้วย)

อดีตรองประธานาธิบดี อัล กอร์ ของสหรัฐ ซึ่งเป็นนักรณรงค์ปัญหาโลกร้อนให้สัมภาษณ์กับ The Guardian เมื่อเร็วๆ นี้ว่า พระราชบัญญัติการควบคุมเงินเฟ้อ คือการ ‘เปลี่ยนประวัติศ าสตร์’ หรือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการต่อสู้และเผชิญหน้ากับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ โดยใช้พลังงานหมุนเวียนมาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคอุตสาหกรรมที่ทำกำไรมหาศาลและประชาชนที่ต้องบริโภคของแพง

พระราชบัญญัติการควบคุมเงินเฟ้อของสหรัฐ มีมูลค่า 700,000 ล้านดอลลาร์ เป็นร่างกฎหมายที่ผ่านโดยรัฐสภาคองเกรสแห่งสหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 117 เมื่อเดือน ส.ค. 2565 และไบเดนได้ลงนามใช้บังคับไปแล้ว โดยมีเป้าหมายเพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อ ลดการขาดดุล ลดราคายาที่ต้องสั่งโดยแพทย์ และลงทุนในการผลิตพลังงานในประเทศ ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการแก้ปัญหาด้านพลังงานสะอาด

การประเมินเบื้องต้นโดย Rhodium Group ซึ่งเป็นผู้ให้บริการวิจัยอิสระระบุว่า กฎหมายตัวนี้จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับชาติ 31-44% ต่ำกว่าระดับปี 2005 ภายในปี 2030 เทียบกับ 24-35% ภายใต้นโยบายปัจจุบัน

การสนับสนุนการผลิตพลังงานสะอาด นอกจากจะช่วยกู้โลก ลดต้นทุนให้ประชาชนแล้ว ยังช่วยเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนกว่าด้วย แบบจำลองจากกลุ่มนวัตกรรมพลังงานที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดหรือ Energy Innovation ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการวิจัยเกี่ยวกับนโยบายพลังงาน ได้แสดงให้เห็นว่าร่างกฎหมายนี้จะนำไปสู่การสร้างงานเพิ่มเติม 1.4 ล้านถึง 1.5 ล้านตำแหน่ง และเพิ่ม GDP 0.84–0.88% ในปี 2030

การสร้างแบบจำลองจากของสถาบันวิจัยที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด Resources for the Future แสดงให้เห็นว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะลดต้นทุนพลังงานค้าปลีกลง 5.2 ถึง 6.7% ในช่วงระยะเวลา 10 ปี ส่งผลให้ประหยัดได้ 170–220 ดอลลาร์ต่อปีสำหรับครัวเรือนในสหรัฐฯ โดยเฉลี่ย แบบจำลองยังระบุด้วยว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวจะส่งผลให้ความผันผวนของราคาไฟฟ้าลดลง

นี่คือวิธีแก้ปัญหาของแพงแบบสหรัฐฯ ที่ไม่ใช่แค่ควบคุมราคาในระยะสั้น หรืออธิบายสาเหตุของแพงแบบข้างๆ คู แต่ได้ผลักดันกฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือทำให้ราคาของถูกลงในระยะยาวด้วย อัล กอร์ จึงบอกว่านี่คือเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ของอเมริกา

รัฐบาลไบเดนและสหรัฐจะไปถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่ต้องติดตาม แต่ย้อนมามองนโยบายการแก้ปัญหาราคาสินค้าและพลังงานแพงในบ้านเราแล้ว คงพอคาดเดากันได้ว่า ประวัติศาสตร์การขับเคลื่อนนโยบายการแก้ปัญหาเหล่านี้ในช่วงที่ผ่านมาถูกบันทึกให้รับรู้แบบไหน และแนวโน้มอนาคตจะเป็นอย่างไร ใคร (ตระกูลใด) ยิ่งสะสมความมั่งคั่งมากขึ้น ประชาชนโดยทั่วไปอยู่อย่างมีความหวังมากน้อยเพียงใด?

อ้างอิง
• Oliver Milman. (12 Aug 202). “Al Gore hails Biden’s historic climate bill as ‘a critical turning point’”. The Guardian.
• “A Congressional Climate Breakthrough”. Rhodium Group. Retrieved July 30, 2022.
• “Modeling The Inflation Reduction Act Using The Energy Policy Simulator”. Energy Innovation. Retrieved August 1, 2022.

Related posts

ฆาตกรเงียบ UN เตือนภัย ‘คลื่นความร้อน’ ถี่ขึ้น เตรียมรับมือ

EU จ่อใช้ ‘คาร์บอนเครดิต’ ต่างชาติ ลดเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปี 2040

CIB บุกยึด ‘เต่าดาวอินเดีย-ปลามังกร’ ลักลอบชายแดน มูลค่า 2 ล้านบาท