ป่าไม้โลกลดลงจนน่าใจหายมาช่วยกันปลูกให้มากกว่าเผา

วันป่าไม้โลก (World Forestry Day) ตรงกับวันที่ 21 มีนาคมของทุกปี สหประชาชาติกำหนดธีมประจำปี 2021 คือ “การฟื้นฟูป่า : หนทางสู่การฟื้นตัวและความเป็นอยู่ที่ดี” เพราะการฟื้นฟูและการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนช่วยแก้ไขวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ

หัวข้อในปีนี้สอดคล้องกับทศวรรษแห่งการฟื้นฟูระบบนิเวศของสหประชาชาติ (พ.ศ. 2564-2573) ซึ่งเป็นการเรียกร้องให้มีการปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศทั่วโลก

ย้อนมาดูสถานการณ์ป่าโดยรวมในบ้านเรา ปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศในปี 2561 – 2562 จำนวน 102.48 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 31.68 ลดลงจากปี 2560 – 2561 จำนวน 4,229.48 ไร่ โดยไทยตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ 40% ของพื้นที่ประเทศ

แบ่งเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 25% พื้นที่ป่าเศรษฐกิจและป่าชุมชน 15% โดยพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 25% หรือ 81 ล้านไร่ เป็นส่วนที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดูแลและปัจจุบันมีพื้นที่รับผิดชอบอยู่ประมาณ 73 ล้านไร่ (22.6 %) ของพื้นที่ประเทศ

และส่วนที่ยังขาดอีก 7.75 ล้านไร่ (2.4%) อยู่ในกระบวนการรับมอบพื้นที่จากกรมป่าไม้ที่มีอยู่ประมาณ 7.7 ล้านไร่ ซึ่งจะได้ครบตามเป้า 25% ของพื้นที่ประเทศภายในปี 2569 ส่วนป่าเศรษฐกิจและป่าชุมชน 15% หรือ 48 ล้านไร่ อยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ (ข้อมูลมูลนิธิสืบฯ)

อย่างไรก็ดี การปลดล็อกกฎหมายป่าไม้อาจจะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนหันมาปลูกป่าในพื้นที่ของตนหรือพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตกันมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันภาครัฐจะต้องจริงจังในการยุติโครงการพัฒนา อาทิ การสร้างเขื่อน ตัดถนนผ่านป่า นำพื้นที่ป่าสงวนไปสัมปทานเหมือง สร้างนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น

เมื่อดูภาพรวมของโลกการสูญเสียพื้นที่ป่าในละตินอเมริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแอฟริกา ซึ่งเป็นป่าฝนเขตร้อนที่สำคัญมีอัตราการสูญเสียเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง โดยพื้นที่ป่าฝนเขตร้อนของละตินอเมริกาได้รับความเสียหายมากที่สุด ฟากแอฟริกานั้นมีอัตราการทำลายป่าเพิ่มมากขึ้นเป็น 2 เท่า ซึ่งทั้งหมดนี้ยังไม่รวมสาเหตุจากสถานการณ์ไฟป่าที่รุนแรงมากขึ้น

โดยผืนป่าอเมซอนถูกทำลายเพิ่มขึ้นสูงถึง 60% หรือเฉลี่ยในทุกๆ นาที ป่าจะหายไปเท่ากับพื้นที่ 1.5 ของสนามฟุตบอล ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกทุกๆ ปีมีต้นไม้ถูกโค่นลงราว 15 ล้านต้นต่อปี หรือะโลกได้สูญเสียต้นไม้ไปแล้ว 46% นับตั้งแต่อารยธรรมของมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้น

ภาพน่าสะเทือนใจมากที่สุดก็คือองค์การนาซาเผยภาพถ่ายแม่น้ำแอมะซอนซึ่งถ่ายไว้เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2020 ช่วงที่ไหลผ่านแคว้นมาเดร เด ดิออส ทางตะวันออกของเปรูที่มีสีคล้ายทองคำตลอดทั้งสาย ซึ่งแท้จริงเป็นพื้นที่เหมืองทองคำที่ถูกลักลอบขุดแล้วปล่อยทิ้งร้าง ถือเป็นหลักฐานฟ้องว่ามีการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าแอมะซอนอย่างหนัก

ดังนั้นสถานการณ์ป่าแอมะซอนซึ่งเป็นพื้นที่ป่าดิบชื้นที่กว้างใหญ่ที่สุดของโลกกำลังถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว นั่นเท่ากับแหล่งดูดซับกักเก็บคาร์บอนที่สำคัญหรือ “ปอดของโลก” กำลังลดลงทุกขณะ เป็นปัจจัยที่ส่งสัญญาณว่าภาวะโลกร้อนคือวิกฤตที่มาเยือนทีละน้อยๆ และผลกระทบจะตามมาในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพราะพื้นที่ป่าลดลงสวนทางการทำลายที่เพิ่มมากขึ้นทุกปีนั่นเอง

จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Science ระบุว่า เราต้องการต้นไม้อีกประมาณ 5 แสนล้านต้น เพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ ซึ่งจากการคำนวณพบว่า มีที่ดินเกือบ 1,000 ล้านไร่บนโลกที่สามารถปลูกป่าขึ้นมาใหม่ได้ และจะช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศมากถึง 25% คิดเป็นสองในสามที่มนุษย์ปล่อยสู่บรรยากาศนับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม

แนวทางนี้สอดคล้องกับเป้าหมายเดิมของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ของสหประชาชาติ ที่กล่าวไว้เมื่อปี 2561 ว่า การเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ 1,000 ล้านเฮกตาร์ หรือประมาณ 10 ล้านตารางกิโลเมตรทั่วโลกภายในปี 2593 จะช่วยลดอุณหภูมิโลกได้ถึง 1.5 องศาเซลเซียส

เพียงแต่ทุกคนบนโลกต้องลงมือทำเดี๋ยวนี้?

สำหรับที่มาของวันป่าไม้โลก (World Forestry Day) ได้มีการเฉลิมฉลองกันต่อเนื่องเป็นเวลามากว่า 30 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้ประชาคมโลกได้เห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ตลอดจนประโยชน์และผลิตผลต่างๆ ที่ได้รับจากป่า
.
วันป่าไม้โลกมีต้นกำเนิดมาจากการประชุมสมัชชนสมัยทั่วไปของสันนิบาตยุโรปด้านการเกษตร (European Confederation of Agriculture) ครั้งที่ 23 ในปี 2541 และในปีเดียวกันนั้นองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้สนับสนุนแนวความคิดดังกล่าวโดยกำหนดให้มีการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องในวันที่ 21 มีนาคมของทุกปีทั่วโลก

ทำไมต้องเป็นวันที่ 21 มีนาคมของทุกปี เพราะวันดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งตรงได้ฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลกพอดี ซึ่งจะเกิดขึ้นปีละ 2 ครั้ง (วันที่ 21 มีนาคมและ 22 กันยายนของทุกปี) หรือในหนึ่งรอบที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ แกนหมุนของโลกที่เอียง (Earth’s axial tilt) จะเลื่อนมาอยู่ในระนาบที่ได้ฉากกับตำแหน่งดวงอาทิตย์

จุดที่ระนาบทั้งสองตัดกันว่า วิษุวัต (Equinox) เหตุการณ์นี้เรียกอีกอย่างว่า “วันราตรีเสมอภาค” หมายถึงเวลาตอนกลางคืนเท่ากับเวลากลางวันพอดี และในวันที่ 21 มีนาคมดังกล่าว ทำให้เกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า “ศารทวิษุวิตของเขตซีกโลกใต้” (Autumnal equinox in Southern Hemisphere)

หมายความว่า จุดที่มีกลางวันและกลางคืนเท่ากันในฤดูใบไม้ร่วง (วันศารท คือ วันเริ่มต้นของฤดูใบไม้ร่วงในซีกโลกใต้) และ วสันตวิษุของซีกโลกเหนือ (Vernal Equinox in Northern Hemisphere) หมายความว่า จุดที่มีกลางวันและกลางคืนเท่ากันในฤดูใบไม้ผลิเขตซีกโลกเหนือ

Related posts

ความหวังจาก ‘คาร์บอนเครดิต’หนึ่งในอาวุธ สู้วิกฤตโลกรวน

ภาวะโลกร้อนเขย่าวิกฤตอาหารโลก ผลผลิตลด คนหิวโหย อันตรายถึงชีวิต

ถ้าบริหารจัดการน้ำเหมือนปี 54วิกฤตอุทกภัยอาจเลวร้ายยิ่งกว่า