SCG ดันเศรษฐกิจหมุนเวียนลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

บริษัท ปูนซิเมนต์ไทยจำกัด (เอสซีจี) จัดงานสัมมนาออนไลน์ระดับโลก “SD Symposium 2020” (Sustainable Development Symposium 2020) ภายใต้แนวคิด “Actions for Sustainable Future” ให้ผู้บริหารทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้ประกอบการ SMEs นักวิชาการ และคนรุ่นใหม่ที่สนใจ ได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนมุมมองกับองค์กรชั้นนำระดับโลก หน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมของไทย ตลอดจนชุมชนในท้องถิ่น ผ่านระบบออนไลน์

โดยในการจัดงานได้นำเสนอมุมมองความร่วมมือจากทุกภาคส่วน มาช่วยนำเสนอหาทางออกเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งจะถูกนำมาปรับใช้ เพื่อดูและสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้านต่อไป

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจี กล่าวว่า ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำลังส่งผลกระทบให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในวงกว้างทั่วโลกเป็นปัญหาที่มีแนวโน้มทวีรุนแรงและผกผันขึ้นทุกปี และช่วงวิกฤตไวรัสโควิด-19 ระบาดทั่วโลก ทำให้ยิ่งมองเห็นปัญหานี้ชัดเจนยิ่งขึ้น หลายฝ่ายซึ่งตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมมองว่า Circular Economy หรือระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

ทั้งนี้ จะช่วยหาทางออกให้กับระบบอุตสาหกรรมและภาคการผลิตที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็น และใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตั้งแต่กระบวนการผลิต การบริโภค จนถึงการนำกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบใหม่เพื่อเป็นทางออกหนึ่งในการช่วยบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อม

แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตั้งแต่การวางแผนและออกแบบ การผลิต การบริโภค การจัดการของเสีย รวมถึงการนำกลับมาใช้ใหม่ผ่านการสร้างความรู้ความเข้าใจ

ขณะเดียวกัน กลไกของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนยังได้สร้างแนวทางความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาคธุรกิจ ภาครัฐ ชุมชน และทุกคนในสังคม รวมถึงผลักดันให้เกิดการขยายผลความร่วมมือและเกิดการนำไปปฏิบัติจริงในทุกภาคส่วน

โดยในปีนี้ได้มีพันธมิตรทางธุรกิจมาร่วมแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนมาช่วยกันสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตและบริโภครวม 180 ราย ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและสร้างความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนให้แก่ชุมชน สังคม ประเทศ และภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้น

เอสซีจีเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่จำเป็นที่จะต้องเข้ามามีบทบาทประสานงานชักชวนภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสังคมแห่งการมีส่วนร่วมในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกันนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาเป็นทางออกแก้ปัญหาพื้นฐาน 4 ด้านที่เป็นพื้นฐานความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของประเทศและของโลก คือ 1. สร้างระบบน้ำหมุนเวียน ให้พร้อมรับวิกฤตแล้งรุนแรงในปีหน้า โดยสนับสนุนให้คนไทยพึ่งพาตนเองเรียนรู้การจัดรูปที่ดินและใช้เทคโนโลยี ควบคู่กับการให้ความรู้การเกษตรแก่เกษตรกรและคนกลับคืนถิ่นจากพิษเศรษฐกิจโควิด-19 และเชิญชวนรัฐบาลร่วมขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ไปพร้อมกับที่ภาคเอกชนดำเนินการ เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ฟื้นคืนเศรษฐกิจชุมชน และเพิ่มผลผลิตเกษตร

2.ส่งเสริมเกษตร “ปลอดการเผา 100%” ในปี 2565 เพื่อลดฝุ่นPM2.5 ลดโลกร้อน และสร้างรายได้ 25,000 ล้านบาทต่อปี โดยหมุนเวียนวัสดุเหลือใช้จากภาคเกษตรมาแปรรูปเป็นพลังงานชีวมวล อาหารสัตว์ บรรจุภัณฑ์ รวมถึงสนับสนุนเทคโนโลยีเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร โดยเกษตรกรไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของเองแต่จะมีการจัดตั้งกองทุนชุมชน เสริมสร้างรายได้ที่มั่นคง

3.การยกระดับการจัดการขยะพลาสติกให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยปรับปรุงหรือเพิ่มเติมกฎหมายการจัดการขยะพลาสติกอย่างจริงจัง มีโรดแมป มีเป้าหมายชัดเจน มีการทำงานที่เป็นรูปธรรม และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนดำเนินการไปพร้อมกัน (Plastic Waste Management System Roadmap) รวมถึงออกมาตรการสนับสนุนสินค้ารีไซเคิลและให้สิทธิพิเศษทางภาษีเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบธุรกิจรีไซเคิลขยะพลาสติก

4.เศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง เพื่อพลิกวงการก่อสร้างสู่ Green and Clean Construction โดยรัฐเป็นต้นแบบกำหนดแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานขนาดใหญ่ โดยใช้เทคโนโลยีจัดการทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ลดวัสดุเหลือทิ้งให้น้อยที่สุด หรือการใช้วัสดุเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ และมอบสิทธิพิเศษทางภาษี

ขณะเดียวกัน เอสซีจี ยังได้ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เดินหน้าองค์กรสู่ Net Zero ภายในปี 2593 เพื่อสนับสนุนการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement)

นอกจากนี้ยังได้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยกำหนดกลยุทธ์ด้านต่าง ๆ เช่น ธุรกิจแพคเกจจิ้ง มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถกลับมารีไซเคิลหรือใช้ซ้ำได้ และบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพิ่มสัดส่วนการเก็บกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตอย่างครบวงจร

ธุรกิจเคมิคอลส์ มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนตลอดทั้ง Supply chain ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่เพิ่มการรีไซเคิลได้มากขึ้น การพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลขยะพลาสติกกลับมาเป็นวัตถุดิบในสัดส่วนที่สูงขึ้น ส่งเสริมการคัดแยกและรวบรวมของเสียกลับมาใช้ใหม่ผ่านชุมชนไร้ขยะและการจัดทำธนาคารขยะโดยใช้ Digital Platform เป็นเครื่องมือในการจัดการ

ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีผสมผสานกับนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้ฉลาก “SCG Green Choice” ตั้งแต่การผลิตสินค้าที่มีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิล สินค้าสำเร็จรูปที่ลด waste ในกระบวนการติดตั้ง

อีกทั้ง สินค้าและบริการที่ลดการใช้พลังงานหรือนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ เช่น พลังแสงอาทิตย์ มุ่งไปสู่ ‘Green Living and Green Society’ รวมถึงการนำของเหลือใช้กลับมาใช้ประโยชน์ ‘Turn Waste to Wealth’ สร้างประโยชน์ให้กับสังคม

วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นการนำทรัพยากรกลับมาใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลน และสร้างมูลค่าเพิ่มจากการนำทรัพยากรกลับมาใช้ประโยชน์ รวมถึงการลดขยะหรือของเสียเหลือศูนย์ พัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมให้เห็นเป็นรูปธรรม เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนมาช่วยกันขับเคลื่อนแนวทางต่าง ๆ ให้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ปัญหาน้ำเป็นปัญหาที่มีความรุนแรงในระดับประเทศ ทุกปีประเทศไทยมีความต้องการใช้น้ำประมาณ 1.2 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ระบบเก็บกักน้ำของประเทศทั้งหมดสามารถเก็บกักน้ำได้เพียง 8 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรแต่สามารถเก็บได้จริงเพียง2หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร จึงยากที่ปัญหาน้ำจะไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เกษตรกร และเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ ด้วยความตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ร่วมกันถอดบทเรียน “ชุมชนต้นแบบที่มีการใช้น้ำหมุนเวียน” ที่ใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน สามารถสร้างรายได้ หลุดพ้นจากความยากจน และสร้างความยั่งยืนให้ชุมชน ได้แก่ ชุมชนดงขี้เหล็ก จ.ปราจีนบุรี, ชุมชนศาลาดิน จ.นครปฐม, ชุมชนบ้านป่าภูถ้ำ จ.ขอนแก่น และชุมชนบ้านสาแพะ จ.ลำปาง เพื่อเป็นต้นแบบและแนวทางให้เกิดการขยายผลในชุมชนอื่น ๆ ต่อไป

Related posts

ความหวังจาก ‘คาร์บอนเครดิต’หนึ่งในอาวุธ สู้วิกฤตโลกรวน

ภาวะโลกร้อนเขย่าวิกฤตอาหารโลก ผลผลิตลด คนหิวโหย อันตรายถึงชีวิต

ถ้าบริหารจัดการน้ำเหมือนปี 54วิกฤตอุทกภัยอาจเลวร้ายยิ่งกว่า