สถิติรุกป่าแอมะซอนสูงที่สุด มากกว่า ม.ค.ปีก่อนถึง 5 เท่า กินพื้นที่ขนาด 430 ตร.กม.

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยอวกาศแห่งชาติของบราซิล (INPE) ระบุว่า สถิติการตัดไม้ทำลายป่าในแอมะซอนของบราซิลในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา สูงกว่าเดือน ม.ค. ปี 2021 ถึง 5 เท่า หรือคิดเป็นพื้นที่ 430 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2015-2016 

ป่าแอมะซอนเป็นป่าฝนที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีความสำคัญต่อการควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากป่าแห่งนี้สามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้จำนวนมหาศาลหรือกล่าวกันว่าที่นี่คือ “ปอดของโลก” ทว่ายิ่งมีการตัดไม้ทำลายป่ามากเท่าไร ป่าก็จะยิ่งดูดซับมลพิษน้อยลงเท่านั้น

ปีที่แล้วรัฐบาลบราซิลประกาศจะยุติการตัดไม้ทำลายป่าอย่างผิดกฎหมายภายในปี 2028 และผู้นำ 141 ประเทศ รวมทั้งบราซิลยังได้ลงนามในคำปฏิญญาว่าจะยุติการตัดไม้ทำลายป่าในการประชุม COP26 เพื่อหยุดการทำลายป่าทั้งหมดภายในปี 2030

อย่างไรก็ตาม การตัดไม้ที่เพิ่มมากขึ้นน่าจะมีประเด็นอย่างน้อย 2 ประการนั่นคือ คำประกาศของประธานาธิบดีฌาอีร์ โบลโซนารู (Jair Bolsonaro) ไม่ตรงกับนโยบายที่ได้ประกาศไว้ ซึ่งผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองให้เหตุผลว่า แม้น้ำเสียงจะเปลี่ยนไป แต่นโยบายอาจยังคงเหมือนเดิม ในขณะเดียวกันต้องเข้าใจว่าป่าเหล่านี้ยังเป็นบ้านของชุมชนที่ต้องการใช้ป่าไม้เพื่อทำเหมืองและการเกษตรเชิงพาณิชย์เพื่อหาเลี้ยงชีพด้วย

แต่ในเวลาเดียวกัน ชุมชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในแอมะซอนก็ได้ต่อสู้เพื่อปกป้องป่าฝนและวิถีชีวิตของพวกเขามาอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางนโยบายของโบลโซนาโรหลังเข้ารับตำแนห่งในปี 2019 ซึ่งได้ลดการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมพื้นที่ป่าของภูมิภาคแห่งนี้ โดยให้เหตุผลว่ารัฐบาลควรใช้ประโยชน์จากพื้นที่เพื่อลดความยากจน

นอกจากนั้นยังมีหลายปัจจัยที่ผลักดันให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าในระดับนี้ เช่น ความต้องการสินค้าเกษตรทั่วโลกที่เพิ่มมากขึ้น เช่น เนื้อวัวและเมล็ดถั่วเหลืองซึ่งกระตุ้นให้มีการอนุญาตที่ผิดกฎหมายเกิดขึ้น อีกทั้งมีความคาดหงังว่าจะมีการอภัยโทษการครอบครองที่ดินผิดกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลบราซิลโต้แย้งว่า ในช่วงระหว่างเดือน ส.ค. ปีที่แล้วถึง ม.ค. 2022 การตัดไม้ทำลายป่าโดยรวมลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อ 12 เดือนที่แล้ว

นอกจากนี้ยังมีความกังวลว่าภูมิภาคแอมะซอนในประเทศโคลอมเบียก็กำลังเผชิญกับภัยคุกคามที่คล้ายคลึงกัน โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแสดงความตื่นตระหนกเกี่ยวกับไฟป่าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยพวกเขากล่าวหาว่าเป็นการตัดไม้เพื่อเปิดทางในการทำฟาร์มปศุสัตว์และพื้นที่เพาะปลูก

เครดิตภาพ : Greenpeace

นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวจากโคลอมเบีย บราซิล ฝรั่งเศส และสเปนกว่า 150 คน ได้ส่งจดหมายถึงประธานาธิบดีอีวาน ดูเก้ แห่งโคลอมเบีย เรียกร้องให้รัฐบาลแสดงจุดยืนที่ก้าวร้าวมากขึ้นในการป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า โดยใช้กองทัพในการแก้ปัยหา รวมทั้งสร้างทางเลือกทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนในภูมิภาคแอมะซอนและจับกุมนายทุนที่อยู่เบื้องหลัง

สำหรับป่าฝนแอมะซอนถือเป็นผืนป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและสมบูรณ์มากที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนมากกว่า 24 ล้านคนในบราซิล รวมถึงชนเผ่าพื้นเมืองหลายแสนคนจาก 180 กลุ่ม

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ความหลากหลายทางชีวภาพในภูมิภาคนี้เป็นที่อยู่อาศัยของของพืชและสัตว์ทุกชนิดที่รู้จักบนโลกกว่า 10% มีพืชประมาณ 40,000 สปีชีส์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมากกว่า 400 ชนิด โดยมีนกและแมลงกว่า 1,300 สายพันธุ์จำนวนนับล้านชนิด

นอกจากความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตที่หาตัวจับยากแล้ว แอมะซอนยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยควบคุมสภาพอากาศของโลก ลุ่มน้ำแอมะซอนสามารถเก็บกักคาร์บอนได้ประมาณ 100,000 ล้านเมตริกตัน ซึ่งมากกว่าการปล่อยมลพิษทั่วโลกประจำปีจากเชื้อเพลิงฟอสซิลถึงสิบเท่า

แม้ว่าพื้นที่จะครอบคลุม 2.6 ล้านตารางไมล์ใน 9 ประเทศ ได้แก่ บราซิล โบลิเวีย เปรู โคลอมเบีย เอกวาดอร์ เวเนซุเอลา กายอานา ซูรินัม และเฟรนช์เกียนา ประมาณ 60% ของลุ่มน้ำแอมะซอนอยู่ในบราซิล 

กรีนพีซระบุว่า ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาป่าอะเมซอนของบราซิลได้สูญเสียป่าฝนไปมากกว่า 18% ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีขนาดเท่ากับรัฐแคลิฟอร์เนีย ทั้งการตัดไม้อย่างผิดกฎหมาย การบุกรุกพื้นที่ทำการเกษตรทั้งถั่วเหลือง และการเลี้ยงปศุสัตว์ แม้จะมีการสร้างพื้นที่คุ้มครองในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา แต่การคุกคามป่าไม้ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดโดยเฉพาะในยุคประธานาธิบดีโบลโซนารู

อ้างอิง:

  • Jake Spring (Feb 11 2022) “Deforestation in Brazil’s Amazon rainforest hits record January high” . Reuters
  • Georgina Rannard (Feb 12 2022) “Amazon deforestation: Record high destruction of trees in January” . BBC
  • (Feb 11 2022) “Deforestation in Brazil’s Amazon hits new record in January” . Aljazeera
  • Brazil and the Amazon Forest . Greenpeace

Related posts

ประเทศไทยเอาไงดี? ส่องความคืบหน้าแผนรับมือโลกร้อน

ผลกระทบอากาศสุดขั้ว ภัยคุกคาม ‘สุขภาพมนุษยชาติ’ ครั้งใหญ่ที่สุด

‘เอลนีโญ’ ผลพวงสภาพอากาศสุดขั้ว สัญญาณวิกฤตภัยแล้งรุนแรง