อุณหภูมิโลกเสี่ยงสูงเกินต้าน ไทยเตรียมเผชิญ ‘ปิศาจคลื่นความร้อน’

ปี 2566 เป็นปีที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกกันมา โดยอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.4 องศาเซลเซียส จากค่าพื้นฐานในช่วงปี 2359-2443 ซึ่งเป็นช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม โดยสูงกว่าปี 2559 และ 2563 ที่เคยทำสถิติสูงสุดมาก่อนหน้านี้ ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากปรากฎการณ์เอลนีโญที่ทำให้เกิดภาวะแล้งที่ยาวนาน นอกจากนี้ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 50% จากยุคก่อนอุตสาหกรรมปกคลุมชั้นบรรยากาศ ทำให้ไม่สามารถถ่ายเทความร้อนออกไปได้ (1)

ในขณะที่แผ่นน้ำแข็งขนาดใหญ่ในสวิสเซอร์แลนด์ลดลงถึง 10% ในช่วงสองปีที่ผ่านมา (2) ตลอดจนหลายประเทศของยุโรปมีอุณหูมิสูงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกมา เช่น เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2564 เกาะซิซิลีของอิตาลีมีอุณหภูมิสูงที่สุดที่ 48.8 องศาเซลเซียส จากข้อมูลขององค์การอุตนิยมวิทยาโลก ระบุว่า อุณหภูมิที่สูงที่สุดที่ถูกบันทึกไว้อย่างเป็นทางการในปัจจุบันของยุโรปคือ 48 องศาเซลเซียสซึ่งเกิดขึ้นในกรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ เมื่อปี 2520 (3)

เอเชียเผชิญปิศาจคลื่นความร้อน

ขณะที่ประเทศแถบเอเชียเกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า “ปิศาจคลื่นความร้อนแห่งเอเชีย” หรือ “Monster Asian Heatwave” ซึ่งหลายประเทศในเอเชียมีสภาพอากาศร้อนจัดจากอุณหภูมิที่ขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งในอินเดีย จีน บังคลาเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สปป.ลาว และรวมถึงไทยซึ่งอุณหภูมิสูงสุดวัดได้ที่จังหวัดตาก อยู่ที่ 44.6 องศาเซลเซียส (4)

ภาวะ Monster Asian Heatwave ที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นปรากฏการณ์อากาศร้อนอย่างรุนแรงในช่วงกลางเดือนและปลายเมษายน ปี 2566 ซึ่งคลื่นความร้อนเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอย่างหนึ่งที่ทำให้อากาศในบริเวณใดบริเวณหนึ่งมีปริมาณความร้อนมากกว่าปกติและเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาหนึ่ง แต่อาจเกิดขึ้นและหมดลงในไม่กี่วัน หรืออาจเกิดนานมากกว่าหลายสัปดาห์ก็ได้  องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกได้เตือนว่า สภาวะดังกล่าวอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมทั่วโลก และอาจส่งผลต่อภาวะสภาพอากาศแปรปรวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย (5)

แนวโน้มความรุนแรงของสภาพภูมิอากาศตอกย้ำผ่านข้อมูลล่าสุดจาก C3S/ECMWS และงานวิจัยของ PNAS  ที่ระบุว่า ในรอบ 365 วัน จนถึงเดือนมกราคม 2567 อุณหภูมิโลกได้เพิ่มขึ้น 1.52 องศาเซลเซียสไปแล้ว ซึ่งนั่นหมายความว่าโลกอาจจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงอุณหภูมิสูงเกิน 2 องศาเซลเซียสได้ กล่าวคือ มีความเป็นไปได้มากกว่า 84% ที่โลกจะมีอุณหภูมิแตะ 2 องศาเซลเซียส ในปี 2601 และ 2608 อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าวจะทำให้มนุษยชาติมีความเสี่ยงที่จะเผชิญสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้วตามมา โดยไม่สามารถกลับไปสู่สภาวะสมดุลได้ (6)

ไทยจัดทำแผนรับมือโลกร้อน      

คำถามก็คือ แล้วประเทศไทยมีแผนการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวนี้อย่างไร ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (7) อธิบายว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อผู้คนทั้งโลก และไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากมาตรการลดโลกร้อนที่กำลังดำเนินการอยู่นั้นไม่ได้รวดเร็วเพียงพอในการควบคุมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์

ดังนั้น ภาวะแห้งแล้งที่ยาวนาน ปริมาณน้ำฝนที่มากจนผิดปรกติจนเกิดภาวะน้ำท่วม หรือแม้กระทั่งคลื่นความร้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้บ่อยและยาวนานกว่าเดิม เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งทุกปีผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ และสุขภาพ

นั่นเป็นที่มาที่ทั่วโลกจึงเห็นพ้องต้องกันว่า การปรับตัวภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญในการลดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ซึ่งภายใต้ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ประเทศภาคีสมาชิกต้องจัดทำแผนปรับตัวแห่งชาติ หรือ National Adaptation Plan (NAP) เพื่อรองรับการปรับตัวในภาคเสี่ยงสูง ซึ่งประเทศไทยได้จัดทำแผนดังกล่าว โดยให้ความสำคัญด้านกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด  6 สาขาที่สำคัญ

ได้แก่ การจัดการน้ำ การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร การท่องเที่ยว สาธารณสุข การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ โดยวางกรอบแนวทางของประเทศในการบูรณาการประเด็นการปรับตัวในแผนและยุทธศาสตร์รายสาขาและในระดับพื้นที่ รวมถึงสร้างขีดความสามารถในการปรับตัว และเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ขณะเดียวกัน ยังมีการสื่อสารต่อภาคีสมาชิกภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ถึงเป้าหมายและแนวทางการดำเนินงานด้านการปรับตัวฯ ของประเทศ ตลอดจนจะเป็นประโยชน์สำหรับภาคส่วนต่าง ๆ ภายในประเทศที่ประสงค์ขอรับการสนับสนุนการดำเนินงานด้านการปรับตัวต่อการเลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ ที่สอดคล้องกับ NAP จากกลไกทางการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีความเห็นชอบในหลักการต่อ NAP และมอบหมายสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) นำความเห็นไปปรับปรุง ก่อนนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการบูรณาการนโยบายและแผนพิจารณาให้ความเห็นชอบ

เตรียมพัฒนาพันธุ์ข้าว/ช่วยกลุ่มเปราะบาง

ภายใต้แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งจะต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในขั้นตอนสุดท้าย จะเน้นการบูรณาการของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำแผนการปรับตัว ซึ่งมีประเด็นปรากฎการณ์คลื่นความร้อนที่จะต้องมีการออกแบบคำเตือนสำหรับการเตือนภัยประชาชนล่วงหน้าให้หลบหลีกการอยู่กลางแจ้ง รวมถึงแนวทางการปฎิบัติตัวให้ปลอดภัยจากคลื่นความร้อน การจัดการทรัพยากรน้ำซึ่งจะมีผลกระทบโดยตรงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะต่อกลุ่มเกษตรกรที่เป็นภาคการผลิตที่สำคัญของประเทศ และเป็นกลุ่มเปราะบางที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด

ขณะเดียวกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมการผลิตเมล็ดพันธุ์ โดยเฉพาะพันธุ์ข้าวให้ต้านทานทั้งภาวะภัยแล้งจากปริมาณฝนที่ตกน้อยลง หรือการศึกษาวิจัยเมล็ดพันธุ์ที่สามารถทนทานต่อภาวะน้ำท่วมขังได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะสามารถลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ รวมถึงแผนการรับมือการตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์กลุ่มประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทะเล เนื่องจากผืนดินจะถูกกัดเซาะอย่างรุนแรงจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากการละลายตัวของแผ่นน้ำแข็งขนาดใหญ่ จากปัจจัยเร่งของอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการศึกษาในกรณีนี้พบว่า แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลในบริเวณชายฝั่งของประเทศไทยจะอยู่ในระดับปานกลาง

แนวโน้มอุณหภูมิเฉลี่ยของไทยสูงกว่าค่าปกติ

ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินการศึกษาการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในอนาคต โดยใช้ข้อมูลจากศูนย์ภูมิอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา และได้พัฒนาการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทยในอนาคตให้มีรายละเอียดความถูกต้องเพิ่มมากขึ้น โดยพบว่า ผลจากการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิจากแบบจำลองคณิตศาสตร์ 20 ปี ระหว่างปี 2559-2578 คาดว่าอุณหภูมิอากาศสูงสูดเฉลี่ย อุณหภูมิอากาศต่ำสุดเฉลี่ย และอุณหภูมิอากาศเฉลี่ยรายเดือนเป็นรายภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ฝั่งตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีแนวโน้มสูงกว่ากับค่าปกติมาตรฐานประมาณ 0.5-1.5 องศาเซลเซียส ในทุกภูมิภาค

สำหรับในช่วงทุก 5 ปี ระหว่างปี 2559-2563, 2564-2568, 2569-2573 และ 2574-2578 พบว่า อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยอุณหภูมิอากาศต่ำสุดเฉลี่ย และอุณหภูมิอากาศเฉลี่ยรายเดือนเป็นรายภูมิภาคช่วงทุก 5 ปี มีแนวโน้มสูงกว่าค่าปกติประมาณ 0.5-1.5 องศาเซลเซียสในทุกภูมิภาคเช่นเดียวกัน

ขณะที่ ผลจากการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยสูงสุดจากแบบจำลองคณิตศาสตร์ 20  ปีระหว่างปี 2559-2578 คาดว่าปริมาณฝนรวมรายเดือนเป็นรายภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ฝั่งตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีแนวโน้มใกล้เคียง กับค่าปกติมาตรฐานในทุกภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ทางภาคตะวันออกและภาคใต้ มีแนวโน้มของปริมาณน้ำฝนสูงสุดเฉลี่ยโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมากกว่าในภูมิภาคอื่น ๆ แต่สำหรับในช่วงทุก 5 ปี ระหว่างปี 2559-2563, 2564-2568, 2569-2573 และ 2574-2578 พบว่า ปริมาณฝนรวมรายเดือนเป็นรายภูมิภาคช่วงทุก 5 ปี มีแนวโน้มสูงกว่าค่าปกติเล็กน้อยในทุกภูมิภาค

ดร.พิรุณ สะท้อนด้วยว่า ถึงแม้ประเทศไทยจะได้เตรียมแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในทุกภาคส่วนของสังคม ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งการสร้างความรับรู้ การตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางที่มักจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากภาวะโลกร้อน ซึ่งอาจจำเป็นต้องมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อเยียวยากลุ่มเหล่านั้นให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ ภายใต้ขีดจำกัดของสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป และยากที่จะกลับคืนมาเหมือนเดิม

แผนรับมือภาวะโลกร้อนของไทยทั้งหมดที่จะออกมานั้น นอกจากต้องมีการทบทวนเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูงแล้ว จำเป็นจะต้องมีการซักซ้อมและบูรณาการหน่วยงานที่รับผิดชอบการปฏิบัติให้มีความชัดเจนและเกิดเป็นรูปธรรม เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางให้ได้มากที่สุด

ภาพประกอบการเผยแพร่

อ้างอิง :

  • WMO ชี้ปี 2023 ทุบสถิติโลกร้อนขึ้น 4 องศาเซลเซียส (2023). Retrieved Feb 28, 2024, from https://www.thaipbs.or.th/news/content/334494
  • อึ้ง ธารน้ำแข็งในสวิตเซอร์แลนด์หดตัวเร็ว แค่ 2 ปี หายไปแล้ว 10% (2023). Retrieved Feb 28, 2024, from https://www.thairath.co.th/news/foreign/2728923
  • อิตาลีร้อนจัด อุณหภูมิพุ่ง 48.8 องศา อาจทำลายสถิติของยุโรป (2021). Retrieved Feb 28, 2024, from https://www.matichon.co.th/foreign/news_2881162
  • ‘คลื่นความร้อน’ Monster Asian Heatwave ถล่มเอเชีย ไทยก็โดนด้วย! (2023). Retrieved Feb 28, 2024, from https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1067096
  • Monster Asian Heatwave ปีศาจร้ายแห่งเอเชีย สาเหตุที่ทำให้ร้อนเกือบ 50 องศา (2023). Retrieved Feb 28, 2024, from https://www.seub.or.th/bloging/news/2023-127/
  • หลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัญหาสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้ว อุณหภูมิโลกอาจสูงเกิน 2 องศาฯ (2023). Retrieved Feb 28, 2024, from https://www.thairath.co.th/futureperfect/articles/2761991
  • ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์กับผู้รับทุนโครงการผลิตสื่อเพื่อการปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาพภูมิอากาศสุดขั

Related posts

ภาวะโลกร้อนเขย่าวิกฤตอาหารโลก ผลผลิตลด คนหิวโหย อันตรายถึงชีวิต

ถ้าบริหารจัดการน้ำเหมือนปี 54วิกฤตอุทกภัยอาจเลวร้ายยิ่งกว่า

ประเทศไทยเอาไงดี? ส่องความคืบหน้าแผนรับมือโลกร้อน