อุณหภูมิโลกระอุต่อเนื่อง เตรียมรับมือผลกระทบคลื่นความร้อนสุดขั้ว ปี 67

ภายหลังโลกต้องเผชิญกับภัยพิบัติภูมิอากาศอย่างหนักหนาสาหัสมาตลอดทั้งปี 2566 โดยเฉพาะภัยจากคลื่นความร้อนสุดขั้ว ที่ส่งผลให้ปี 2566 ถือเป็นปีที่ร้อนที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึก อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า สถิตินี้อาจมีอายุไม่ยืดนัก เพราะเราอาจจะต้องเจอกับปีที่ร้อนจัดยิ่งกว่าในปี 2567

โลกยังมีแนวโน้มร้อนขึ้นต่อเนื่อง

ในปี 2566 เราทุกคนคงรู้สึกได้ว่า โลกของเรากำลังร้อนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะไม่เพียงแต่ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา เราคนไทยต้องเจอกับอากาศร้อนจัดประหนึ่งกลางเมษาแทบทุกวัน เรายังได้เห็นข่าวคราวไฟป่าครั้งใหญ่ตลอดจนภัยพิบัติคลื่นความร้อนสุดขั้วจากทั่วทุกมุมโลก

ผลการวิเคราะห์สภาพภูมิอากาศล่าสุด โดยสถาบัน Copernicus Climate Change Service1 เผยว่า ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิโลกในปี 2566 มีค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมถึง 1.46 องศาเซลเซียส ทำลายสถิติปีที่ร้อนที่สุดก่อนหน้าในปี 2559 ถึงกว่า 0.13 องศาเซลเซียส

อุณหภูมิโลกที่พุ่งทะยานจนทำลายสถิติในปีนี้ไม่เพียงทำให้ ปี 2566 เป็นปีที่ร้อนที่สุดที่มนุษยชาติเคยประสบ นักวิทยาศาสตร์ยังเชื่อว่าปีที่ผ่านมาอาจเป็นปีที่ร้อนที่สุดในรอบกว่า 125,000 ปี

สภาพอากาศร้อนจัดผิดปกติที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกดังกล่าว เป็นผลมาจากสภาวะโลกร้อนจากการสะสมของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ โดยเฉพาะการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมลพิษอื่น ๆ จากการเผาใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ เนื่องด้วยอัตราการบริโภคเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม ราวศตวรรษที่ 19 ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกทะยานสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

“แม้ว่ารายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศชี้ว่า เรายังมีโอกาสที่จะหยุดยั้งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกได้ แต่เป้าหมายดังกล่าวจะเป็นไปไม่ได้เลย หากเราไม่เร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษอื่น ๆ สู่ชั้นบรรยากาศอย่างเร่งด่วน” Nick Dunstone นักภูมิอากาศวิทยา ประจำองค์การอุตุนิยมวิทยาแห่งประเทศอังกฤษ กล่าว 2

กระนั้น ข้อมูลจากงานวิจัยโดย Statista เผยว่า ล่าสุดในปี 2565 ปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกยังคงสูงขึ้นอีก 1.7% สอดคล้องกับข้อมูลจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ที่ชี้ว่า ความหนาแน่นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศมีค่าสูงเป็น 2 เท่าของระดับความหนาแน่นก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมเรียบร้อยแล้ว และยังคงไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ทำให้ WMO คาดการณ์ว่า ช่วงเวลานับตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปี 2570 จะเป็นช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ 3

“จากข้อมูลในมือตอนนี้ มีแนวโน้มสูงมากว่าปี 2567 จะยิ่งมีสภาพอากาศร้อนยิ่งขึ้นอีก เราคาดการณ์ว่า โลกจะต้องเจอปีที่ร้อนทำลายสถิติอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง ในช่วงเวลาต่อจากนี้” Dunstone กล่าว

เอลนีโญเสริมแรงให้ร้อนยิ่งขึ้น

นอกจากผลกระทบสภาวะโลกร้อน นักวิทยาศาสตร์ยังตั้งข้อสังเกตว่า ปรากฎการณ์เอลนีโญกำลังแรงที่เริ่มส่งอิทธิพลตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้อุณหภูมิผิวน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกสูงขึ้นกว่าปกติ ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสริมที่ทำให้อุณหภูมิโลกในปีนี้ร้อนยิ่งขึ้นไปอีก เนื่องจากน้ำทะเลที่ร้อนขึ้นทำให้เกิดการถ่ายเทความร้อนและการระเหยของไอน้ำจากผิวมหาสมุทรขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้น

นอกจากนี้ ปรากฎการณ์เอลนีโญยังส่งผลให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแอฟริกาเกิดความแห้งแล้งและมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ

Kevin Trenberth นักวิจัยประจำศูนย์วิจัยชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐ (NCAR) กล่าวว่า โดยทั่วไปแล้ว ปรากฎการณ์เอลนีโญมักจะสิ้นสุดลงภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี โดยมักจะทวีกำลังสูงสุดในช่วงฤดูหนาว ก่อนจะสลายตัวไปในช่วงฤดูใบไม้ผลิ หากแต่ปรากฎการณ์เอลนีโญครั้งนี้มีทีท่าว่าจะมีกำลังแรงกว่าปกติ ทำให้คาดการณ์ว่า ปรากฎการณ์เอลนีโญในปี 2566 จะยังคงมีกำลังแรงต่อเนื่องยาวไปจนถึงช่วงกลางปี 2567 4

จากผลปรากฎการณ์เอลนีโญที่ยังทวีกำลังแรงต่อเนื่องและอัตราการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ยังคงไม่ลดลง ทำให้นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยภูมิอากาศชั้นนำทั่วโลกต่างฟันธงเป็นเสียงเดียวกันว่า อุณหภูมิโลกมีแนวโน้มร้อนระอุต่อเนื่องในปี 2567

เตรียมตัวรับมือภัยอากาศร้อน

ในขณะที่โลกกำลังเดินหน้าเข้าสู่อีกหนึ่งปีที่คาดว่าจะยิ่งร้อนทำลายสถิติ ประเทศไทยถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่เสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบหนักจากสภาพอากาศร้อนจัด โดยเฉพาะภัยจากโรคลมแดด

แม้ว่าประเทศไทยจะมีสภาพอากาศที่ร้อนเป็นปกติอยู่แล้ว หากแต่ผลพวงจากสภาวะโลกร้อนและปรากฎการณ์เอลนีโญ ทำให้ไทยมีจำนวนวันที่มีสภาพอากาศร้อนจัด มีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส เกิดถี่มากขึ้น ทำให้กว่า 80% ของประชากรไทยตกอยู่ในความเสี่ยงจากภัยสุขภาพเนื่องจากอากาศร้อนจัด 5

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดเผยว่า โรคลมแดดหรือภาวะฉุกเฉินจากความร้อน (Heatstroke) ถือเป็นอีกภัยสุขภาพที่คนทั่วไปอาจไม่ได้ให้ความสนใจเท่าใดนัก แม้ว่าโรคดังกล่าวกำลังมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ และหากรักษาไม่ทันกาลอาจส่งผลร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ อธิบายว่า โรคลมแดดเป็นภาวะที่เกิดจากร่างกายมีความร้อนสูงเกินไปและไม่สามารถระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ทัน มักเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิร่างกายสูง 40 องศาเซลเซียส โดยมักพบในกลุ่มผู้ใช้แรงงานและผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง ที่ต้องทำงานกลางแดดและสัมผัสกับอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน ซึ่งก็พบว่า จากสภาพอากาศร้อนยิ่งขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้ขณะนี้มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาจากโรคลมแดดมากขึ้นเช่นกัน

“โรคลมแดดเป็นภัยสุขภาพที่เราไม่ควรประมาท เพราะไม่เพียงแต่เด็กและผู้สูงวัยที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นลมแดดเท่านั้น ผู้ใหญ่ที่แข็งแรงสุขภาพดีก็สามารถป่วยหรือเสียชีวิตจากโรคลมแดดได้เช่นกัน โดยเฉพาะในภูมิอากาศร้อนชื้นของประเทศไทย” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ในขณะที่ ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า แม้ว่าคนไทยจะคุ้นชินกับสภาพอากาศร้อน แต่อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นจนเกิน 40 องศาเซลเซียส นับว่าเป็นสภาพอากาศที่ร้อนจนเป็นอันตราย ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของมนุษย์ โดยเฉพาะกลุ่มคนยากจนที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบปรับอากาศได้

เนื่องด้วยสภาพอากาศร้อนจัดเช่นนี้จะยิ่งเกิดมากขึ้น หากประชาคมโลกไม่เร่งดำเนินการแก้ไขสภาวะโลกร้อน โดยการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเร่งด่วน ธารา ย้ำว่า ทุกภาคส่วนจึงต้องเร่งผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมปลอดคาร์บอนให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันผลกระทบจากอากาศร้อนจัดและภัยอื่น ๆ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ 6

อ้างอิง

  1. What climate records were broken in 2023 (2023). Retrieved Jan 2, 2024, from https://www.aljazeera.com/news/longform/2023/12/31/what-climate-records-were-broken-in-2023?fbclid=IwAR0B9f1S2pxXI455v9LlCrx-Sh0U7YoVJTTJCNpl9OH6sieWXSIY0YbwVgo
  2. Dinah Voyles Pulver, Doyle Rice and Ramon Padilla (2024). Retrieved Jan 2, 2024, from https://www.usatoday.com/story/news/nation/2024/01/01/2023-was-earths-hottest-year-experts-say/71882923007/
  3. Annual greenhouse gas emissions worldwide from 1970 to 2022 (2023). Retrieved Jan 2, 2024, from https://www.statista.com/statistics/1285502/annual-global-greenhouse-gas-emissions/#:~:text=Global%20greenhouse%20gas%20(GHG)%20emissions,by%20more%20than%2060%20percent
  4. What climate scientists are predicting for the globe in 2024. (2024). Retrieved Jan 2, 2024, from https://www.washingtonpost.com/climate-environment/2024/01/02/record-heat-2024-el-nino/
  5. Heatwave to worsen, experts warn (2023). Retrieved Jan 2, 2024, from https://www.bangkokpost.com/thailand/special-reports/2551321/heatwave-to-worsen-experts-warn
  6. รู้จักโรคลมแดด หรือ ฮีตสโตรก ภัยเงียบที่มากับหน้าร้อน (2023). Retrieved Jan 2, 2024, from https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_661596

Related posts

ถ้าบริหารจัดการน้ำเหมือนปี 54วิกฤตอุทกภัยอาจเลวร้ายยิ่งกว่า

ประเทศไทยเอาไงดี? ส่องความคืบหน้าแผนรับมือโลกร้อน

ผลกระทบอากาศสุดขั้ว ภัยคุกคาม ‘สุขภาพมนุษยชาติ’ ครั้งใหญ่ที่สุด