10 เรื่องน่ารู้ของวัวแดง

1.ขณะที่สัตว์ใหญ่ชนิดอื่นในเอเชียอาคเนย์ อย่างเสือ ช้าง กระซู่ เป็นเป้าสนใจของงานอนุรักษ์มาโดยตลอด วัวแดงกลับถูกมองข้ามไป ทั้งที่ปัจจุบันสถานภาพระดับโลกของวัวแดง (Banteng) คือ “ใกล้สูญพันธุ์” หรือ Endangered โดยก่อนหน้านี้เคยเกือบจะถึงขั้น Critically Endangered มาแล้วด้วย แต่ประชากรวัวแดงในประเทศกัมพูชา ซึ่งฟื้นตัวดีมาก ช่วย #savebanteng ไว้ทัน

2. IUCN ประเมินว่าปัจจุบันเหลือวัวแดงโตเต็มวัย (นับเฉพาะที่เป็นสายพันธุ์ป่าเอเชียแท้ๆ) อยู่ที่ 4,000-8,000 ตัว โดยบ้านหลังใหญ่สุดของพวกมันอยู่ที่ประเทศกัมพูชา

อย่างไรก็ตาม มี “วัวแดงเร่ร่อน” ที่ภาคเหนือของประเทศออสเตรเลียด้วย จากจุดเริ่มต้นปล่อยไปแค่ 20 ตัว ปัจจุบันมีวัวแดงออสซี่ร่วม 6,000 ตัว พวกมันยังไม่ถูกกำจัด ในฐานะเอเลี่ยนผู้รุกราน เพราะมีการมองการณ์ไกลว่า ในอนาคต มันอาจเป็นประชากรวัวแดงสำรอง หากว่าฝั่งเอเชียล้มเหลวในการอนุรักษ์

ทั้งนี้ ยังมี “วัวบาหลี” (Bali Cattle) จำนวนมหาศาลที่ประเทศอินโดนีเซีย พวกนี้ก็คือวัวแดงที่สายพันธุ์ปนเปื้อน และกลายเป็นวัวบ้านไปหมดแล้ว ถูกเลี้ยงเพื่อทำงานไถนาและบริโภคเนื้อ

3. สวนสัตว์ซานดิเอโก ที่อเมริกา เคยโคลนนิ่งวัวแดงสำเร็จมาแล้ว เมื่อปี 2003 ลูกวัวแดงโคลนมีชีวิตอยู่นาน 7 ปี จึงตายไปเมี่อปี 2010 ทั้งนี้ อเมริกาทำการวิจัยโคลนนิ่งสัตว์ตระกูลวัวป่าหายาก โดยมีวัวแดงเป็นรายที่ 2 ต่อจากกระทิง ซึ่งปรากฏว่าลูกกระทิงโคลน ตายอย่างรวดเร็วหลังเกิดมา แต่วัวแดงอยู่มาได้อีกหลายปี

4. วัวแดง มีขนาดกึ่งกลางระหว่างวัวบ้านกับกระทิง น้ำหนักสูงสุดประมาณ 600-800 ก.ก. เป็นสัตว์ที่มีสีสันแตกต่างกันชัดเจนระหว่างวัวตัวผู้กับวัวตัวเมีย โดยเฉพาะวัวตัวผู้ จะมีสีสันที่หลากหลาย บางตัวเป็นสีดำแลดูคล้ายกระทิง จนปรากฏเป็นข้อเขียนในสารคดีล่าสัตว์เก่าแก่ (โดย “ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์”) ถึงการพบวัวแดงประหลาดสีดำ ในป่าชายแดนเขมร จนตั้งข้อสงสัยว่าอาจเป็นลูกผสม “วัวแดง+กระทิง” ซึ่งแท้จริงแล้ว ก็น่าจะเป็นวัวแดงตัวผู้เวอร์ชั่นสีดำนั่นเอง

5. วัวแดงตัวผู้ที่แข็งแกร่งที่สุด คือจ่าฝูง แต่มันไม่ได้อยู่ติดฝูงตลอดเวลา ชอบแยกตัวออกไปท่องเที่ยวหากินตามลำพัง ปล่อยหน้าที่การนำฝูงให้กับตัวเมียอาวุโส ซึ่งเต็มไปด้วยสัญชาตญาณการเอาตัวรอด และรอบรู้เกี่ยวกับแหล่งหากิน

(ช่างภาพสัตว์ป่าจะรู้ดี ถ้าเอาชนะสัญชาตญาณระแวงภัยของวัวแดงตัวเมีย ที่เป็นผู้นำฝูงไม่ได้ โอกาสได้ถ่ายภาพพวกมันก็จะหมดไป)

6. ในหนังสือ Bovids of the World ระบุถึงคุณสมบัติวัวแดงไว้ว่า เป็นสัตว์ที่ประสาทดมกลิ่นถึงขั้นเลิศมาก ส่วนประสาทหูกับตาก็อยู่ในเกณฑ์ดี มีความปราดเปรียวว่องไวมาก

(ตามประสบการณ์ตรง ก็ถือว่าสอดคล้องกับข้อมูลในหนังสือเล่มนี้ เพราะเคยเห็นหลายครั้ง วัวแดงวิ่งฉิวปลิวลมทะลุผ่านแนวป่าหายลับไปอย่างรวดเร็วราวลมพัด ไม่มีอาการงุ่มง่ามแบบวัวบ้าน)

7. ไทยเป็นชาติแรก ที่มีการเพาะพันธุ์วัวแดงในกรง แล้วจัดการปล่อยกลับสู่ป่าได้สำเร็จ ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสลักพระ จ.กาญจนบุรี อันเป็นพื้นที่ที่เคยมีวัวแดง แต่หมดไปเนื่องจากการล่าในอดีต จากการติดตามผลการปล่อยวัวเพาะดังกล่าว พบว่าพวกมันให้กำเนิดลูกน้อยในป่าด้วย นับเป็นความสำเร็จครั้งแรกของโลกเช่นกัน

8. ปัจจุบันมีป่าไทยไม่กี่แห่งที่ยังมีวัวแดงเหลืออยู่ เช่น ห้วยขาแข้ง กุยบุรี ตาพระยา อมก๋อย รวมแล้วประมาณ 500 ตัว โดยห้วยขาแข้งมีจำนวนประชากรวัวแดงหนาแน่นสุด และมีบทบาทเป็นหนึ่งในเหยื่อสำคัญของเสือโคร่ง

ทั้งนี้ ชีวิตเสือจะสุขสบายหรือลำบาก ก็ขึ้นกับความอุดมสมบูรณ์ของเหยื่อด้วย การมีวัวแดงชุม จึงส่งผลดีโดยตรงต่อเสือโคร่ง

9. ขณะที่วัวแดงเป็นเหยื่ออันดับต้นๆ ของเสือโคร่งในป่าห้วยขาแข้ง พวกมันในป่าตะวันออกของกัมพูชา ถึงขั้นเป็นเหยื่อหลักของ “เสือดาวอินโดจีน” ที่ใกล้สูญพันธุ์ โดยหลังจากเสือโคร่งในพื้นที่หมดไปร่วมทศวรรษ เสือดาวที่เคยกินแต่สัตว์เล็ก ก็เปลี่ยนบทบาทมาเป็น “สุดยอดสัตว์ผู้ล่า” แทนเสือโคร่ง

จากการวิจัยด้วยการเก็บขี้เสือดาวมาตรวจวิเคราะห์ พบความจริงอันน่าทึ่งว่า เสือดาว (เฉพาะตัวผู้) จะกินวัวแดงที่โตเต็มที่น้ำหนักกว่า 500 กก. เป็นอาหารหลัก!

10. วัวแดงรอดพ้นจากการหมดสิ้นจากป่าห้วยขาแข้ง ก็ด้วยกระสุนปืนปลิดชีวิตตัวเองของ “สืบ นาคะเสถียร” ส่งผลให้โลกอนุรักษ์ตื่นตัว และผลักดันให้ห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลกสำเร็จ มีการทุ่มทรัพยากรเพื่อคุ้มครองสัตว์ป่าในห้วยขาแข้ง จนวัวแดงฟื้นตัวกลับมา เช่นเดียวกับสัตว์อื่นๆ ในพื้นที่

โดยก่อนหน้านั้น วัวแดงในห้วยขาแข้งก็เหลือจำนวนน้อยเต็มที แตกต่างจากปัจจุบัน ที่แม้แต่นักท่องเที่ยวทั่วไป ก็สามารถพบวัวแดงได้ไม่ยาก ตามป่ารอบนอกของห้วยขาแข้ง

Copyright @2021 – All Right Reserved.