‘ปะการังทนร้อน’
สู้วิกฤตปะการังฟอกขาว

นับวัน ‘ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว’ ซึ่งเกิดจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิน้ำทะเลอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน กำลังสร้างความเสียหายให้แก่แนวปะการังและระบบนิเวศทางทะเลทั่วโลก โดยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกสูญเสียปะการังไปแล้ว 50% นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2050 แนวปะการังอาจตายลงเกือบทั้งหมด

ล่าสุดรายงานประเมินสถานการณ์โลกด้านความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศวิทยาระบุว่า พืชและสัตว์ราว 1 ล้านสายพันธุ์ จากทั้งหมด 8 ล้านสายพันธุ์ทั่วโลกกำลังเผชิญความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์! และนั่นรวมถึง ‘ปะการัง’

นักวิจัยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เร่งศึกษา ‘ความหลากหลายพันธุกรรม’ เฝ้าระวังปะการังไทยเสี่ยงสูญพันธุ์  และใช้เครื่องหมายโมเลกุล (DNA marker) ทำนาย ‘ปะการังทนร้อน’ หนึ่งในทางรอดของปะการังท่ามกลางวิกฤตโลก

‘ฟอกขาวรุนแรงทั่วโลก’ เกิดขึ้นเร็วกว่าที่คิด

ดร.ซี มาร์ก เอกิน จากศูนย์วิจัยการประยุกต์ใช้ดาวเทียมในการสำรวจสถานภาพแนวปะการัง องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration : NOAA) กล่าวว่า จากการกำกับดูแลโปรแกรม Coral Reef Watch เพื่อเฝ้าระวัง ทำนายและเตือนภัยการเกิดปะการังฟอกขาวทั่วโลก พบว่าปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวมีแนวโน้มเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงมากขึ้น

โดยล่าสุดเกิดปะการังฟอกขาวในปี ค.ศ. 2014-2017 เป็นการฟอกขาวครั้งใหญ่ที่สุดต่อเนื่องยาวนานถึง 3 ปี มีจำนวนปะการังอย่างน้อย 2 ใน 3 ของแนวปะการังทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการฟอกขาว และ 1 ใน 3 ของปะการังฟอกขาวได้ตายไป ซึ่งถือว่ารุนแรงมาก อีกทั้งในปี 2016 ซึ่งเป็นปีที่น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงที่สุด

ส่งผลให้เกิดปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ที่ Great Barrier Reef แนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลก พบการตายของปะการังถึง 29% ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดว่าเหตุการณ์เลวร้ายเช่นนี้จะเกิดใน 20-30 ปีข้างหน้า แต่กลับเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คิด สำหรับประเทศไทยในปี ค.ศ.2019 พบการฟอกขาวเกิดขึ้นแล้วทั้งอ่าวไทยและอันดามัน แต่อาจไม่เลวร้ายมากนัก

“สิ่งที่ต้องเร่งลงมือทำเพื่อลดการฟอกขาวและคุ้มครองแนวปะการังอย่างจริงจัง คือ 1.ลดภาวะโลกร้อน ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกให้เหลือ 350 ppm 2.ลดกิจกรรมที่ไปรบกวนแนวปะการัง เช่น ประเทศไทยมีการปิดพื้นที่ดำน้ำดูปะการังหลายแห่งในปี 2010 ซึ่งช่วยให้ปะการังฟื้นตัวเองกลับมาได้ และ 3.การกระตุ้นจิตสำนึกในการอนุรักษ์อย่างเข้มข้นและจริงจังตั้งแต่บัดนี้ นอกจากนี้งานวิจัยและเทคโนโลยีต่างๆ ที่เข้ามาช่วยฟื้นฟูแนวปะการังเป็นสิ่งสำคัญที่เร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง”

 ‘เร่งศึกษาพันธุกรรม’ เฝ้าระวังปะการังสูญพันธุ์

เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศใต้ท้องทะเลอย่างยั่งยืน   สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมมือกับศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ศึกษาวิจัย ‘กระบวนการตอบสนองของปะการังต่อการเพิ่มอุณหภูมิของน้ำทะเลและการประเมินความหลากหลายทางพันธุกรรมของปะการังในน่านน้ำไทย’

Coral bleaching, Pocillopora coral bleached on the reef flat, due to El Nino, Pacific ocean, French Polynesia

ดร.วิรัลดา ภูตะคาม นักวิจัยศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ สวทช. กล่าวว่า เริ่มแรกทีมวิจัยเร่งศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของปะการัง เนื่องจากประเทศไทยไม่เคยมีการศึกษามาก่อน ซึ่งความหลากหลายทางพันธุกรรมถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตแต่ละสายพันธุ์ เช่น หากปะการังเขากวางที่เหลืออยู่ในทะเลไทยมีความหลากหลายทางพันธุกรรมน้อยมาก หรืออาจเปรียบเทียบได้ว่าโลกของเราเหลือแค่กลุ่มคนเอเชียเท่านั้น เมื่อเกิดโรคระบาดหรือภัยพิบัติรุนแรงที่มีผลจำเพาะต่อปะการังเขากวางหรือคนเอเชีย สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์นี้จะมีโอกาสตายทั้งหมดหรือสูญพันธุ์

ในงานวิจัยเริ่มศึกษาจากปะการังโขด (Porites lutea) เนื่องจากเป็นปะการังชนิดเด่นและเป็นโครงสร้างหลักของแนวปะการังในทะเลไทย ที่สำคัญมีแนวโน้มอยู่รอดได้เมื่อเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว โดยศึกษาตัวอย่างปะการังโขดจาก 16 เกาะ ที่กระจายอยู่ในอ่าวไทยและอันดามัน ผลวิจัยเบื้องต้นพบว่า ความหลากหลายทางพันธุกรรมของปะการังโขดในทะเลฝั่งอันดามันมีน้อยกว่าทางฝั่งอ่าวไทย

นั่นคือหากเกิดการฟอกขาวหรือโรคระบาดที่มีผลต่อปะการังโขดในฝั่งอันดามันจะมีโอกาสเสี่ยงสูญพันธุ์ได้ ทั้งนี้ยังได้เตรียมศึกษาปะการังสกุลอื่นๆ เช่น ปะการังเขากวาง ปะการังดอกกะหล่ำ ปะการังผิวเกล็ดน้ำแข็ง และปะการังลายดอกไม้ เพื่อสร้างฐานข้อมูลความหลากหลายทางพันธุกรรมปะการังของประเทศ สำหรับเฝ้าระวังปะการังสายพันธุ์ต่างๆ ที่อาจเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และอาจเป็นหนทางสู่การอนุรักษ์ฟื้นฟู  เช่น นำปะการังมาผสมเทียมแบบอาศัยเพศ เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรม สร้างโอกาสในการอยู่รอดมากขึ้น

‘ปะการังทนร้อน’ หนทางรอดภาวะฟอกขาว

ทีมวิจัยยังได้ศึกษาลงลึกถึงระดับยีนเพื่อหา ‘ปะการังทนร้อน’ ด้วยการสกัดสารพันธุกรรมอาร์เอ็นเอ (RNA) เพื่อศึกษาการแสดงออกของยีนต่างๆ เมื่อเกิดการฟอกขาว และเปรียบเทียบระหว่างปะการังโคโลนีที่ทนร้อนกับฟอกขาวว่ามีปฏิกิริยาตอบสนองต่ออุณหภูมิน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นต่างกันหรือไม่

ผลการวิจัยเบื้องต้นพบยีนที่แสดงออกแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ยีนส่วนใหญ่มีการแสดงออกสูงขึ้น เช่น กลุ่มยีนที่มีบทบาทในการกำจัดปริมาณอนุมูลอิสระที่สาหร่าย Symbiodinium ผลิตมากผิดปกติไปในช่วงที่อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น

นอกจากนี้ยังพบยีนอีกหลายตำแหน่งที่แสดงออกแตกต่างกัน ซึ่งทีมวิจัยอยู่ระหว่างการวิเคราะห์ข้อมูล และค้นหาเครื่องหมายโมเลกุล (DNA marker) ที่สัมพันธ์กับลักษณะการทนต่อการเพิ่มอุณหภูมิของน้ำทะเล หรือความทนร้อนของปะการัง สำหรับใช้คัดเลือกปะการังพ่อแม่พันธุ์ที่ทนร้อน เพื่อขยายพันธุ์ ก่อนทำการย้ายปลูกกลับสู่ทะเล ช่วยให้การฟื้นฟูมีประสิทธิภาพ ได้ปะการังที่ทนต่อสภาวะภูมิอากาศที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ดี สิ่งที่จะนำไปสู่การอนุรักษ์ความหลากหลายของปะการังและสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ได้ดีที่สุด คือความร่วมมือและพยายามอย่างจริงจังในการหันกลับมาดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

Copyright @2021 – All Right Reserved.