10 เหตุผลคนไม่เอากำแพงกันคลื่น

by Igreen Editor

อาจารย์ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นักวิชาการด้านชายฝั่งทะเลที่เกาะติดเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องยาวนานและอยู่ในคณะอนุกรรมการบูรณาการด้านการจัดการการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ยืนยันว่าเขาไม่เห็นด้วยกับกำแพงกันคลื่น โดยมี “เหตุผล 10 ประการของคนไม่เอากำแพงกันคลื่น” สนับสนุน ดังนี้

1.โดยความเข้าใจพื้นฐานหรือสามัญสำนึกหาดทรายจะหายไปและกลับมาตามฤดูกาล ไม่ได้มีปัญหาการกัดเซาะ จึงไม่จำเป็นต้องสร้างกำแพงกันคลื่น กำแพงที่ถูกสร้างขึ้นจะเป้นปัจจัยเร่งให้เกิดการกัดเซาะฐานรากจนลึกและจะพังในที่สุด

2. เมื่อสร้างกำแพงกันคลื่นซึ่งเป็นของแข็งไปสู้คลื่นจะรับแรงสะท้อนกลับเอาทรายออกไป กำแพงจึงเร่งการกัดเซาะชายฝั่งลึกลงไปเรื่อยๆ ซึ่งทำให้คลื่นมีพลังงานสูงมากขึ้น เพราะไม่มีทรายเป็นแรงเสียดทานตามหลักฟิสิกส์ และจะทำให้คลื่นยิ่งสูงกว่าเดิม 7 เท่าจากความสูงปกติ

3. การสร้างกำแพงทำให้พื้นที่บริเวณใกล้เคียงกำแพง (ทั้งด้านซ้ายและขวา) ถูกกัดเซาะหนักกว่าเดิม และจะต้องมีโครงการมาซ่อมแซมไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด

4. มักพูดกันว่าไม่มีวิธีที่ดีที่สุดในการปกป้องทรัพย์สินประชาชน หากราชการอ้างว่าไม่มีองค์ความรู้ก็ไม่ควรสร้างกำแพง แต่สามารถใช้วิธีการสร้างเขื่อนไม้ซึ่งเป็นวิธีการชั่วคราวและสามารถรื้อออกได้ แต่กำแพงเมื่อสร้างแล้วการจะรื้อทำได้ยากและสิ้นเปลืองงบประมาณ หรือไม่สามารถแก้ไขได้อีก แต่จะอยู่ไปชั่วนาตาปี แต่ราชการไม่ฟัง ไม่เชื่อ

5. มีตัวอย่างความเสียหายจากการสร้างกำแพงกันคลื่นเกิดขึ้นหลายพื้นที่ อาทิ ชายหาดปราณบุรี อ่าวน้อย ฯลฯ จึงไม่ต้องนำโมเดลอื่น ๆ มาอ้างว่าจะทำให้ชายฝั่งถูกกัดเซาะเป็น 100 เมตร เพราะไม่เป็นจริง เช่น กรณีการสร้างกำแพงที่หาดม่วงงามก็ไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะไม่ได้มีการกัดเซาะตามที่อ้าง

6. คุณค่าของหาดทรายในเชิงระบบนิเวศหายไป เนื่องจากการหายไปของทรายทำให้หลายอย่างหายไปด้วย เช่น ปูลม จั๊กจั่น เต่าทะเล กุ้งเคย ฯลฯ กรณีกุ้งเคยเมื่อหายไปอาชีพชาวบ้านก็หายไปด้วย หรือกำแพงกันคลื่นที่ปราณบุรีสิ่งที่มาแทนที่คือสาหร่ายที่เขียวที่เหยียบแล้วลื่นมาก รวมถึงได้เพรียงและเปลือกหายนางรมมาแทนที่

7. คุณค่าความเป็นแหล่งท่องเที่ยวหายไป เพราะกำแพงได้ทำให้คุณค่าหาดทรายหายไป ชายหาดคอนกรีตที่บอกว่ามีความรู้สึกเป็นชุมชนเมืองนั้นเป็นภูมิทัศน์ที่นำมาหลอกลวงกันทั้งนั้น

8. สูญเสียงบประมาณของประเทศ มีการดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นไปแล้วทั้งหมด 74 โครงการ วงเงิน 6,900 ล้านบาท และในปัจจุบันใช้งบฯ ก่อสร้างในแต่ละพื้นที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จากกองหิน 3 หมื่นกว่าบาท เพิ่มเป็นกิโลเมตรละ 200 ล้าน เช่น ที่หาดมหาราช กิโลเมตรละ 150 ล้านบาท อ่าวน้อยกิโลเมตรละ 110 ล้านบาท ขณะที่ปราณบุรีพังมาหลายรอบและใช้งบฯ ซ่อมแซมมาหลายรอบเช่นกัน

9. มีทางเลือกอีกหลายวิธีที่ไม่จำเป็นต้องสร้างกำแพงกันคลื่น โดยมติ ครม. เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2561 ได้เห็นชอบให้เลือกใช้มาตรการสีขาว สีเขียว สำหรับสีขาวคือให้ถอยร่น ปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ไม่ให้สู้คลื่น หรือถ้ามีการกัดเซาะก็ให้กัดเซะอยู่แค่นั้น หากเป็นที่เอกชนให้เลือกใช้วิธีจ่ายค่าชดเชย หากเป็นพื้นที่ของรัฐก็ไม่มีปัญหาและไม่เคยมีที่ไหนกัดเซาะถึง 100 เมตร

มาตรการสีเขียว คือการฟื้นฟูโครงสร้างทางธรรมชาติ เช่น ป่าชายเลนหายไปก็เติมเข้าไป ป่าชายหาด เช่น ผักบุ้งทะเล หรือฟื้นฟูหาดทรายกลับมา อาทิ การเติมทราย โดยนำทรายที่ถูกพัดไปมาเติมจุดที่หายไป มติ ครม.ให้เลือกใช้ 2 มาตรการดังกล่าว

แต่มีมาตรการสีเทาโผล่ออกมาด้วย คือเรื่องโครงสร้าง เช่น กองหิน ซึ่งมาตรการนี้นานาชาติกำหนดขึ้นและควรนำมาใช้เป็นมาตรการสุดท้าย แต่มาตรการสีเขียวที่ว่าจะต้องทำ EIA ต่างจากกำแพงกันคลื่นบ้านเราที่ไม่ต้องทำ EIA (ยกเลิกปี 2556) นั่นเท่ากับกำแพงกันคลื่นที่ถูกเลือกใช้เป็นมาตรการที่ร้ายแรงที่สุด

10. นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลและหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลทะเลบอกว่าไม่ควรก่อสร้างกำแพงกันคลื่น กับหน่วยอื่นที่ไม่รู้จักทะเล แต่ไปจ้างบริษัทที่ปรึกษามาสร้างมารับรองกันเองโดยไม่มีความรู้…คนไทยควรจะเชื่อใคร

สำหรับความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2563 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ไฟเขียวให้ยกร่าง “กฎกระทรวง” เพื่อเป็นเครื่องมือและอำนาจในการควบคุมและป้องกันการกัดเซาะชายหาดทั่วประเทศ จากเดิมที่มีกฎหมายกำกับ แต่มีช่องโหว่ทำให้กรมโยธาธิการฉวยโอกาสใช้วิธีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นไปถึง 74 โครงการ

นั่นคือที่มาของมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา เพื่อยับยั้งการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นยิบย่อยไปทั่วแทบทุกหาด โดยเฉพาะฝั่งอ่าวไทย แต่กลับเกิดปัญหาการกัดเซาะมากขึ้นตามมา รวมทั้งกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่ง

โครงการเหล่านั้นไม่มีมาตรฐานทางวิชาการรองรับ เพราะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นแบบลวกๆ ซึ่ง ทช.รายงานต่อที่ประชุมในครั้งนี้ว่า “การก่อสร้างเพิ่มขึ้นรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อเนื่อง ลุกลามไปเรื่อย เกิดการเสียสมดุลของระบบนิเวศ”

อย่างไรก็ตาม ภายใต้กฎกระทรวงที่จะออกมาหลังจากนี้จะกำหนดให้มีการศึกษาผลกระทบหรือ Environmental Checklist ซึ่งเป็นการศึกษาผลกระทบฉบับย่อที่ไม่เข้มข้นเท่าการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งคาดว่าจะมอบหมายให้คณะอนุกรรมการบูรณาการด้านการจัดการการกัดเซาะชายฝั่งทะเลมีบทบาทที่ชัดเจนในการดำเนินการศึกษาความเหมาะสม

เนื่องอนุกรรมการชุดนี้ระบุถึงอำนาจหน้าที่ไว้อย่างครอบคลุม ดังนี้ 1) พิจารณาให้ข้อเสนอแนะ ข้ดคิดเห็นและคำปรึกษาด้านวิชาการ ด้านกฎ ระเบียบ และอื่นๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดการป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายละแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ และคณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัด

2) พิจารณาให้ข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็น และให้คำปรึกษากับกรม ทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนและช่วยเหลือชุมชนชายฝั่งและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปี 2558

3) พิจารณาจัดทำยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติการและงบประมาณการจัดการป้องกันแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งแบบบูรณาการ เพื่อเสนอให้คณะกรรมการนโยบายละแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ พิจารณาให้ความเห็นชอบและให้หน่วยงานแปลงไปสู่การปฏิบัติต่อไป

4) พิจารณากลั่นกรองและให้ข้อเสอนแนะ ข้อคิดเห็นต่อโครงการ มาตรการ ระเบียบหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติสำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งในภาพรวมและเชิงพื้นที่

5) แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อช่วยในการปฏิบัติงานของคณะอนุกรรมการได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม

6) ปฏิบัติงานอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการนโยบายละแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ

Copyright @2021 – All Right Reserved.