‘บ้านก้อแซนบ็อกซ์’ โมเดลแก้ฝุ่น
ปรับวิถีปลูกเห็ดใกล้บ้านสร้างรายได้
เมื่อปากท้องอิ่มชาวบ้านเลิกเผาป่า

by Admin

เหตุการณ์ไฟป่าในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือที่เกิดขึ้นประจำทุกปีและต่อเนื่องมากว่า 10 ปี กลายเป็นโจทย์ระดับชาติที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะหาทางจบลงได้ ทว่าที่บ้านก้อ จ.ลำพูน กลับมีโมเดลการแก้ปัญหาที่น่าสนใจ โดยเมื่อปีในปี 2562 ชมรมผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ใช้ข้อมูลเซนเซอร์โมดิสสำรวจพื้นที่พบว่า เกิดไฟไหม้ที่บ้านก้อ 2 แสนกว่าไร่ และเป็นปีที่เกิดไฟไหม้สูงสุด จากพื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติแม่ปิง 6 แสนกว่าไร่ 

กระทั่งเข้าปี 2565 ไฟเข้าใกล้ศูนย์ ซึ่งบางคนอาจจะบอกว่าเพราะเป็นที่ปีลานีญาที่ทำให้มีฝนตกเยอะไฟจึงใกล้ศูนย์ แต่ข้อสรุปเบื้องต้นจากคณะทำงานชุดนี้ก็คือเพราะมนุษย์เปลี่ยนไป และนโยบายการชิงเผาของรัฐอาจไม่ใช่คำตอบการแก้ปัญหา นั่นเพราะจะกลายเป็นการเปิดโต๊ะบุฟเฟต์ให้ชาวบ้านเผาป่าตามมาอีกด้วย 

ดร.เจน ชาญณรงค์ กรรมการ บริษัท หาญ เอ็นจิเนียริ่ง โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานชมรมผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล กล่าวว่า การเข้าไปช่วยแก้ปัญหาไฟป่าที่บ้านก้อ อ.ลี้ จ.ลำพูน ในปี 2562 พบพื้นที่เกิดไฟป่า 4 พื้นที่คือ 1.แม่ปิง-อมก๋อย-แม่ตื่น ซึ่งอยู่ล้อมเขื่อนภูมิพลมีพื้นเกิน 1 ล้านไร่ 2. ลุ่มแม่น้ำปาย-แม่ฮ่องศอน 3. สาละวิน อยู่ติดชายแดนเมียนทมาร์ และ 4. เขื่อนศรีนครินทร์

ทั้งนี้แหล่งไฟป่าขนาดใหญ่ที่เคยนำเสนอให้คณะทำงานวิชาการเฉพาะกิจเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการบริหารจัดการไฟป่าและการเผาในที่โล่งเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 สำนักบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี เมื่อต้นปี 2565 แบ่งจำนวนขนาดพื้นที่เกิดไฟป่า ดังนี้ 

อันดับ 1 สาละวินมีพื้นที่เผาไหม้ 515,075 อันดับ 2 แม่ปิง 281,840 อันดับ 3 ลุ่มน้ำปาย 212,264 อันดับ 4 แม่ตื่น 181,826 อันดับ 5 เขื่อนศรีนครินทร์ 166,689 อันดับ 7 ออบหลวง 148,968 อันดับ 8 แม่วะ 112,691 อันดับ 9 ห้วยน้ำดัง 103,456 อันดับ 10 ห้วยขาแข้ง 102,074 อันดับ 11 ศรีน่าน 100,953

หากรวมเฉพาะแม่ปิง แม่ตื่น และอมก๋อย จะมีขนาดพื้นที่เผาไหม้ 581,872 ไร่ ซึ่งเป็นกลุ่มป่าที่ไฟไหม้มากที่สุดของประเทศ และเกิดซ้ำซากที่สุด โดยความถี่ของไฟดูย้อนหลัง 22 ปี ในแม่ปิง อมก๋อย และแม่ตื่น โดยแม่ปิงจะล้อม ต.ก้อ อ.ลี้ จ.ลำพูน มีพื้นที่ป่าประมาณ 25,000 ไร่ มีประมาณ 2,500 คน โดยมีหมู่บ้านอมก๋อยอยู่ด้านบน 

ชมรมฯ เข้าพื้นที่บ้านก้อในปี 2562 ดูข้อมูลเซนเซอร์โมดิสพบว่า เกิดไฟไหม้ที่บ้านก้อ 2 แสนกว่าไร่ ซึ่งเป็นปีที่เกิดไฟไหม้สูงสุด จากพื้นที่แม่ปิง 6 แสนกว่าไร่ ในปีที่แรกลดไฟได้ 30-40% ปีที่ 2 ลดไปได้ไม่มากจนถึงปี 2564 แต่พอเข้าใกล้ปี 2565 ไฟเข้าใกล้ศูนย์มาก จึงเป็นโจทย์ว่าทำอย่างไรจึงมาถึงจุดนี้ได้และจะถอดบทเรียนให้กับที่อื่นๆ ได้อย่างไร

“บางคนอาจจะบอกว่าเพราะปีลานีญาฝนตกเยอะจึงใกล้ศูนย์ จะบอกว่าไม่ใช่เพราะฝนอย่างเดียวหรอก แต่เพราะว่ามนุษย์เปลี่ยนไป ซึ่งสิ่งสำคัญมากที่สู้กับไฟ วิธีที่ง่ายสุดคือไปศึกษาจุดกำเนิดมันคือ ถ้าไม่จุดไฟวิธีง่ายสุด คือไม่มีงานทำ จึงไปหาวิธีว่าไฟมันเกิดอย่างไรซึ่งเป็นวิธีที่สำคัญมากสำหรับคน เมื่อย้อนไปดูไฟแม่ปิงปี 2562-2564 พบว่า หนึ่งปีจะเกิดไฟขนาดใหญ่ในพื้นที่ อาจจะไม่พร้อมกัน คิดว่าใครกล้ามากถึงไปจุดไฟ เจ้าหน้าที่ไม่ทำงานหรือ ทำไมไม่จัดการคนเหล่านี้เพราะจุดเกิดซ้ำซากสลับไปสลับมาในพื้นที่ไม่ย้ายไปไหน

“ถามชาวบ้านบอกว่าเจ้าหน้าที่จุด ถามเจ้าหน้าที่ก็บอกชาวบ้านจุด ด้วยความงงงวยแบบนี้จึงเป็นเรื่องลับลวงพรางในพื้นที่มาตลอด 2 ปีแรกที่ทำงานมา จึงจะแกะบทเรียนนี้อย่างไร เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2564 ทำแอปพลิเคชัน “ตามไฟ” ขึ้นมาหรือ Tamfire เริ่มใช้ในปี 64 ทำงานโดยการเอาไฟมาเรียงต่อกันเป็นอนุกรมเวลา แต่สามารถทำให้เห็นว่าไฟเริ่มยังไง 

“ในปี 65 ไม่มีไฟ จึงเอาไฟปี 64 มาดูคือ 1.3 แสนไร่ โดยในปี 64 จ.ลำพูนจะห้ามเผาเด็ดขาดเริ่มวันที่ 13 ก.พ. เราจะพบว่า 1 สัปดาห์ก่อนจะถึงวันที่ห้ามเผาเป็นวันวิกฤตมากๆ เพราะหลังวันที่ 13 ก.พ.ใครเผาถือว่าผิดกฎหมาย รวมถึงเจ้าหน้าที่ด้วย ทำให้ก่อน 7 วันเกิดวิกฤตมาก 

“โดยวันที่ 10 ก.พ. 64 ไฟเริ่มจุดที่ 1 ใกล้อุทยานแม่ปิงโดยเจ้าหน้าที่ชิงเผา ถ้าถามเจ้ากระทรวงก็บอกว่าไม่มี แต่ชาวบ้านบอกว่ามี มันค่อนข้างลับลวงพรางมาก แต่มาดูปี 65 พื้นที่ไหม้ระหว่างปี 64 และ65 สภาพต่างกันมาก ชาวบ้านบอกว่าเป็นปีที่อากาศดีที่สุดตลอด 20 ปีที่ผ่านมา สิ่งแรกที่สำคัญคือตลอดปี 64 ชาวบ้านร้องขอต่อผู้ว่าฯ จังหวัดให้ชะลอการบริหารจัดการเชื้อเพลิงออกไป

“ก็พบว่าในปีนั้นจุดที่ 1 ไม่เกิดไฟ แต่มาเกิดจุดอื่นซึ่งเป็นชาวบ้านที่เผาซึ่งชาวบ้านที่อยากเผามีอยู่ประมาณ 10 ครอบครัวจาก 2,000 กว่าคน และยังทำเป็นเรื่องปกติ โดยชาวบ้านที่เหลือและเจ้าหน้าไปไล่จับ แต่ทันทีที่เผาทุกคนไปช่วยกันดับ จึงป้องกันไฟในจุดที่ 3-5 ได้ จนสำเร็จ 

“ดังนั้นการชะลอการชิงเผาของผู้ว่าฯ ทำให้ตอผุดหลายเรื่อง หนึ่งคือ การชิงเผาถูกต้องหรือไม่ เพราะเผาแล้วไม่ควบคุมหรือมีเจ้าหน้าที่ควบคุมแค่ 10 คน แต่เผาขนาดใหญ่จึงควบคุมไม่ได้ เพราะ 1 คนดูไฟได้แค่ไร่เดียว 10 คนก็ดูแค่ 10 ไร่ แต่งบประมาณลงไปพอสมควร ฉะนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่คน 10 คนจะดูแลไฟ 4,000 ไร่ จึงฝากคิดถึงผู้กำหนดนโยบายว่าเขาทำ (ชิงเผา) ถูกต้องไหม

“อันที่สองตามหลักวิชาการพื้นที่ไฟเผาไปแล้วไม่ควรถูกเลือกมาเผาอีก การเผาซ้ำแล้วซ้ำเล่ามันไม่ค่อยถูกเพราะป่าเต็งรังไม่ควรโดนไฟบ่อยในจุดเดิมๆ เพราะต้นไม้เพิ่งแตกต้นกล้าใหม่ออกมา แต่ไปเผาจนต้นกล้าไม่เหลืออาจจะไม่ถูกเพราะป่าไม่มีลูกไม่มีหลานให้สืบพันธุ์ 3 ปีครั้งค่อยไปเผาอาจจะดีกว่าให้ต้นกล้ามันโต 

ข้อเสนอของ ดร.เจนก็คือ ให้ทบทวนนโยบายการบริหารจัดการเชื้อเพลิงหรือการชิงเผา คือ 1) ต้องทำให้ถูกหลักวิชาการคือ เลือกพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อไฟและสามารถควบคุมไฟให้อยู่ในพื้นที่ 2) เป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง มีต้นทุนสูง ต้องคำนึงถึงกำลังพล เครื่องมือในการควบคุมไฟให้เหมาะสมและมีแผนรองรับหากคุมไฟไม่อยู่ 

4) คำนึงถึงปฏิกริยาลูกโซ่ต่อภาคสังคม กรณีแม่ปิงเป็นการเชื้อเชิญชาวบ้านให้เผาต่อเนื่องหรือไม่ เหมือนกรณีปี 64 ที่เมื่อเกิดชิงเผาในจุดที่ 1 ก็จะเกิดในจุดที่ 3-5 ในวันถัดไปทันที กลายเป็นหมู่บ้านที่เกิดไฟล้อมรอบ ทุกคนยืนดูเพราะดับไม่ไหวทำให้เสียหายปีละนับแสนไร่ทุกปี

ดังนั้น สิ่งที่บอกว่าตอผุดก็คือ การเผาของเจ้าหน้าที่มันเป็นการเปิดโต๊ะบุฟเฟต์หรือไม่ ทำให้ทุกคนมาช่วยกันเผาหมู่บ้านจะได้วอดวาย นี่คือสิ่งที่น่าคิดสำหรับนโยบาย อย่าลืมว่าเป็นปฏิกิยาลูกโซ่ต่อชาวบ้านที่นิยมเผากันอยู่ 

ดร.เจน กล่าวว่า พื้นที่ไฟป่า 60-70% บริเวณแม่ปิงเข้าใกล้ศูนย์แล้ว เมื่อไปดูป่าอมก๋อยและแม่ตื่นไฟจะเกิดจากการล่าสัตว์โดยเป็นการเผาบนหน้าผาโดยมีริมห้วย เพื่อต้อนสัตว์เข้าหาทางปืน ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปก็เกิดการปะทะกันเพราะคนที่เดินลงมามีปืนลงมาด้วย โดยทางออกคือการตั้งกองเรือลาดตระเวน ซึ่งนายพรานส่วนหนึ่งก็เป็นชาวบ้านหรือคนที่มีฐานะซื้อปืนใหม่แล้วอยากลองหรือไม่ 

“นอกจากนี้เราได้รับโครงการพระราชทานทำน้ำบาดาล เพื่อน้ำประปาและการเกษตร จากหมู่บ้านที่ไม่มีน้ำ จะมีน้ำเยอะ ชาวบ้านจะค่อยๆ ปรับตัวว่าเมื่อมีน้ำแล้วจะปลูกอะไร ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา นอกจากนั้นชาวบ้านเริ่มมีอาชีพใหม่ๆ ซึ่งการแก้ปัญหาไฟป่าในโครงการนี้ใช้เงินแค่ 5 แสนบาท

“โดยส่วนหนึ่ง 2 แสนบาทมาจากเงินบริจาค โดยที่สามารถลดไฟในพื้นที่อุทยานที่เกิดไฟป่ามากที่สุดในพื้นที่ 2.6 แสนไร่ลงได้ ถ้าส่งเฮลิคอปเตอร์มาค่าน้ำมันก็เกิน 5 แสนแล้ว และดับอะไรไม่ได้ ฉะนั้นปัญหาไฟป่าใช้เงินนิดเดียว แต่ต้องเข้าให้ถึง เข้าใจและพัฒนาได้”

ผศ. ดร.รัฐ พิชญางกูร อาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในคณะทำงานแก้ปัญหาไฟป่าของชมรมฯ กล่าวว่า หลักการคือคนต้องอยู่กับป่าและคนจะเก็บเห็ดป่าอย่างไรโดยไม่เผาป่า เพราะเห็ดคิดเป็น 25% ของรายได้ชาวบ้านบ้านก้อทั้งปี ซึ่งก็มีชาวบ้านนอกพื้นที่เข้ามาหาเห็ดด้วย การเก็บเห็ดจึงถือเป็นรายได้หลักอย่างหนึ่ง 

“จึงคิดว่าทำอย่างไรให้มีเห็ดเก็บใกล้บ้าน โดยไม่ต้องเข้าไปเก็บในป่า หรือสร้างความมั่นคงด้านอาหารและการเงินหรือทำให้ชาวบ้านอยู่ดีกินดี จากเดิมที่มีสโลแกนว่าทำไร่ใช้หนี้ เข้าป่าหาของกิน

“สิ่งที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชาวบ้านคือทำอย่างไรไม่เผาป่ารุกป่า และเขามีป่าชุมชนที่ใช้ประโยชน์ได้ แต่เป็นป่าเสื่อมโทรม จึงต้องสร้างหลักฐานเชิงประจักษ์ ทำให้ดู ถ้าไปบอกว่าเห็ดป่าปลูกได้เขาคงไม่เชื่อ จึงเอาเชื้อเห็ดเผาะเติมกลับเข้าไปให้ต้นไม้ภายในดิน เห็ดพวกนี้มันอยู่เกื้อกูลกับต้นไม้วงศ์ยางที่อยู่ในป่าเต็งรัง ถ้าต้นไม้อยู่ก็จะมีเห็ดอยู่ ถ้าต้นไม้ไม่อยู่ก็ไม่มีเห็ด

“เราก็ทำให้เห็นว่าสามารถทำให้เกิดเห็ดขึ้นมาได้ ทำสักปีพอปลายปี 2564 ก็เกิดเห็ดขึ้นมาจริงๆ พอทำไปสักพักก็เริ่มให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยเมื่อดูไฟตามแอปตามไฟได้ว่าไฟเกิดที่ไหนก็ต้องให้คนในพื้นที่เข้าใจด้วย จึงนำเด็กจาก 3-4 โรงในพื้นที่มาทำกิจกรรมตามไฟว่าไฟมาจากไหนไปไหน 

“นอกจากนั้นได้เริ่มเอาเด็กและเยาวชนนอกพื้นที่เข้าไปด้วย เพราะปัญหาไฟป่าไม่ใช่ปัญหาเฉพาะของคนในพื้นที่ แต่เป็นปัญหาของคนทั้งประเทศ โดยนำนิสิต คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ไปสอนน้องเรื่องการใช้แอปตามไฟและตัวเขาเองก็ได้ไปดูพื้นที่ป่า ไปปักป้ายจุดเกิดไฟป่า และบอกว่าอย่าเผาป่าบริเวณนี้ ซึ่งกิจกรรมที่ทำมีทั้งพี่สอนน้องและน้องสอนพี่ด้วย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

“เช่น ให้น้องๆ พาไปดูว่าพื้นที่ชุมชนเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นการสอนการสร้างเครือข่ายเล็กๆ เพื่อให้เกิดเครือข่ายขนาดใหญ่ มีการสอนให้เด็กปลูกไม้วงศ์ยาง ไม้พื้นถิ่น ปลูกเห็ด สอนเรื่องไฟไหม้ป่าทำให้ต้นไม้เปลี่ยนไหม หรือสอนให้คนอยู่กับต้นไม้ ซึ่งได้ทำกับโรงเรียนรอบๆ อุทยานฯ แม่ปิง

“นอกจากนี้ ในปีนี้จะขอความร่วมมือในการลดการชิงเผาเพราะไฟป่าไม่ได้เกิดตลอด เพราะเป็นเขตร้อนชื้นที่แล้งขึ้นมานิดนึง ไม่เหมือนในสหรัฐหรือออสเตรเลียที่เกิดประจำทุกปี เราเอาของเขามาใช้ก็อาจไม่ได้เหมาะสมมากนัก เราได้เจรจาในปีนี้ว่าอย่าชิงเผาหรือบริหารจัดการเชื้อเพลิง เพราะคนไม่พอ จัดการไม่ได้ ถ้าอุทยานเผา ชาวบ้านก็เผาด้วยสนุกสนานกันใหญ่ พอมาปีนี้ก็เริ่มมาถูกทางที่ไม่มีไฟ” อาจารย์รัฐกล่าว

อาจารย์รัฐกล่าวด้วยว่า เห็ดเผาะในพื้นที่มีมากถึง 26,000 กก. และขายกันเป็นลิตรๆ ละ 800 กรัม มูลค่าจากต้นทางอยู่ที่ประมาณ 7.5 ล้านบาท ในตลาดขายขีดละ 80 บาทหรือสูงขึ้น 4-5 เท่า มูลค่าต่อปีจากป่าไปถึงตลาดจะอยู่ที่ 30 ล้านบาท 

ผศ. ดร.จิตรตรา เพียภูเขียว ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในคณะทำงาน อธิบายว่า ข้อมูลจากอุทยานฯ แม่ปิงทราบว่าพื้นที่นี้มีเห็ดเผาะหรือเห็ดถอบเยอะมาก มีชาวบ้านเข้าป่าไปเก็บเห็ดเผาะวันละ 2,000 คน และมีนายหน้ามารับซื้อถึงที่ โดยข้อมูลจากอุทยานฯ แม่ปิงระบุว่า การเก็บเห็ดเผาะสามารถสร้างรายได้ 6 ล้านบาทต่อปี ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมชาวบ้านถึงเฮโลเข้าไปเก็บเห็ดและยังเผาป่า

“ต้องเข้าไปให้ความรู้ทางวิชาการกับชาวบ้านด้วยว่าเห็ดเผาะนั้นจะอยู่กับไม้บางประเภทเท่านั้น เห็ดชอบขึ้นในป่าเต็งรัง ป่าเต็งรังจึงเป็นแหล่งอาหารอย่างดี ตั้งแต่ผักหวาน ไข่มดแดงและเห็ดป่า ถ้าเรามีป่าก็มีเห็ด นี่คือสิ่งที่ไปบอกชาวบ้าน

“คณะทำงานฯ จึงวางแผน 2 ทางคือ อบรมให้ความรู้ชาวบ้านเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเห็ดกับป่า ฉะนั้นจะต้องปลูกพืชอาศัยของเห็ด เขาถึงจะได้กินเห็ด และอีกอย่างคือต้องสร้างแปลงสาธิตทดลองให้เขาเห็น ซึ่งทำในป่าชุมชนที่โทรมหมดแล้วทั้งจากการบุกรุกและไหม้ทุกปี จึงเอาเชื้อเห็ดเผาะไปใส่ในป่าวงศ์ยาง ใส่ เดือนธ.ค. 62 จากนั้นก็ได้เห็นเห็ดเผาะขึ้นและแถมเห็ดอื่นให้ด้วย

“นอกจากนี้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่เขาเผาเพื่อจะเข้าไปหาเห็ด และสาเหตุที่เผาเพราะจะได้หาเห็ดได้ง่ายเท่านั้นเพราะป่ารก ซึ่งการมีใบไม้ในป่าเยอะก็ไม่ได้มากจนทับตัวเรา ซึ่งไม่เห็นด้วยในการเผา บ้านเราเป็นป่าร้อนชื้น เวลาใบไม้ร่วงหน้าแล้ง พอเข้าหน้าฝนจุลินทรีย์ดินก็ย่อยสลายเป็นอาหารเป็นอินทรีย์วัตถุอยู่ในดิน และยังเป็นอาหารให้สัตว์หน้าดินอีกเยอะแยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลวกซึ่งเป็นตัวสร้างเห็ดโคน

“ชาวบ้านยังให้ข้อมูลเราอีก ปีไหนถ้าเผาเห็ด ปลวกจะน้อย ซึ่งอธิบายไปว่าไม่แปลกเพราะปลวกไม่มีอะไร ชาวบ้านเผาใบไม้ไปหมดแล้ว เขาก็จะเริ่มฟังเรามากขึ้น ตอนทำปี 63 ก็อบรบรมผู้นำชุมชนและเจ้าหน้าที่อุทยาน จากนั้นก็ช่วยอุทยานกำหนดมาตรการการเข้าหาเห็ด ไม่อย่างนั้นจะเฮโลเข้า เจ้าหน้าที่จะเหนื่อยมาก ต้องจัดคิว ต้องมาตามหาคนหายระหว่างการหาเห็ด

“เรายังช่วยทำธนาคารเห็ดเผาะ เราเริ่มสร้างความรู้ให้ชาวบ้านโดยมีวิดีโออธิบายการเข้าไปเก็บเห็ดว่าจะต้องเก็บแบบไหน และเมื่อเก็บมาแล้ว 10% ที่เป็นเห็ดแก่จะต้องคืนกลับให้กรมอุทยานฯ เพื่อให้อุทยานปั่นเป็นเชื้อเห็ด แล้วให้ชาวบ้านนำไปรดคืนในป่าอุทยานเหมือนเดิมซึ่งจะมีเชื้อเห็ดหมุนเวียนอยู่ตลอด

“ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ที่ผ่านการอบรมจะต้องมีหน้าที่ไปอธิบายให้ชาวบ้านในชุมชนเกี่ยวกับการใส่เชื้อเห็ดในป่า ไปอธิบายว่าเห็ดกับป่าอยู่กันอย่างไร พอเป็นคอนเซ็ปต์แบบนี้ขึ้นมาเราสามารถบอกชาวบ้านได้ว่าไม่เห็นจำเป็นต้องเข้าป่า มีที่มีทางปลูกไม้พืชอาศัยของเห็ดเผาะ ใส่เชื้อเห็ดเผาะเข้าไปไม่นานก็ได้เห็ดกิน นี่คือสิ่งเราต้องการจะบอกชาวบ้านและทำให้เห็น

“เห็ดกับป่ามันแยกออกจากกันไม่ได้ เพราะมันคือ symbiosis (ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตต่างชนิด) หลายคนไม่ได้คิดถึงข้อนี้ ดังนั้นการปลูกป่าจะต้องปลูกไม้พื้นถิ่นคือป่าที่ชาวบ้านเติบโตมา ป่าเคยเป็นแบบไหนก็ไปปลูกไม้เหล่านั้นกลับไป ซึ่ง อ.รัฐไปขอทุนทำวิจัยจาก วช. มา การปลูกเห็ดเผาะยังเป็นกุศโลบายเพื่อให้คนอยากปลูกป่า และถ้าชาวบ้านอยากได้เห็ดก็ต้องปลูกป่า

“นอกจากนี้ยังขอใช้พื้นที่มาตรา 64 ของอุทยาน ที่อุทยานขอคืนจากชาวบ้านที่บุกรุกไป โดยขอคืนมาปลูกป่าให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ โดยเฉพาะการปลูกไม้พื้นถิ่น ปลูกผักหวานป่า และพืชอาศัยของเห็ด และจ้างคนในชุมชนปลูก ช่วงโควิดที่เด็กอยู่บ้านก็ให้จ้างเด็กในบ้านก้อมาเรียนการใส่เชื้อเห็ดที่ถูกต้องจนเกิดเป็นละอ่อนก้อฮักถิ่น รวมทั้งจ้างคนในพื้นที่ดูป่าที่ปลูก

“จากนั้นปีที่ผ่านเป็นการอบรวมให้ชาวบ้าน ที่ไม่ใช่ผู้นำชุมชนเกี่ยวกับไม้พื้นถิ่นว่าในพื้นที่อุทยานแม่ปิงมีไม้พื้นถิ่นอะไรบ้าง สอนเรื่องการใช้ราไมคอร์ไรซาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกป่าพื้นถิ่น และยังรวมกลุ่มกันเพาะกล้าไม้ป่าพื้นถิ่นโดยมีตลาดรองรับ เช่น ผักหวานป่า มะม่วงป่า 

“โครงการปลูกป่าในประเทศจะต้องเกิดขึ้นอีกเยอะ เนื่องจาก Climate Change ฉะนั้นกล้าไม้ป่าจะสำคัญมากเพราะเป็นที่ต้องการ ตอนนี้มีออร์เดอร์เป็นหมื่นๆ ต้น จากนั้นได้ SCG เข้ามาปลูกป่าในพื้นที่ 400 ไร่ตรงนี้ ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ที่ยั่งยืน ป่าไม้จะกลับคืนมา นอกจากนั้นยังให้ชาวบ้านในพื้นที่เปลี่ยนจากปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาปลูกข้าวโพดหวานส่งขายบริษัท ลำปางฟู้ดโปรดักส์ที่รับซื้อ ซึ่งค่อยๆ เปลี่ยน 

ดร.เจน เสนอด้วยว่า ในขณะที่บ้านก้อเป็นพื้นที่ปิด เมื่อมีน้ำและสามารถบริหารจัดการน้ำได้ หากปรับเปลี่ยนการทำเกษตรโดยลดการใช้สารเคมีแล้วค่อยๆ เปลี่ยนมาเป็นเกษตรอินทรีย์หรือปลูกพืชออแกนิกก็จะมีความยั่งยืนในแง่รายได้มากยิ่งขึ้น 

อ้างอิง: การประชุมเสวนา แม่ปิง 2565 ถอดบทเรียนอุทยานที่มีไฟป่าซ้ำซากที่สุดของไทย ทำอย่างไรไฟป่าถึงเข้าใกล้ศูนย์ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 จัดโดยศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ (ศวอ.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

Copyright @2021 – All Right Reserved.