กำเนิด Blue Carbon
ที่พึ่งสุดท้ายของชาวโลก?

by IGreen Editor

บลูคาร์บอน (Blue Carbon) เกิดขึ้นได้อย่างไร?

โลกของเรามีวัฏจักรของคาร์บอนหมุนเวียนผ่านสิ่งมีชีวิตและวัตถุต่าง ๆ เช่น การหมุนเวียนผ่านการสังเคราะห์แสงของพืชบนดินไปจนถึงพืชในน้ำ การหมุนเวียนของคาร์บอนผ่านพืชและสัตว์น้ำเรียกว่า บลูคาร์บอน (สีน้ำเงินเป็นสัญลักษณ์ของน้ำและท้องทะเล)

ในเมื่อคาร์บอนมีวัฏจักร ดังนั้นไม่ว่าจะเป็น กรีนคาร์บอน (Green Carbon) หรือ บลูคาร์บอน (Blue Carbon) ก็จะต้องมีการหมุนเวียนผ่านสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ แต่พวกมันไม่ได้ถูกหมุนเวียนทั้งหมด เพราะคาร์บอนมีส่วนเกินมากมายมหาศาล และส่วนเกินนี้อาจทำให้สมดุลของสภาพอากาศโลกมีปัญหา

แต่มีปรากฎการณ์หนึ่งซึ่งเรียกว่า คาร์บอน ซิงค์ (Carbon sink) หรือการตกตะกอนของคาร์บอน ซึ่งเป็นการเก็บกักตามธรรมชาติ ทั้งในดิน ในกระบวนการสังเคราะห์แสง และการนอนก้นใต้มหาสมุทร

การตกตะกอนนอนก้นของคาร์บอนในมหาสมุทรนี่เองที่เรียกว่า “บลูคาร์บอน” แถมยังเป็น คาร์บอน ซิงค์ ที่ดีที่สุดในโลก สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าหนึ่งในสี่ของคาร์บอนที่มนุษย์ปล่อยสู่อากาศ

ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า บลูคาร์บอน เกิดขึ้นได้ 2 แบบ คือ 1. เกิดขึ้นจากกระบวนการดูดซับโดยสิ่งมีชีวิตในทะเล และ 2. การเกิดขึ้นจากการดูดซับของพืชชายฝั่งทะเล

การดูดซับโดยสิ่งมีชีวิตในทะเล เริ่มต้นจากกระบวนการทางเคมี คือ เมื่อก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไหลจากอากาศลงสู่ทะเล แล้วละลายกลายเป็นส่วนหนึ่งของน้ำทะเล

จากนั้นจะนำไปสู่กระบวนการทางชีวภาพ โดยคาร์บอนไดออกไซด์จะถูกดูดซับโดยสิ่งมีชีวิตในทะเล เช่น ไฟโตแพลงตอน  (Biological pump) ซึ่งพวกมันจะใช้คาร์บอนในการสังเคราะห์แสงเป็นปริมาณมหาศาลมากกว่าที่มนุษย์ปล่อยออกมา ผ่านการเผาผลาญถึง 10 เท่า ดังนั้นสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ในทะเลจึงมีส่วนสำคัญในการดึงคาร์บอนที่มนุษย์ปล่อยออกมา และทำให้ส่วนเกินกลายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์  (1)

เมื่อสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ เช่น แพลงตอนสังเคราะห์แสงแล้วมันจะปล่อยคาร์บอนกลับออกไปสู่อากาศเป็นวัฏจักรต่อเนื่องกันไป แต่มีคาร์บอนส่วนหนึ่งจะตกตะกอนนอนก้นอยู่ที่มหาสมุทร กลายเป็นคลัง “บลูคาร์บอน” ที่นอนหลับไหลใต้พื้นทะเลยาวนานหลายพันปี

ส่วนการดูดซับของพืชชายฝั่งทะเลนั้นจะคล้าย ๆ กับ กรีนคาร์บอน หรือกระบวนการในป่าภาคพื้นดิน เพียงแต่เมื่อคาร์บอนถูกดูดซับโดยป่าชายเลน หญ้าทะเล และพืชในหนองน้ำเค็มแล้วมันจะถูกถ่ายเทไปยังทะเลลึก กลายเป็นส่วนหนึ่งของคลังบลูคาร์บอนที่สามารถเก็บกักไว้นานหลายพันปีเช่นกัน

บลูคาร์บอนช่วยลดโลกร้อนอย่างไร?

มหาสมุทรดูดซับทั้งความร้อนและคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศ จึงช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ในส่วนของการกักเก็บและกระจายอุณหภูมินั้น มหาสมุทรดูดซับความร้อนของดวงอาทิตย์ที่มาถึงพื้นผิวโลก แล้วกระจายความร้อนไปในห้วงน้ำอันกว้างใหญ่ จากนั้นค่อย ๆ ปล่อยมันกลับสู่บรรยากาศ กระบวนการจัดเก็บและการไหลเวียนลักษณะนี้ ป้องกันการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของอุณหภูมิ และทำให้สภาพอากาศบริเวณชายฝั่งทะเลไม่รุนแรง

ในส่วนของการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มหาสมุทรได้ดูดซับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากน้ำมือมนุษย์ประมาณ 1 ใน 3 ตั้งแต่ต้นยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม นำไปสู่การฝังตัวของคาร์บอนนอนก้นที่พื้นมหาสมุทร โดยความช่วยเหลือของพืชทะเลชนิดต่าง ๆ ซึ่งการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นี้ช่วยลดผลกระทบของภาวะโลกร้อนโดยการลดความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ

อย่างไรก็ตาม การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมหาศาลและความร้อนอย่างต่อเนื่อง กำลังเปลี่ยนแปลงสภาพของมหาสมุทร ทำให้มหาสมุทรร้อนมากขึ้นจนสูญเสียสมดุล และคาร์บอนที่ละลายลงสู่น้ำทะเลมีมากเกินไปจนทำให้ค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ในทะเลลดลงอย่างมากในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพทางชีวเคมีของมหาสมุทร (1)

สถานการณ์ของบลูคาร์บอนไม่สู้ดีนัก

ป่าโกงกาง, หญ้าทะเล และที่ลุ่มชื้นแฉะริมทะเลเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้บลูคาร์บอนถูกกักเก็บไว้ที่พื้นมหาสมุทร และมีศักยภาพในการกักเก็บนานหลายพันปี แต่ในเวลานี้แหล่งอาศัยของพืชทะเลกำลังถูกคุกคามอย่างหนัก ทำให้คาร์บอนที่ถูกเก็บไว้นับพันปีถูกปล่อยออกมา และยิ่งทำให้การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกเลวร้ายยิ่งขึ้น ดังต่อไปนี้

  1. เกิดการสูญเสียหญ้าทะเลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา จากอัตราการสูญเสียพื้นที่หญ้าทะเล 0.9% ต่อปีก่อนปี พ.ศ. 2484 เพิ่มเป็น 7% ต่อปีในปี พ.ศ. 2534 โดยนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง มีการสูญเสียหญ้าทะเลทั่วโลก ไปแล้วประมาณ 1/3 (2)
  2. ปัจจุบันเหลือพื้นที่ป่าโกงกางทั่วโลกราว 35% ในจำนวนนี้ยังมีความเสี่ยงจากการถูกโค่นป่าเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการพัฒนาอื่น ๆ อีกเกือบ 16% และจัดอยู่ใน IUCN Red List หรือรายการเสี่ยงที่จะสูญสิ้นไป (3)
  3. นอกจากปัจจัยเกี่ยวกับพืชทะเลแล้ว ยังมีปัจจัยจากสภาพภูมิอากาศด้วย โดยในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 Science Daily รายงานว่ามหาสมุทรอินเดียตอนใต้มีประสิทธิภาพในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของภูมิภาค ซึ่งรวมถึงความเร็วลมที่สูงขึ้น ทำให้การเก็บคาร์บอนในตะกอนก้นมหาสมุทรเกิดได้ยากขึ้น (4)

สหประชาชาติมีเป้าหมายอย่างไร

สหประชาชาติ โดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) จึงได้มีความริเริ่มบลูคาร์บอน (Blue Carbon Initiative) ขึ้น โดยตั้งเป้าหมายว่าภายในปี พ.ศ. 2568  จะต้องบรรลุผล ดังต่อไปนี้

  1. สกัดกั้นแนวโน้มการเสื่อมสภาพของแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตทางทะเลและชายฝั่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และรักษาปริมาณการกักเก็บคาร์บอน เพื่อให้กลไกนี้เป็นไปตามธรรมชาติอีกครั้ง
  2. เพิ่มพื้นที่ระบบนิเวศบลูคาร์บอนอย่างมีนัยสำคัญ
  3. ระดมทุน 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อปกป้องและฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตบริเวณชายฝั่งทะเลและทางทะเล เพื่อเพิ่มศักยภาพในการจัดเก็บและกักเก็บคาร์บอน (5)

จะเห็นได้ว่ามหาสมุทรได้ทำหน้าที่ในการดูดซับทั้งความร้อนและคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศ เพื่อสร้างสมดุล ซึ่งก็คือช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่ทั่วโลกกำลังเผชิญและหาทางก้ไขปัญหาอยู่

แต่อย่างไรก็ดี ในเวลานี้แหล่งอาศัยของพืชทะเล ทั้งป่าโกงกาง หญ้าทะเล และที่ลุ่มชื้นแฉะริมทะเล ซึ่งเป็นตัวช่วยสำคัญของระบบนิเวศบลูคาร์บอนให้ถูกกักเก็บไว้ที่พื้นมหาสมุทร และมีศักยภาพในการกักเก็บนานหลายพันปีกำลังถูกคุกคามอย่างหนัก

การจะช่วยโลกให้รักษาสมดุลไว้ได้ จึงต้องหยุดทำลายทรัพยากรทางทะเลสำคัญเหล่านี้

อ้างอิง

  1. Nellemann, Christian et al. (2009): Blue Carbon. The Role of Healthy Oceans in Binding Carbon. A Rapid Response Assessment. Arendal, Norway: UNEP/GRID-Arendal
  2. Waycott, M (2009). “Accelerating loss of seagrasses across the globe threatens coastal ecosystems”. Proceedings of the National Academy of Sciences of the USA. 106 (30): 12377–12381. doi:10.1073/pnas.0905620106. PMC 2707273 https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2707273/
  3. “IUCN – Mangrove forests in worldwide decline”. www.iucn.org. Retrieved 2016-02-29.

https://www.iucn.org/content/mangrove-forests-worldwide-decline

  1. CNRS (Délégation Paris Michel-Ange) (23 February 2009). “Ocean Less Effective At Absorbing Carbon Dioxide Emitted By Human Activity”. ScienceDaily.
  2. UNEP. “Blue Carbon Initiative”. Retrieved 29/10/2019 https://sustainabledevelopment.un.org/partnership/?p=7405

Copyright @2021 – All Right Reserved.