ทสม.วัยเก๋า ‘ชูเกียรติ รอดสวัสดิ์’
จิตอาสาพัฒนาคลองสวยน้ำใสให้ กทม.

by Igreen Editor

แม้จะเกษียณจากหน้าที่การงานมาตั้งแต่ปี 2544 แต่ “ชูเกียรติ รอดสวัสดิ์” อดีตผู้ช่วยผู้อำนวยการเขื่อนศรีนครินทร์ก็ยังไม่ยอมหยุดพักผ่อนอยู่กับบ้าน เขากลับมุ่งมั่นนำความรู้และประสบการณ์การปลูกป่าและการสร้างฝายธรรมชาติมาพัฒนาชุมชนเมืองให้กับกรุงเทพมหานคร

เมื่อปี 2560 เขาได้รับการชักชวนจากรุ่นพี่อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) ให้มาสมัครเป็น ทสม. ในสังกัดกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่ง “ชูเกียรติ” ตั้งใจนำความรู้เรื่องแม่น้ำและป่าไม้ที่สั่งสมระหว่างทำงานที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มากำหนดแผนงานในฐานะ ทสม.

นั่นคือที่มาของโครงการพัฒนาคลอง 3 สาย ให้กลายเป็น “คลองสวยน้ำใส” ซึ่งอยู่ในพื้นที่ 3 เขตของ กทม.คือ บางนา พระโขนง และ ประเวศ โดยชูเกียรติตั้งใจฟื้นฟูคลองบางนา คลองบางอ้อ และคลองเคล็ด ซึ่งเป็นคลองที่เชื่อมเป็นสายเดียวกัน แค่แยกย่อยออกเป็น 3 คลอง เช่น การแก้ปัญหามลพิษทางน้ำ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาขยะและผักตบชวา รวมถึงปัญหายาก ๆ เช่น การก่อสร้างที่อยู่อาศัยและสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำคลอง เพื่อช่วยพัฒนาชุมชนเมือง กทม. ด้านสิ่งแวดล้อมให้น่าอยู่มากขึ้น

“เวลานี้ได้ประสานงานกลุ่ม กทม.ใต้ ซึ่งประกอบด้วย 10 เขต และชวนประธาน ทสม.แต่ละเขตมาร่วมงาน ภายในปี 2563 นี้ตั้งใจว่าจะลงพื้นที่สำรวจแต่ละคลอง และจะเชิญชวนคนที่มาร่วมทำความสะอาดวัดในนามชมรมวัดสะอาดทั่วไทยไปทำเรื่องคลอง ตรงไหนทำดีอยู่แล้วเราจะเอาไปนำร่องขยายไปที่อื่น”

“โดยเฉพาะเรื่องขยะ น้ำเสีย ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากสำนักงานเขตในเรื่องอุปกรณ์ต่าง ๆ แต่จะต้องให้คนที่อาศัยอยู่ริมคลองลุกขึ้นมาช่วยกันทำ รวมทั้งการรุกล้ำลำคลองที่เป็นปัญหายากมาก เพราะมีบ้านเลขที่กันหมด ปัญหาใหญ่มาก แต่ถ้าไม่คิดจะทำก็ไม่มีทางสำเร็จ ต้องเริ่มทำก่อน” ชูเกียรติกล่าว

หน้าที่หลักของ ทสม. ที่จะผลักดันให้โครงการนี้บรรลุเป้าหมาย ชูเกียรติบอกว่าจะต้องประสานงานและบูรณาการทรัพยากรและงบประมาณระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ประสานสำนักงานเขต สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร สมาชิกสภาเขต กรมเจ้าท่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนชุมชน เพื่อให้เกิด “คลองสวยน้ำใส” ตามที่ตั้งใจ

“อยากนำประสบการณ์เมื่อครั้งเคยถวายงานให้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ตอนทำงานกับ กฟผ.ที่ช่วยสร้างฝายโดยใช้วัสดุธรรมชาติและปลูกป่าทั่วพื้นที่ประเทศไทยให้มีพื้นที่สีเขียวนับพันนับหมื่นไร่มาพัฒนา กทม.นี่คือแรงบันดาลใจในการทำงาน ทสม.” ชูเกียรติกล่าว


ช่วงการระบาดของโควิด-19 การประชุมเรื่องคลองสวยน้ำใสอาจสะดุดไปบ้าง เพราะแต่ละคนต้องหยุดอยู่กับบ้าน แต่คุณชูเกียรติได้เอาเวลาไปทำงานร่วมกับชมรมวัดสะอาดทั่วไทย จัดกิจกรรมจิตอาสาทำความสะอาดวัดทั่วประเทศ โดยได้ระดมจิตอาสาและ ทสม.ลงพื้นที่ทำความสะอาดวัด จำนวน 4 แห่ง ทั้งปัดกวาดเช็ดถูโบสถ์ เจดีย์ ศาลาวัด เก็บขยะ ทาสี ดูแลต้นไม้และปลูกต้นไม้ เป็นต้น อย่างน้อยเป็นการเชื่อมร้อยการทำงานร่วมกันและหวังจะชักชวนอาสาเหล่านั้นมาทำงานเรื่องคลองด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ “ชูเกียรติ” จะมาสวมเสื้อ ทสม. เขาเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุป่วยติดเตียงมาก่อน ดังนั้นเขาจึงเป็นคนทำงานจิตอาสาตัวพ่อ และเป็นที่มาของการมาสมัครเป็น ทสม.

งานที่ผ่านมา อาทิ โครงการจิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนเฉลิมพระเกียรติ รุ่นที่ 1, กิจกรรม ทสม. ประชาชนจิตอาสา “สืบสาน รักษา และต่อยอด” กิจกรรมเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมไทยและวันอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านแห่งชาติ ประจำปี 2562, กิจกรรมจิตอาสาจัดการขยะ งานกาชาดประจำปี 2562, การประชุมเครือข่าย ทสม. ประจำปีหรือการประชุมพัฒนากลไกการขับเคลื่อนเครือข่าย ทสม. กรุงเทพมหานคร เป็นต้น

เมื่อ กทม.จัดงานใหญ่ระดับชาติที่มีประชาชนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก เช่น งานกาชาด จะเห็น “ชูเกียรติ” นั่งประจำซุ้มกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม คอยทำทำหน้าที่วิทยากรจิตอาสาคัดแยกขยะต้นทาง นำความรู้จากที่กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเคยจัดอบรมถ่ายทอดแก่จิตอาสาที่เข้าร่วมบำเพ็ญประโยชน์ด้านการจัดการขยะภายในงาน โดยนำแนวคิด “สนามหลวงโมเดล” มาแบ่งปันความรู้และประสบการณ์แก่ประชาชนที่เข้ามาร่วมงาน

แม้จะอายุมากแล้วแต่ทุกวันนี้ “ชูเกียรติ” ยังมีสุขภาพแข็งแรง ล่าสุดได้รับรางวัลผู้สูงวัยสุขภาพดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ประจำปี 2563 เป็นรางวัลการันตีความเป็น ทสม.สายลุยที่พร้อมจะทำงานจิตอาสาด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป โดยเฉพาะการพัฒนาเมือง กทม.ให้บรรลุเป้าหมายตามความตั้งใจ

กล่าวได้ว่าการทำความดีด้วยหัวใจของ “ชูเกียรติ” เป็นแบบอย่างจิตอาสาที่ไม่มีวันหมดอายุอย่างแท้จริง

Copyright @2021 – All Right Reserved.