แฟนกาแฟมีผวา
โลกร้อนป่วนแหล่งปลูก
ในปี 2050 ผลผลิตลด 50%

by Igreen Editor

จากผลการศึกษาล่าสุดที่เผยแพร่ใน Plos One เตือนว่า ภูมิภาคกาแฟที่สำคัญของโลกในบราซิล อินโดนีเซีย เวียดนาม และโคลอมเบีย ปริมาณการผลิตดจะ “ลดลงอย่างมาก” ประมาณ 50% ภายในปี 2050

รายงานระบุว่า กาแฟเป็นพืชที่ไวต่ออุณหภูมิสูงที่สุด ดังนั้นในประเทศที่เป็นแหล่งปลูกหลักจะมีสัดส่วนการผลิตลดลงประมาณครึ่งหนึ่งของโลกโดยเฉพาะสายพันธุ์ยอดนิยมอย่างอาราบิก้าที่พื้นที่เหมาะสมสำหรับการปลูกจะลดลงประมาณครึ่งหนึ่งภายในปี 2050

บางพื้นที่สำคัญจะได้รับผลกระทบหนักกว่า แม้แต่ในสถานการณ์จำลองที่อุณหภูมิสูงขึ้นน้อยที่สุดยังทำให้การปลูกกาแฟลดลงถึง 76% ในพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดของบราซิล และในโคลัมเบียจะลดลงถึง 63%

ขณะเดียวกัน บางพื้นที่ทางตอนเหนือและใต้สุดของพื้นที่ปลูกกาแฟได้ในปัจจุบันจะมีความเหมาะสมมากขึ้น ประเทศเหล่านี้คือ อาร์เจนตินา แอฟริกาใต้ จีน และนิวซีแลนด์ เป็นต้น

มันหมายความว่าอะไร? หมายความว่าตอนนี้กาแฟปลูกได้ในเขตร้อน ประเทศที่เขตหนาวจะปลูกไม่ได้ผล แต่เมื่อโลกร้อนขึ้่น ประเทศเขตร้อนอย่างบราซิลจะร้อนจัดเกินไป ส่วนประเทสที่เย็นกว่า เช่น ออาร์เจนตินาจะมีสภาพเหมาะสมมากขึ้นสำหรับกาแฟ

แต่ตามที่ผู้เขียนรายงานบอก สิ่งที่จะเกิดขึ้นไม่ได้หมายความว่าภูมิภาคใหม่เหล่านี้สามารถแทนที่แหล่งปลูกกาแฟหลักของโลกในปัจจุบันได้อย่างง่ายดาย ขณะที่ประเทศที่จะได้รับผลกระทบยังมีโอกาสปรับตัว

วิธีการคือการเพาะพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพใหม่มากกว่า และในกรณีของกาแฟ อาจหมายถึงการเปลี่ยนไปใช้พันธุ์โรบัสต้าซึ่งแข็งกว่า แต่มีคุณภาพต่ำกว่าเมล็ดพันธุ์อาราบิก้า

เพียงแต่ว่ารายงานนี้ยืนยันกับเราว่า เมื่อโลกร้อนขึ้นมันจะทำให้พื้นที่เพาะปลูกจะไม่ได้ผลมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะกระทบต่ออาชีพการงานของคนหลายสิบล้านคน และกระทบต่อการกินการดื่มของคนเป็นพันล้านคน

ไม่ใช่แค่กาแฟ เพราะจะเกิดความเปลี่ยนแปลงกับพืชอาหารอื่น ๆ ด้วย โดยพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับเม็ดมะม่วงหิมพานต์และอะโวคาโดจะเพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ไกลจากแหล่งผลิตปัจจุบัน

มะม่วงหิมพานต์จะมีพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกเพิ่มขึ้น 17% ซึ่งหมายความในอนาคตโลกจะร้อนและชื้นขึ้น ลองจินตนาการถึงโลกที่ร้อนและชื้นแบบสภาพอากาศภาคใต้ของไทยนั่นเอง

ประเทศที่ปลูกมะม่วงหิมพานต์เป็นหลักในตอนนี้กลับจะสูญเสียพื้นที่เพาะปลูกไป เช่น ประเทศเบนินจะเสียพื้นที่เพาะปลูกไปถึงครึ่งหนึ่งแม้แต่ในสถานการณ์จำลองที่อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นน้อยที่สุดก็ตาม

รายงานได้ไม่ได้ระบุถึงประเทศไทย แต่ไทยอยู่ในกลุ่มผู้ปลูกกาแฟและมะม่วงหิมพานต์หลัก ๆ ของโลกเช่นกันประเทศเราจึงจะได้รับผลกระทบแน่ เพราะขนาดเวียดนามที่เป็นเพื่อนบ้านก็ยังไม่รอด

สำหรับสถิติโดยทั่วไปประเทศผลิตกาแฟยักษ์ใหญ่คือ บราซิล เวียดนาม อินโดนีเซีย และโคลอมเบีย มีส่วนแบ่งการผลิตถึง 64% ของการผลิตทั่วโลก

ขณะที่เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เวียดนาม อินเดีย โกตดิวัวร์ และเบนิน คิดเป็น 73% ของการผลิตทั่วโลก ประเทศผู้ผลิตอะโวคาโดหลัก ได้แก่ เม็กซิโก สาธารณรัฐโดมินิกัน เปรู และอินโดนีเซีย คิดเป็น 58% ของการผลิตทั่วโลก

กาแฟมีความสำคัญมากที่สุดโดยคาดว่าจะมีรายได้ 460,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2022 ในขณะที่อะโวคาโดและเม็ดมะม่วงหิมพานต์อยู่ที่ 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

ข้อมูลจาก
• Matt McGrath. (January 27, 2022). “Climate change: Key crops face major shifts as world warms”. BBC.
• Danielle Wiener-Bronner. (January 26, 2022). “Climate change is coming for our coffee”. CNN Business
• Denis J Murphy. (January 27, 2022). “Coffee may become more scarce and expensive thanks to climate change – new research”. The Conversation.

Copyright @2021 – All Right Reserved.