ปลูก ‘ต้นไม้ในใจ’ ไม่เน้นปริมาณ
โยงใยการอนุรักษ์-วิถีชีวิตเข้าด้วยกัน
ส่งต่ออากาศอันบริสุทธิ์ให้ลูกหลาน

by IGreen Editor

เมื่อพูดถึง “องค์การนอกภาครัฐ” หลายคนอาจจะไม่คุ้นหู้หรือไม่รู้จัก แต่ถ้าบอกว่ามันคือชื่อเต็มของ “เอ็นจีโอ” (Non Governmental Organizations: NGO) น้อยคนนักที่จะบอกว่าไม่รู้จักสำหรับบางคนเมื่อได้ยินคำว่า NGO อาจรู้สึกกังขาในบทบาทของพวกเขา นั่นเพราะ NGO ทำงานเพื่อรักษาสิทธิขั้นพื้นฐานของคนตัวเล็ก ๆ ในสังคมไปจนถึงประชาชนทั่วไปและบางครั้งมักจะต้องตรวจสอบหรือตั้งคำถามกับนโยบายของภาครัฐ ทำให้บางคนอาจจะคิดว่า NGO ขัดขวางการพัฒนา

แต่จริง ๆ แล้วตรงกันข้ามเลย องค์กรเหล่านี้สามารถตรวจสอบความโปร่งใสในการทำงานได้ และมีแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่ตรวจสอบพวกเขาคือ Accountable Now และยังมีการกำหนดหลักจรรยาบรรณให้กลุ่มต่าง ๆ ทั่วโลกได้ยึดถือ นั่นคือ NGO Charter เพื่อรับประกันว่าองค์กรต่าง ๆ จะตรวจสอบได้และมีความโปร่งใส

นอกจากนี้ NGO ยังมีเป้าหมายอยู่การสนับสนุนการพัฒนา จึงมีอีกชื่อว่า “องค์การอาสาสมัครเอกชน” (เรียกย่อ ๆ ว่า PDO) หรือ  “องค์การอาสาสมัครเอกชน” (เรียกอีกอย่างว่า PVO)

งานของ NGO มีทั้งที่เป็นการพัฒนาโดยตรง เช่น การเพิ่มขีดความสามารถของประชาชนที่ด้อยโอกาสในสังคม ไปจนถึงงานที่ส่งผลสะเทือนต่อคนทุกกลุ่ม เช่น การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปจนถึงการผลักดันความเจริญที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือการพัฒนาที่ยั่งยืน

งานด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนกำลังเป็นเป้าหมายสำคัญของ NGO หลายกลุ่มเพราะประเด็นนี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของชาวโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ หนึ่งในองค์กรที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมในระดับโลกที่มีชื่อเสียงมายาวนานก็เช่น Greenpeace ก่อตั้งขึ้นในปี 2514 และมีผลงานเชิงรุกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากมายครอบคลุมตั้งแต่การต่อต้านการพัฒนาที่ทำลายสิ่งแวดล้อมไปจนการคุ้มครองสิทธิสัตว์

กลุ่ม Ocean Conservancy

หรือจะเป็น Ocean Conservancy ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2515 ซึ่งเป็นองค์กรที่มีเป้าหมายเฉพาะในการปกป้องมหาสมุทรของโลกรวมถึงปกป้องสัตว์ทะเลและมนุษย์ที่พึ่งพาทะเล หนึ่งในผลงานสำคัญคือ การทำความสะอาดชายฝั่งนานาชาติ (International Coastal Cleanup) ซึ่งสามารถกำจัดขยะจากชายหาดทั่วโลกได้ถึง 65,592,400 ล้านกิโลกรัม ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา

ในประเทศไทยมี NGO ที่ทำงานหลากหลายมาก บางครั้งก็ทำงานคาบเกี่ยวกันทั้งด้านคุณภาพชีวิต ความยั่งยืนและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีองค์กรท้องถิ่นอีกมากมายที่หลายคนไม่เคยได้ยินชื่อแต่ทำงานแบบปิดทองหลังพระ และที่เราคุ้นชื่อกันส่วนใหญ่มักเป็นองค์กรสาขาจากต่างประเทศ

แต่ยังมีองค์กรหนึ่งซึ่งคนไทยคงคุ้นชื่อกันดีนั่นคือ มูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ ที่ก่อตั้งโดย ดร.คุณหญิง กัลยา โสภณพนิช เป็นหนึ่งในมูลนิธิไม่แสวงหากำไรที่ดูแลสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน

ดร.คุณหญิง กัลยา โสภณพนิช

มูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์มีจุดเริ่มต้นมากจากความตั้งใจที่ปลูกต้นไม้ถวายเป็นราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในมหามงคลวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ จึงกลายเป็นที่มาของ “โครงการราชพฤกษ์” และชื่อของมูลนิธิที่ดำเนินงานตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ในการที่จะดำรงไว้ซึ่งผืนป่าเพื่อคนไทยมานานถึง 30 ปีแล้ว

จากจุดเริ่มต้นเมื่อ 30 ปีที่แล้วที่ประเทศไทยเหลือผืนป่าแค่ 25% แต่จากการปลูกป่าอย่างไม่ลดละผ่านโครงการต่างๆ ของมูลนิธิฯ ทำให้วันนี้เมืองไทยมีผืนป่าเพิ่มขึ้นมาเป็น 31% แต่มันยังเป็นตัวเลขที่น่าเป็นห่วง เพราะเป็นการเพิ่มขึ้นที่มาพร้อม ๆ กับการทำลายในทุกปีเช่นกัน

แล้วทำไมถึงยังมุ่งมั่นปลูกป่าต่อไป? คุณหญิงกัลยา เคยเปิดใจไว้ว่า “สิ่งที่เราทำได้คือ มีคนตัดไม้หนึ่งหมื่นคนใช่ไหม แต่เรามีคน 70 ล้านคนนะ ขอแค่ปลูกต้นไม้คนละต้นได้ไหม พวกคนตัดไม้เขาจะตัดได้มากเท่าไรกัน เราก็เลยพยายามรณรงค์ให้ทุกคน เด็ก ผู้ใหญ่ คนรวย คนจน มาปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับแผ่นดิน เพราะผลลัพธ์เราจะได้รับอย่างเท่าเทียมกันจริง ๆ ทั้งคนรวย คนจน”

การจะปกป้องผืนป่าให้คนไทยไม่สามารถทำสำเร็จได้หากไม่มีความร่วมมือจากคนไทยด้วยกัน เหมือนกับวิสัยทัศน์ของมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ที่บอกว่า “แต่ละมือของคนไทยสร้างความชอุ่มได้ในแผ่นดิน” และความร่วมมือกันปลูกป่าอย่างเดียวยังไม่พอ ยังต้องทำให้คนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืนด้วย

ดังนั้นเป้าหมายขององค์กรจึงไม่ใช่เพียงแค่การปลูกต้นไม้ให้ได้จำนวนมาก แต่เป้าหมายสูงสุดอยู่ที่การสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนระหว่างคนไทยกับทรัพยากรธรรมชาติ เริ่มจากการผลักดันผ่านกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้าถึงง่ายและทำแล้วสนุก

ถึงแม้ว่ามูลนิธิฯ จะก่อตั้งมานานถึง 3 ทศวรรษ แต่งานของมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์คล้ายกับ NGO รุ่นใหม่ที่กำลังเป็นที่จับตาในระดับโลก เช่น Grow-Trees.com ที่ปลูกต้นไม้ในอินเดียถึง 3.9 ล้านต้น ช่วยฟื้นคืนผืนป่าที่เป็นบ้านของสัตว์หายากและลดการปล่อยคาร์บอนได้เกือบ 80 ล้านกิโลกรัม

ทั่วโลกมี NGO ที่ทำงานปลูกต้นไม้มากมายมหาศาล เฉพาะในอินเดีย (ซึ่งมี NGO มากถึง 2 ล้านองค์กร) มีองค์กรที่ปลูกต้นไม้นับไม่ถ้วน แต่องค์กรเหล่านี้ไม่ค่อยประสบความสำเร็จในแบบที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ นั่นก็เพราะขาดความต่อเนื่องและความตั้งใจ

Grow-Trees.com

ดังนั้นการปลูกป่าจึงต้องมีแรงจูงใจ Grow-Trees.com จึงสร้างการผลักดันให้คนปลูกป่าด้วยการจับมือคนเมืองกับคนอยู่ในป่า โดยทำให้การปลูกป่าเป็นการมอบของขวัญอย่างหนึ่งในคนที่คุณรัก ทุกครั้งที่พวกเขามอบต้นไม้เป็นของขวัญก็จะมอบเงินบริจาค 85 รูปี เป็นค่าบริการในการปลูกต้นไม้หนึ่งต้นแล้วเงินนั้นจะผันมาให้คนปลูกป่าได้มีแรงใจได้สร้างผืนป่าไปเรื่อย ๆ

หนึ่งในโครงการของมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ที่น่าสนใจก็คือ “โครงการฟื้นฟูบ้านเกิดเมืองนอน” ที่สร้างงานให้กับคนชนบทที่ยากไร้ ด้วยการรับจ้างปลูกและดูแลต้นไม้ยืนต้นในพื้นที่เสื่อมโทรม ที่รกร้างว่างเปล่า ที่สาธารณะหรือป่าเสื่อมโทรม โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องปลูกและดูแลต้นไม้บนพื้นที่ 10 ไร่ หรือ 1,000 ต้นต่อแปลงอย่างต่อเนื่อง

และเมื่อปลูกแล้วต้องไม่ปล่อยปละละเลย เพราะต้องมีการดูแลปลูกซ่อมหลังจากการปลูกแล้วเสร็จเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี โดยอัตรารอดตายของต้นไม้ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับค่าตอบแทนครอบครัวละ 1,000 บาทต่อเดือน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและเป็นค่าเล่าเรียนให้กับบุตร

บทบาทขององค์กรภาคเอกชนในยุคใหม่จึงไม่ใช่แค่การอนุรักษ์แบบเน้นปริมาณ แต่เน้นที่การสานต่อภารกิจที่ไม่ขาดช่วง โดยเริ่มปลูกฝังแนวคิดการอนุรักษ์ที่ทำได้จริงและทำแล้วเพลิดเพลิน ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าพวกเขาได้อะไรจากการปลูกต้นไม้ มันคือความยั่งยืนที่จับต้องได้ผ่านโครงการที่ชาญฉลาด สามารถโยงใยการอนุรักษ์และวิถีชีวิตเข้าด้วยกัน

มูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์จึงปลูก ‘ต้นไม้ในใจ’ ให้กับผู้คนรอบข้าง และส่งต่อผืนป่าอันแสนอุดมสมบูรณ์ และอากาศอันแสนบริสุทธิ์ให้กับลูกหลานของเราต่อไปในอนาคต

เหมือนที่ ดร. คุณหญิง กัลยา โสภณพนิช ประธานมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ กล่าวว่า “นอกจากปลูกป่าบนพื้น ให้เขามีอากาศที่บริสุทธิ์ ให้สัตว์ป่ามีที่อยู่อาศัย เรายังได้ปลูกต้นไม้ในใจคน มันคือการให้ชีวิตที่ต่อชีวิตออกไปเรื่อย ๆ เมื่อเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นทั้งหมด แล้วจะไม่ให้มีความสุขได้อย่างไร”

ผู้ที่สนใจกิจกรรมและการดำเนินงานของมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์สามารถเข้าไปติดตามได้ที่ https://www.facebook.com/rajapruekfoundation

#มูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ #คุณหญิงกัลยาโสภณพนิช #igreenstory

Copyright @2021 – All Right Reserved.