ตั้งศูนย์ดับไฟป่าเหนือเขื่อนภูมิพล ลดพื้นที่เผาไหม้ป่าอนุรักษ์ 50%

by Admin

กรมอุทยานฯ จัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการไฟป่าเขื่อนภูมิพล” เพื่อแก้ไขปัญหาไฟป่าในพื้นที่แปลงใหญ่ใน 3 จังหวัด เหนือเขื่อนภูมิพลเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่จะลดการเผาในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ลง 50% ซึ่งปีที่ผ่านมาใน 17 จังหวัดภาคเหนือเกิดไฟป่าทั้งหมด 9.7 ล้านไร่

ไฟในป่าเหนือเขื่อนภูมิพลที่เกิดไฟไหม้ซ้ำซากมาร่วม 10 ปี อยู่ใน 3 ป่าอนุรักษ์ที่เชื่อมต่อกันเป็นป่ารอยต่อสามจังหวัด คือ เชียงใหม่ ลำพูน และตาก เมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมา กรมอุทยานฯ รายงานผลรอยไหม้จากดาวเทียม Landsat-8 ของป่าสามผืนนี้ ดังนี้

– รอยไหม้แม่ตื่น 3.7 แสนกว่าไร่ คิดเป็น 48% ของพื้นที่

– รอยไหม้แม่ปิง 2.4 แสนไร่ ราว 38%

– รอยไหม้อมก๋อย 2.3 แสนกว่าไร่ ราวๆ 30% ของพื้นที่

ในขณะพื้นที่เผาไหม้ป่า 17 จังหวัดภาคเหนือทั้งหมดอยู่ที่ 9,768,928 ไร่

นี่คือเขตไฟแปลงใหญ่ที่สุดที่ไหม้มากที่สุด เกิดผลกระทบมากสุดเป็นลำดับต้น โดยจะเกิดขึ้นช่วงปลายเดือนมกราคมต่อเนื่องกุมภาพันธ์ ไปถึงต้นๆ มีนาคม ในช่วงนั้นลมจะพัดจากทิศใต้ขึ้นมา และหอบฝุ่นควันเข้าแอ่งเชียงใหม่ขึ้นไปภาคเหนือตอนบน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2567 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงนามในคำสั่งให้จัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการไฟป่าเขื่อนภูมิพล อ.สามเงา จ.ตาก” โดยให้เหตุผลว่า ด้วยสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย มีการเกิดไฟป่าจำนวนมาก

พื้นที่ป่าอนุรักษ์ดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ป่าอนุรักษ์ใน จ.เชียงใหม่ ลำพูน และตาก ซึ่งในปี 2567 กรมอุทยานฯ ตั้งเป้าหมายจะลดพื้นที่เผาไหม้ลงร้อยละ 50 จากปี 2566 เพื่อเป็นการบูรณาการในการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน และเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์รอยต่อ 3 จังหวัด เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ การจัดศูนย์ดังกล่าวมีการแต่งตั้งที่ปรึกษา จำนวน 20 คน อาทิ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 310, ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33, นายอำเภออมก๋อย, นายอำเภอดอยเต่า, นายอำเภอลี้, นายนอำเภอสามเงา, นายอำเภอแม่ระมาด, ผอ.เขื่อภูมิพล เป็นต้น

พร้อมกับแต่งตั้งคณะกรรมการ จำนวน 16 คน อาทิ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 14 ทำหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ปิง ทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการ

คำสั่งกำหนดอำนาจหน้าที่ไว้ ดังนี้

1) ดำเนินการตามแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาไฟป่า ประจำปีงบฯ ปี 2567 ตามนโยบายกรมอุทยานฯและนโยบายของรัฐบาล

2) อำนวยการ ประสาน และบูรณาการการปฏิบัติงานของส่วนราชการ และองค์กรต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน

3) ดำเนินยุทธวิธีโดยจัดกำลังพล พร้อมอุปกรณ์ดับไฟป่า ลาดตระเวนในพื้นที่เสี่ยงภัย จัดชุดปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

และ 4) ปฏิบัติงานอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย ลงวันที่ 2 มกราคม 2567

สำหรับระดับความรุนแรงของฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นผลพวงจากไฟป่า (1 ม.ค.-31 พ.ค. 66) ช่วงเผาพื้นที่เกษตรฝุ่นพิษเพิ่มขึ้น 2 เท่า ช่วงเผาป่าฝุ่นพิษเพิ่มขึ้น 6 เท่า และช่วงฝุ่นควันข้ามแดนฝุ่นพิษเพิ่มขึ้น 9 เท่า

บัณรส บัวคลี่ ประธานยุทธศาสตร์สภาลมหายใจภาคเหนือ ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาศูนย์แห่งนี้ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ศูนย์ฯ แห่งนี้ประกอบขึ้นจากหน่วยงานหลากหลาย ทั้ง ทหาร ฝ่ายปกครองจากสามจังหวัด ตาก ลำพูน เชียงใหม่ และทุกหน่วยของกรมอุทยานฯ เจ้าของพื้นที่สามป่าอนุรักษ์ แม่ปิง แม่ตื่น อมก๋อย

“ผมน่ะ เป็นหนึ่งในคนที่ประสงค์อยากให้รัฐมาจัดการไฟต้นเหตุมลพิษแหล่งใหญ่สุดบนพื้นที่ป่าลี้ลับทุรกันดารเขตนี้   ดิ้นรนทั้งเขียน ทั้งดัน พยายามสืีอสารว่าสามป่าคือเหตุใหญ่ใกล้ตัว สภาลมหายใจยื่นนายกฯ ขอสิบไฟแปลงใหญ่ ท่านให้ อ้าวมาห็นหล่นไปป่านึง  กระทั่งรอบสองตามไปขอนายกรัฐมนตรี บรรจุป่า ขสป.อมก๋อย ที่หล่นท็อปเท็นให้บรรจุเป็นป่าเป้าหมายตามมติครม. ท่านก็ให้อีก

“ในเมื่อประสงค์นักท่านอธิบดีจึงใส่ชื่อให้ไปร่วมจัดการปฏิบัติการนี้ซะเลย

“ด้วยความขอบคุณ ยินดีปฏิบัติครับ มันเป็นเรื่องท้าทาย mission impossible ที่จำเป็นต้องรบ เดิมพันสูง กระทบคนเป็นล้านๆ ในแอ่งเชียงใหม่ ลำปางข้างบน…

“โครงสร้างที่ท่านอธิบดีกรมอุทยานฯ แต่งตั้งบนพื้นที่ป่าเขตอำนาจของท่าน เท่าที่อำนาจตามกฎหมายท่านมี จึงให้ หน่วยทหาร นายอำเภอ ฝ่ายอื่นๆ เช่น กฟผ. มาร่วม ฐานะที่ปรึกษา ซึ่งก็เห็นเจตนาอยู่ว่า การแก้ปัญหาต้องอาศัยกำลังแรงของทั้งทหารที่มีเครื่องมืออุปกรณ์กำลังพล และฝ่ายปกครองที่มีบารมีกับชุมชนในพื้นที่มาร่วม เป็นกุญแจที่ขาดเสียไม่ได้

“ป่าไม้ ปกครอง ทหาร คือกุญแจสามดอก ต้องไขพร้อมกัน เพราะการจัดการฝุ่นไฟที่แท้คือบริหารจัดการผู้คน ปากท้องความพึงพอใจ ความเข้าใจร่วมกันจากชุมชนรอบๆ ด้วย

“จากนี้ก็ต้องลงมือ เพราะสถิติไฟเขตนี้ ปลายมกราคมก็เริ่มแล้ว…” (อ่านโพสต์ฉบับเต็ม ได้ที่นี่)

Copyright @2021 – All Right Reserved.