Friday for Future

กลุ่ม Fridays for Future เคลื่อนไหว
กระทุ้งรัฐบาลเร่งกู้วิกฤตโลกรวน

by Igreen Editor

เราทุกคนควรสนใจและให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหวของกลุ่ม Fridays for Future (วันศุกร์เพื่ออนาคต) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นการรวมตัวเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกเร่งแก้ปัญหา Climate Change หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก่อนที่การประชุม COP27 จะจัดขึ้นที่อียิปต์ ตั้งแต่วันที่ 7 -18 พ.ย. 2022

กลุ่ม Fridays for Future เป็นการรวมตัวของเยาวชนจากทั่วโลกที่ก่อตัวขึ้นโดยมี เกรต้า ธันเบิร์ก เยาวชนจากสวีเดน เป็นไอดอลและแรงบันดาลใจ จนกลายเป็นกระแส School Strike for the Climate Movement ไปทั่วโลก ด้วยเห็นร่วมกันว่า คนรุ่นใหม่ในฐานะต้องใช้ชีวิตบนโลกนี้ไปอีกนาน ควรได้รับการส่งต่อสภาพภูมิอากาศที่ดีกว่านี้

พวกเขาเริ่มรวมตัวเรียกร้องกันมาตั้งแต่ปี 2018 หลังเกรต้า (วัย 15) หยุดเรียนวันศุกร์ไปประท้วงที่หน้ารัฐสภาสวีเดน และรอบนี้ได้ออกมาประท้วงกัน 450 พื้นที่ทั่วทุกมุมโลก เพื่อให้รัฐบาลทั่วโลกหันมาใส่ใจและเงแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง (เสียที) ข้อเรียกร้องสำคัญที่สุดคือให้ประเทศที่ร่ำรวยจ่ายเงินสนับสนุนประเทศยากจน เพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อน

เหตุผลที่ยังต้องประท้วงกันอีก ก็เพราะผลการประชุม COP26 ที่กลาสโกว์ เมื่อปี 2021 ค่อนข้างน่าผิดหวัง หรือไม่มีประเด็นอะไรใหม่มากนัก นอกจากตกลงจะเร่งดำเนินการตามที่พูดกันไว้ในปีถัดไป เช่น ตกลงจะลดการใช้ถ่านหิน แต่ไม่เป็นจริงเพราะประเทศพึ่งพาอุตสาหกรรมฟอสซิลก็ยังจะลงทุนต่อ

Friday for Future

เหตุผลต่อมา ผลกระทบจากโลกร้อนที่รุนแรงและโหดร้ายเป็นที่ประจักษ์มากขึ้น นั่นก็คือ น้ำท่วมใหญ่ในปากีสถานซึ่งกินพื้นที่ 1 ใน 3 ของประเทศ มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนกว่า 33 ล้านคน ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อชาวปากีสถานเพราะเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของตัวเลขการปล่อยทั่วโลก เรียกได้ว่านี่คือบันทึกประวัติศาสตร์โลกด้านภัยพิบัติครั้งสำคัญ

นี่คือเหตุผลที่ประเทศที่ร่ำรวยโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของโลกซึ่งก่อมลพิษมากกว่าชาติอื่นต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือประเทศยากจนที่ไม่ได้เป็นผู้ก่อ ซึ่งอยู่ในข้อตกลงปารีสตั้งแต่แรก แต่กลายเป็นการช่วยเหลือในรูปเงินกู้แทนที่จะช่วยฟรี

อย่างไรก็ตาม กรณีปากีสถานเป็นแค่หนึ่งตัวอย่าง เพราะเอาเข้าจริงแล้วในช่วงปีที่ผ่านมาได้เกิดภัยพิบัติขึ้นมากมาย อาทิ ไฟป่าในสหรัฐที่รุนแรงขึ้น วิกฤตคลื่นความร้อนและภัยแล้งในหลายชาติของยุโรป น้ำท่วมใหญ่ในเยอรมนี น้ำท่วมกรุงโซล น้ำท่วมใหญ่ในจีน ฯลฯ

ปรากฎการณ์เหล่านี้ล้วนเป็นผลกระทบจากภาวะโลกร้อนอย่างมิอาจปฏิเสธ ซึ่งล่าสุดเดนมาร์กในฐานะสมาชิกองค์การสหประชาชาติ เป็นชาติแรกที่ประกาศยอมมอบเงิน 100 ล้านคราวน์เดนมาร์ก หรือประมาณ 13.4 ล้านยูโร (ประมาณ 490 ล้านบาท) เพื่อชดเชยความเสียหายจากภาวะโลกร้อนให้กับภูมิภาคซาเฮล (Sahel) ในพื้นที่ทะเลทรายซาฮาราของแอฟริกาเหนือ และกลุ่มประเทศเปราะบางต่อสภาพภูมิอากาศมากที่สุดด้วย

คำถามคือ สังคมไทยมีความพร้อมรับมือปัญหาโลกร้อนแค่ไหน ที่ผ่านมามุ่งให้ความสำคัญกับตัวเลขการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์หรือ net zero greenhouse gas emission มากเกินไปหรือไม่ ในขณะที่การส่งเสริมและสนับสนุนการปรับตัวของชุมชนได้รับผลกระทบหรือประชาชนในพื้นที่เปราะบางไม่ได้รับการเตรียมความพร้อมอย่างเป็นรูปธรรมอย่างเพียงพอหรือไม่

ฟังคำอธิบายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่กล่าวในเวทีการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย (Thailand Climate Action Conference หรือ TCAC) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 – 6 ส.ค. ที่ผ่านมาก็แค่นำคำประกาศจากเวที COP26 มาพูดซ้ำ คือจะผลักดันไทยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี 2050 และการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero greenhouse gas emission) ภายในปี 2065 รวมทั้งมุ่งใช้นโยบายเศรษฐกิจ BCG เป็นกลไกขับเคลื่อนประเทศให้เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน – ซึ่งย้อนไปฟังทุกคำพูดแล้วก็ไม่มีประโยคใดที่พอจะเป็นความหวัง

ขณะที่ วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สรุปผลการประชุม TCAC ว่า ประสบความสำเร็จในแง่การสร้างพลังการขับเคลื่อน สร้างพลังการรับรู้ และตระหนักถึงสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในทุกระดับ โดยจะส่งแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย หรือ LT-LEDS และเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้ NDC ฉบับปรับปรุงไปยัง UNFCCC ปลายปีนี้ ก่อนจะไปร่วมประชุม COP27

ในขณะที่มุมมองจากผู้อำนวยการกรีนพีซประเทศไทย ธารา บัวคำศรี เขาตั้งข้อสังเกตถึงคำว่า ‘Net Zero’ ไว้น่าสนใจว่า เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ก่อมลพิษใช้เป็นกลอุบายในการตกแต่งบัญชี หรือการฟอกเขียวกลุ่มอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลหรือไม่ อย่างเช่นผู้สนับสนุนการจัดงาน TCAC ในครั้งนี้ และถามด้วยว่าในการประชุมครั้งนี้ประชาชนจะได้อะไรหรือไม่

เช่นเดียวกับ ดร.กฤษฎา บุญชัย ผู้ประสานงานโครงการ Thai Climate Justicefor All – TCJA ซึ่งเป็นเอ็นจีโอที่ได้ขึ้นกล่าวบรรยายบนเวทีการประชุม TCAC ครั้งนี้ ระบุว่าตอนหนึ่งว่า เวที TCAC ยังเป็นแค่เวทีกลุ่มธุรกิจคาร์บอน ขณะที่ปัญหาโลกร้อนกระทบต่อผู้คนมากมายทั้งชุมชน เกษตรกรรายย่อย คนเมือง กลุ่มเปราะบาง ฯลฯ แต่เวที TCAC ยังไม่ใช่เวทีแห่งการมีส่วนร่วมของประชาชน

อ้างอิง:
• Kate Abnett (Sep 24, 2022) “Global climate change protests demand compensation ahead of COP27” . Reuters
• Rosie Frost (Sep 21, 2022) “Denmark becomes first country to pay for ‘loss and damage’ from climate change” . Euronews

Copyright @2021 – All Right Reserved.