The God Revolution วิถีเกษตรที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ

by Igreen Editor

ในช่วงทศวรรษที่ 80 – 90 ชื่อของ ฟุกุโอกะ มาซาโนบุ เป็นที่รู้จักกันดีในประเทศไทย หนังสือของเขาแพร่หลายอย่างมากในกลุ่มวิถีชีวิตทางเลือกและเกษตรวิถีธรรมชาติ

แต่ในทศวรรษนี้จะมีสักกี่คนที่จดจำเข้าได้?

ในยุคที่มนุษย์กำลังสำลักมลพิษ และสิ้นหวังกับการไล่ล่าความก้าวหน้าทางวัตถุ บางทีอาจถึงเวลาที่เราจะกลับมาทบทวนบทเรียนของ ฟุกุโอกะ กันอีกครั้ง

ฟุกุโอกะ  มาซาโนบุ (Masanobu Fukuoka) คือใคร?

เขาเกิดเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 1913 ในเมืองเล็กๆ ที่ชื่ออิโยะ จังหวัดเอฮิเมะ มุมที่เงียบสงบมุมหนึ่งบนเกาะชิโกกุ ดินแดนแถบนี้ขึ้นชื่อในเรื่องผลิตภัณฑ์ประมงและการสวนผลไม้ เช่น ส้มมิคัง ครอบครัวของเขามีสวนส้มและแปลงเกษตรกว้างใหญ่ สมกับเป็นวงศ์สกุลเจ้าที่ดินและผู้ทรงอิทธิพลในท้องถิ่น ฟุกุโอกะผู้พ่อ

ไม่ใช่เจ้าที่ดินธรรมดาแต่มีความรู้กว้างขวางจึงได้รับเลือกเป็นายกเทศมนตรีอย่างต่อเนื่อง ส่วนผู้เป็นแม่สืบเชื้อสายจากสกุลซามุไรเก่าแก่ จะเห็นได้ว่าเบื้องหลังชีวิตของเขาค่อนข้างสุขสบาย ทั้งยังได้รับโอกาสทางการศึกษาเหนือกว่าเด็กทั่วๆ ไปในแถบบ้านนอกไกลปืนเที่ยง

เพียงแต่ ฟุกุโอกะ ไม่ใช่เด็กเรียน ยังชอบเล่นสนุกไร้สาระ ซ้ำยังไม่เอาถ่านจนคุณครูพากันหัวเสีย ยกเว้นครูวิชาวรรณคดีที่สร้างความประทับใจให้กับเขามาก โดยเฉพาะคำแนะนำให้พวกเด็กๆ รีบหาเพื่อนสัก 5 คนให้ได้ในชีวิต เผื่อว่าวันที่สิ้นลมหายใจ อย่างน้อยยังมีคน 5 คน หลั่งน้ำตาให้กับการจากไปของเรา

วันที่เขารู้ซึ้งในคำแนะนำของคุณครู คือตอนที่เขาเรียนจบและพบกับประสบการณ์เฉียดตายที่แสนจะอ้างว้าง

ในช่วงทศวรรษที่ 30 ฟุกุโอกะ เริ่มทำงานด้านการวิจัยเกษตร และในปี 1934 ทำงานที่สำนักงานศุลกากรเมืองโยโกฮามะ ฝ่ายวิจัยทางวิทยาศาสตร์ กองตรวจสอบพันธุ์พืช ช่วงนี้เองที่เขาได้ค้นพบความน่าอัศจรรย์ของธรรมชาติผ่านกล้องจุลทรรศน์ ได้พบกับพันธุ์พืชแปลกๆ ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เรียกได้ว่าเป็นรักแท้ครั้งแรกของชีวิตเขาก็ว่าได้

แต่แล้วในปี 1937 เมื่ออายุได้ 25 ปี เขาล้มป่วยลงด้วยโรคปอดขั้นรุนแรง ต้องถูกกักตัวไว้ในโรงพยาบาลที่ปราศจากความอบอุ่นท่ามกลางฤดูหนาวเหน็บ พยาบาลที่เข้ามาตรวจอาการเขาแต่ละครั้งต้องรีบออกจากห้อง เพราะมันหนาวเกินจะทนอยู่ได้

ที่แสนจะเทือนใจก็คือ ไม่มีเพื่อนสักคนมาคอยสอบถามอาการ เพราะทุกคนกลัวติดเชื้อจากเขา

ช่วงที่เขาป่วยจากอาการปอดบวมจนเจียนตายเขาระลึกถึงคำครูที่รัก และแม้จะหายจากอาการป่วยในที่สุด แต่นับจากวันนั้น ฟุกุโอกะ เริ่มครุ่นคิดเรื่องชีวิตและความตายด้วยจิตใจที่สับสน  กระทั่งคืนหนึ่งระหว่างเดินเล่นด้วยจิตใจที่เหม่อลอย ความสับสนล่อลวงให้เขาไปยืนหมิ่นเหม่ริมหน้าผา เฝ้าถามตัวเองว่าหากเขาฆ่าตัวตายไปตอนนี้จะมีใครหลั่งน้ำตาให้เขาบ้างหรือไม่?

คำตอบก็คือไม่ เพราะเขายังไม่อาจบรรลุภารกิจของการค้นหาเพื่อน 5 คนในชีวิตไว้คอยหลั่งน้ำตาตอนเขาตาย

คืนนั้น ฟุกุโอกะ ปล่อยให้ความสับสนต่อสู้กับตัวเองจนผลอยหลับไปใต้ต้นไม้ใหญ่

เสียงนกกระยางปลุกเขาให้ตื่นขึ้นมาในเช้าวันใหม่ ฟุกุโอกะ มองไปรอบๆ ตัว เขาพบแสงตะวันชำแรกม่านหมอกเปิดฟ้าวันใหม่ เสียงนกขับขาน และสรรพชีวิตกำลังเริ่มต้นวัฏจักรของมันอีกครั้ง

ช่วงเวลานี้เองที่ภาวะตระหนักรู้บังเกิดขึ้นกับ ฟุกุโอกะ เป็นความตระหนักในความไร้ (มู) สิ่งที่ยึดถือแบกให้หนักไว้แท้จริงแล้วไม่มีสาระอันใดให้ยึดเหนี่ยวเลย ในฉับพลันนั้นความขมขื่นที่กลืนเขาเรื่อยมาได้อันตรธานหายไปราวกับภาพมายา สิ่งที่เข้ามาแทนที่คือความตระหนักรู้ถึงสารัตถะที่แท้จริงของธรรมชาติ

นับแต่วันที่เกิดความตระหนักรู้ครั้งยิ่งใหญ่ ฟุกุโอะ เริ่มต้นมรรคาชีวิตแบบใหม่ที่ไร้ความหมาย ไร้การกระทำ เพราะชีวิตใหม่ของเขาคือการไม่ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เดินทางเร่ร่อนไปเรื่อยๆ จากเมืองหนึ่งสู่เมืองหนึ่ง อาศัยน้ำใจของผู้คนตามรายทางเพื่อประทังชีวิต จนกระทั่งกลับมาบ้านแล้วขอโอกาสจากพ่อปันพื้นที่เพาะปลูกให้ส่วนหนึ่งเพื่อทดลองทฤษฎีของการทำเกษตรแบบไม่ต้องทำอะไร เพื่อปล่อยให้พืชพันธุ์และสรรพสัตว์เติบโตกันไปตามครรลองของธรรมชาติ เขาเชื่อว่าการไม่ทำอะไร (มู) คือการทำที่ยิ่งใหญ่และจะให้ผลที่ยิ่งใหญ่

แต่แล้วต้นไม่ใบหญ้าที่ถูกเขาทิ้งไว้ให้โตเองตามธรรมชาติ ถูกแมลงเจาะกินจนวอดวายไปต่อหน้าต่อตา ไม่ใช่ว่าทฤษฎีมูของเขาผิดพลาด แต่เพราะเขาประเมินสถานการณ์พลาดไปอย่างมหันต์ เพราะสิ่งมีชีวิตบนโลกพึงพาอาศัยการบงการมานานเกินไป จนไม่อาจอยู่ได้โดยลำพังตามครรลองอีก ดังนั้นก่อนที่จะนำมันกลับสู่โลกของมู มนุษย์จึงต้องบงการมันเป็นครั้งสุดท้ายด้วยการตระเตรียมมันสู่มูก่อนจะทอดทิ้งมันอย่างสมบูรณ์แบบ

“มู” เป็นหลักของพุทธศาสนา หมายถึง “ศูนยตา” หรือความไร้ แต่ความไร้มิใช่สูญเปล่า เป็นความไร้ที่ประกอบไปด้วยสรรพสิ่ง เป็นความกลมกลืนหนึ่งเดียว แต่ในขณะเดียวกันก็ว่างเปล่าไร้แก่นสาร

ไร้ความหมาย คำว่า มู ของ ฟุกุโอกะ จึงมิใช่ความไร้ที่เปล่าดาย แต่เป็นความไร้ที่เป็นสารัตถะของสรรพสิ่ง เมื่อเราชักพาสรรพสิ่งสู่ความไร้ มันจะดำเนินไปตามครรลองของมันเอง บนวิถีที่ดูเหมือนจะไร้ความหมาย แต่ที่แท้แล้วสร้างสรรค์ผลลัพธ์ที่มีความหมายลึกซึ้งนัก ในทางศาสนาแล้วมันคือมรรคผลที่เปี่ยมไปด้วยเมตตาการุณ ในทางกสิกรรมมันคือผลิตผลที่งดงามและปราศจากการเบียดเบียน

หลังจากรอดพ้นอาการป่วยมาได้ ฟุกุโอกะ พบกับประสบการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิตที่จำทำให้เขากลายมาเป็นหัวหอกของการปฏิรูปการเกษตรด้วยทฤษฎีที่ปราศจากทฤษฎี เขาเริ่มต้นลงมือทำตามสิ่งที่เขาค้นพบในทันที โดยขอปันพื้นที่จากสวนของพ่อ แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จในตอนแรก อีกทั้งช่วงหนึ่งของการทดลองนี้ต้องหยุดชะงักลงเพราะสงครามโลกครั้งที่ 2 ฟุกุโอกะ ก็เช่นเดียวกับชายหนุ่มคนอื่นๆ ที่ถูกเกณฑ์ไปรบเพื่อองค์จักรพรรดิ

โชคดีที่เขาถูกเกณฑ์ในช่วงปลายสงคราม ไม่ได้ถูกส่งไปตายในแผ่นดินอื่น และสงครามสิ้นสุดลงอย่างรวดเร็วหลังการทิ้งระเบิดปรมาณู หลังสงครามที่ดินของครอบครัวถูกยึดโดยกองทัพอเมริกันและแบ่งสรรปันส่วนให้กับประชาชนคนอื่นๆ อย่างเท่าเทียมกันตามนโยบายปฏิรูปที่ดิน แม้จะเหลือที่ดินของตระกูลน้อยลงกว่าเดิมมาก แต่ก็เพียงพอให้ฟุกุโอกะทำการทดลองปรัชญาแห่งความไร้ของเขาอย่างมุ่งมั่นต่อไป

จากประสบการณ์ที่ผ่านมาสอนให้รู้ว่า พื้นที่แปรสภาพเป็นพื้นดินเกษตรแล้วจะหมดสิ้นความเป็นธรรมชาติ แต่การจะนำกลับมันคืนสู่ธรรมชาติไม่ใช่แค่นั่งเฉยๆ ปล่อยให้มันเป็นไป จำเป็นต้องมีการพลิกฟื้นเรียกคืนธรรมชาติกลับมาใหม่ ก่อนอื่นสิ่งที่ ฟุกุโอกะ ทำนั่นก็คือปล่อยวางจิตใจ แล้วซึมซับทุกสิ่งทุกอย่างจากธรรมชาติเข้ามา

นั่นคือการเฝ้าสังเกตความเคลื่อนไหวของสรรพสิ่งรอบๆ ตัว เฝ้ามองการเกิด เติบโต และดับสิ้นของพืชและสัตว์ จากนั้นเมื่อเริ่มลงมือทำ ก็เริ่มโดยไม่กังวลถึงความผิดพลาดเฝ้าเพียรทำไปและทดลองไปโดยลดทอนความแปลกแยกจากธรรมชาติให้น้อยลง ก่อเกิดเป็น “มู” หรือความไม่มีที่อัดแน่นไปด้วยความมีอยู่ของสรรพชีวิต

ในปี 1947 เขาเริ่มทำตามทฤษฎีเกษตรแบบมูอย่างจริงจังอีกครั้ง และพิมพ์หนังสือเรื่อง  Mu 1: The God Revolution เป็นหนังสือเล่มแรกของเขาว่าด้วยวิถีเกษตรที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ

ในเวลาต่อมา เขายังค้นพบความมหัศจรรย์เรื่องหนึ่งที่จะสร้างชื่อเสียงของเขาให้ได้รู้จัก ความมหัศจรรย์นั้นเกิดขึ้นมาจาก “ฟาง”

ฟางมีส่วนสำคัญในการปกป้องและเกื้อหนุนการเติบโตของพืชตามกระบวนการมู และเขาใช้มันอย่างเต็มประสิทธิภาพ แม้แต่ชื่อของ “ฟาง” ก็ยังกลายมาเป็นชื่อหนังสือที่โด่งดังไปทั่วโลก บอกเล่าประสบการณ์ของการทำเกษตรตามวิถีธรรมชาติ นั่นคือ “การปฏิวัติด้วยฟางเส้นเดียว”  ค.ศ.  ค.ศ. 1975 พิมพ์หนังสือชื่อ The One-Straw Revolution หรือการปฏิวัติด้วยฟางเส้นเดียว

แน่นอนว่า ฟุกุโอกะ ไม่ได้ใช้ฟางแค่เส้นเดียวในการนำสรรพชีวิตกลับคืนสู่วิถีแห่งความไร้ แต่หนังสือในชื่อ “ฟาง” เพียงเล่มเดียวนี้ประกาศสังคมอุดมคติที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลก ไม่เพียงเรียกร้องให้ชาวโลกหวนกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีธรรมชาติ แต่ยังแนะแนวทางปฏิรูปที่ดิน และการจัดสรรทรัพยากรที่เริ่มจะมีอย่างจำกัดจำเขี่ยขึ้นทุกวัน ย้ำว่า ฟุกุโอกะ ไม่ใช่นักอุดมคติเพ้อฝันที่จ้องแต่จะหาความไร้ในความมี แต่เขายังยืนอยู่ในโลกแห่งวัตถุที่ผู้คนยังยึดติดกับคำว่ามีมากกว่าจะสละตัวเองไปสู่ความไร้ที่พวกเขากลัวว่าเป็นความเวิ้งว้างว่างเปล่า

ฟุกุโอะ กล่าวว่า “เร็วดีกว่าช้า มากดีกว่าน้อย การพัฒนาอันฉูดฉาดนี้เชื่อมโยงโดยตรงกับการล่มสลายที่กำลังจะเกิดขึ้นของสังคม มันทำหน้าที่เพียงเพื่อแยกมนุษย์จากธรรมชาติ มนุษยชาติจะต้องหยุดการปลดปล่อยตัวเองไปตามแรงปรารถนาในการครอบครองทรัพย์สินและผลประโยชน์ส่วนตัว และควรมุ่งไปสู่การรับรู้ทางจิตวิญญาณวิญญาณ”

นอกจากญี่ปุ่น ฟุกุโอกะ  ยังเดินทางไปทั่วโลกเพื่อประกาศอุดมคติของเขาและช่วยเหลือเกษตรกรในการพลิกฟื้นผืนดิน เขาเดินทางรอนแรมจากสหรัฐถึงเอธิโอเปีย จากไทยถึงอัฟกานิสถาน (ค.ศ. 1990 –  1991 ฟุกุโอะกะ เดินทางมายังไทย เพื่อเยือนแปลงเกษตรต่างๆ และเก็บตัวอย่างเมล็ดพันธุ์) จากอินเดียถึงจีน จากบราซิลถึงฟิลิปปินส์ และอีกมากมายหลายแห่งหน แม้ว่าชาวโลกจะยังมิได้อ้าแขนรับแนวทางฟางเส้นเดียวของเขา แต่เขาได้สร้างแรงกระเพื่อมที่ยังเคลื่อนไหวไม่สร่างซาจนถึงทุกวันนี้

รอเวลาจนกว่า พวกเขาจะพบว่าธรรมชาติเท่านั้นที่สร้างสรรพสิ่งไม่ใช่วัตถุแปลกปลอมที่เรากำลังหลงระเริงเสพอย่างไร้ที่สิ้นสุดกันอยู่

ฟุกุโอะ กล่าวว่า “เมื่อหลายปีก่อนผมเดินทางไปทั่วยุโรป สำหรับผมแล้วดูเหมือนว่ายุโรปจะงดงามและเปล่งประกายมาก พร้อมกับรักษาธรรมชาติไว้มากมาย แต่ใต้พื้นผิวสามฟุต ผมรู้สึกได้ว่าทะเลทรายกำลังคืบคลานเข้ามาอย่างช้าๆ ผมยังสงสัยอยู่ว่าทำไม ผมตระหนักในที่สุดว่า มันเป็นความผิดพลาดจากวิธีการทำการเกษตรของพวกเขา จุดเริ่มต้นของความผิดพลาดมาจากการผลิตเนื้อเพื่อราชา และเหล้าองุ่นสำหรับคริสตจักร”

สิ่งที่ ฟุกุโอกะ ต้องการจะบอกก็คือ “การผลิตเนื้อเพื่อราชา และเหล้าองุ่นสำหรับคริสตจักร” คืออุตสาหกรรมเกษตรที่หล่อเลี้ยงบริโภคนิยม แม้ชาวโลกจะอิ่มหนำ แต่โลกกำลังจะแห้งตายช้าๆ

ในช่วงบั้นปลายชีวิต ฟุกุโอะ มาซาโนบุ ก็ยังเดินทางไปทั่วทุกแห่งหนเพื่อประกาศแนวทางของเขา และเปิดให้ผู้สนใจเข้ามาศึกษาแนวทางการทำกสิกรรมตามทฤษฎี “ฌิเซน โนโฮ” หรือ กสิกรรมปล่อยตามธรรมชาติ ที่อิงกับหลักมู นั่นคือการไม่เน้นการพลิกฟื้นดิน เช่น การไถพรวน ไม่ใช้สารเคมี ไม่ใช้การตัดต่อ ปล่อยให้เป็นไปตามครรลองของพืชพันธุ์ แต่ในการปล่อยนั้นมีการบงการอย่างสอดคล้องเป็นเนื้อเดียวกันแฝงอยู่

มาซาโนบุ ฟุกุโอะ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2008 อายุได้ 95 ปี

ญี่ปุ่นผลิตนักคิดและนักปรัชญามากมาย มีทั้งนักปฏิบัติที่เสาะรูปธรรมของหลักการ นักคิดที่ลงมือทำจริงในแบบนักปฏิบัตินิยม เป็นนักอุดมคติที่เปลี่ยนอุดมการณ์เป็นการปฏิวัติ และนักปรัชญาที่แสวงหาความจริงด้วยสองมือตัวเอง

มาซาโนบุ ฟุกุโอกะ สร้างปรัชญาจากสิ่งรอบตัว แล้วปล่อยให้สิ่งรอบตัวสร้างความเปลี่ยนแปลง เขาปล่อยให้หลัก “อกรรม” ก่อเกิด “กรรม” ชี้ให้เห็นว่าสรรพสิ่งนั้นขับเคลื่อนด้วยพลวัตรที่ปราศจากพลวัตร  เป็นปรัชญาแห่งการดำรงอยู่ และสร้างสรรค์ที่ลึกซึ้งแต่สามารถจับต้องได้

เป็นปรัชญาที่ผลิดอกออกผล สามารถลิ้มรสและเติมเต็มท้องของผู้คนให้อิ่มได้อย่างยั่งยืน

อ้างอิง

The 1988 Ramon Magsaysay Award for Public Service. (31 August 1988). “BIOGRAPHY of Masanobu Fukuoka” The Ramon Magsaysay Award Foundation website. (Retrieved 15 December 2010).

Patrick M. Lydon. (5 September  2012) “MASANOBU FUKUOKA AND NATURAL FARMING.” From http://www.finalstraw.org/masanobu-fukuoka-and-natural-farming. Retrieved 5 April 2019.

“Masanobu Fukuoka” From https://en.wikipedia.org/wiki/Masanobu_Fukuoka. Retrieved 5 April 2019.

Masanobu Fukuoka. (1978). The One-Straw Revolution: An Introduction to Natural Farming, translators Chris Pearce, Tsune Kurosawa and Larry Korn, Rodale Press.

Robert and Diane Gilman  (1986) “Greening The Desert: Applying natural farming techniques in Africaม, an interview with Masanobu Fukuoka” in Sustainable Habitat. Context Institute website.  Retrieved 5 April 2019.

M R Rajagopalan (27 December 2009). “Masanobu Fukuoka and Natural Farming” From https://gandhifoundation.org/2009/12/27/masanobu-fukuoka-and-natural-farming-by-m-r-rajagopalan/ .  Retrieved 5 April 2019.

Pic: vinyessonalegre.com

Copyright @2021 – All Right Reserved.