มหากาพย์ขุด (เหมือง) ทอง 35 ปี
บทเรียนประวัติศาสตร์สัมปทาน

by Igreen Editor

รัฐบาลประยุทธ์อนุมัติประทานบัตรเหมืองแร่ให้กับบริษัทคิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำนวน 4 แปลง ให้สามารถกลับมาเปิด “เหมืองแร่ชาตรี” ได้อีกครั้ง หลังถูกคำสั่งตามมาตรา 44 ให้ยุติการขุดทองในประเทศไทยไปตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งอยู่ในช่วงที่คิงส์เกตได้ยื่นฟ้องอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศต่อรัฐบาลไทยเรียกค่าเสียหายถึง 25,000 ล้านบาท

มหากาพย์เหมืองทองคำชาตรีมีที่มาที่ไปซับซ้อนและน่าสนใจ igreen ขอสรุปประเด็นสำคัญ ๆ มานำเสนอ ดังนี้


1) บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จากออสเตรเลียได้อาชญาบัตรพิเศษสำรวจสายแร่ทองคำในประทศไทยตั้งแต่ปี 2530 โดยเข้ามาจดทะเบียนก่อตั้งบริษัท อัครา ไมนิ่ง ซึ่งเป็นลูกขึ้นในไทย เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2536 และได้สิทธิสำรวจสายแร่ เนื้อที่ประมาณ 110,000 ไร่ บริเวณรอยต่อ จ.พิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก

2) มีการประเมินว่ามีสินแร่ภูเขาไฟอยู่ที่ 14.5 ล้านตัน มีมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท ถัดมาปี 2538 บริษัทอัคราฯ สำรวจพบสายแร่ทองในพิจิตรและเพชรบูรณ์ และยื่นขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำสำเร็จ กระทั่งวันที่ 27 ธ.ค. 2542 ได้ทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ตามใบอนุญาตประทานบัตรจำนวน 5 แปลง พื้นที่ประมาณ 1,259 ไร่ พร้อมได้ใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่เพื่อการเก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายนอกเขตเหมืองแร่ พื้นที่ประมาณ 1,575 ไร่ เพื่อเปิดการผลิตเหมืองแร่ทองคำชาตรี (ใต้)

3) บริษัท อัคราฯ ได้รับใบประทานบัตรขุดสำรวจ ขุดแร่ ผลิตและจำหน่ายแร่ทองคำ ที่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร (19 มิ.ย. 2543 – 18 มิ.ย. 2563) ในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย จำนวน 5 แปลง รวมพื้นที่ 1,259 ไร่ โดยบริษัทได้เดินสายพานผลิตแร่ทองคำส่งไปสกัดเป็นทองบริสุทธิ์ที่ออสเตรเลียก่อนจะนำกลับเข้ามายังไทยอีกครั้ง

4) แน่นอนว่ารัฐได้ประโยชน์จากการอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามา “ขุดทอง” โดยเฉพาะการเก็บค่าภาคหลวงที่ผู้ได้สัมปทานต้องจ่ายให้รัฐทุกปี รวมถึงการจ้างแรงงานคนไทย แต่ก็ย่อมมีผลเสียตามมาด้วยเช่นกัน (นักวิชาการเคยตั้งข้อสังเกตว่าสัมปทานด้วยการแลกค่าภาคหลวงด้วยแนวทางนี้ไม่คุ้มค่า, กพร. เคยระบุว่าสามารถเก็บค่าภาคหลวงทองคำได้เฉลี่ย 3,000 ล้านบาทต่อปี)

5) วันที่ 12 ธ.ค. 2544 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีซึ่งเข้ามาเป็นรัฐบาลต่อจากรัฐบาลชวน ก็ได้ไปเป็นประธานในพิธีเปิดเหมืองทองคำเชิงพาณิชย์ของเหมืองแร่ทองคำชาตรีใต้ก้อนแรก

6) วันที่ 12 ก.พ. 2550 บริษัท อัคราฯ ได้จัดทำอีไอเอในการขอประทานบัตรเพิ่มอีกจำนวน 9 แปลง พื้นที่ประมาณ 2,466 ไร่ ตามโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ และขอจัดตั้งสถานที่เก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายนอกเขตเหมืองแร่ พื้นที่ประมาณ 161 ไร่ รวมทั้งสองแหล่ง 14 แปลง พื้นที่ 3,926 ไร่

7) ปี 2550 นั้นเองเริ่มมีกลุ่มชาวบ้านร้องเรียนว่าได้รับความเดือดร้อนจาก “มลพิษทางเสียง” จากการระเบิดเหมืองทั้งวันทั้งคืน และพบว่าแหล่งน้ำปนเปื้อนสารโลหะหนักจนไม่สามารถใช้น้ำจากธรรมชาติได้ อีกทั้งเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น ชาวบ้านเริ่มมีอาการเจ็บป่วย มีผื่นคัน และตุ่มหนองทางผิวหนัง จึงเรียกร้องให้ภาครัฐตรวจสอบ

8) ปรากฎว่าปี 2551 บริษัท อัคราฯ ก็ได้รับสัมปทานเหมืองเพิ่มเติมจากรัฐใน จ.พิจิตร จำนวน 9 แปลงข้างต้นชื่อว่า “เหมืองทองคำชาตรีเหนือ” อายุสัมปทานยาวถึงปี 2571 ซึ่งอยู่ติดกับพื้นที่เดิม (เหมืองชาตรีใต้)

9) เวลานั้นได้มีเสียงคัดค้านจากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบโดยระบุว่า การขอขยายพื้นที่ของบริษัท อัคราฯ ไม่ได้จัดทำอีไอเอ ตามมาตรา 46-49 พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ปี 2535 แต่ก็ไม่เป็นผล โดยปี 2553 บริษัท อัคราฯ ได้สร้างบ่อทิ้งเก็บกากแร่แห่งที่ 2 บนพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นที่เก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินในเหมืองแร่ทองคำชาตรี (เดิม)

10) ปี 2553 เริ่มมีการฟ้องร้องกันขึ้นทั้งฝั่งชาวบ้านและฝ่ายบริษัท เช่น ปลายปี 2553 ชาวบ้านในพื้นที่บ้านหม้อ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ที่ได้รับผลกระทบ ยื่นฟ้องศาลปกครองพิษณุโลกกรณีบ่อเก็บเก็บกากแร่แห่งที่ 2 ทับเส้นทางสาธารณประโยชน์สายนาตาหวาย-อ่างหิน และให้ดำเนินคดีกับ 5 หน่วยงานรัฐ และให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนประทานบัตรของบริษัท 5 แปลง ซึ่งศาลสั่งเมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2555 ให้บริษัทไปจัดทำอีเอชไอเอภายใน 1 ปี หากไม่ดำเนินการให้แล้วเสร็จให้เพิกถอนประทานบัตร 4 แปลง ยกเว้น 1 แปลงบนเขาหม้อ

11) ในช่วงไล่เลี่ยกันนั้นชาวบ้านจำนวน 108 คน (ภายหลังถอนชื่อเหลือ 97 คน) จากพื้นที่หมู่ 3 บ้านเขาดิน หมู่ 7 บ้านหนองขนาก หมู่ 8 บ้านเขาดิน หมู่ 9 บ้านเขาหม้อ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองพิษณุโลกเพื่อเอาผิดเจ้าที่รัฐและบริษัท อัคราฯ รวม 14 ราย และให้บริษัท อัคราฯ ระงับทำเหมืองทองคำในพื้นที่ส่วนขยายและห้ามใช้บ่อทิ้งเก็บกากแร่แห่งที่ 2 โดยศาลได้พิพากษาเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2557 ให้บริษัท อัคราฯ ระงับการทำเหมืองในพื้นที่ส่วนขยาย และห้ามใช้บ่อทิ้งเก็บกากแร่แห่งที่ 2

12) ในวันที่ 24 ส.ค. 2557 ดร.สมิทธ ตุงคะสมิทธ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้รายงานผลการลงพื้นที่การตรวจเลือดชาวบ้าน 3 จังหวัด คือ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ จำนวน 1,004 คน ให้ที่ประชุมคณะทำงานที่มีผู้ว่าฯ พิจิตร เป็นประธาน โดยพบว่า สารแมงกานีสเกินกว่าค่ามาตรฐาน 41.83% สารหนู 19.52% และสารไซยาไนต์ 5.88% ซึ่งผู้จัดการบริษัท อัคราฯ โต้แย้งในที่ประชุมว่า ดร.สมิทธไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ ทางผู้ว่าฯ พิจิตร จึงส่งผลการตรวจเลือดให้ผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงอุตสาหกรรมไปวิเคราะห์

13) วันที่ 26-27 พ.ย. 2557 พญ.คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ พร้อมทีมแพทย์นิติวิทยาศาสตร์ และทีมเจาะเลือดจากคณะเทคนิคการแพทย์ ม.รังสิต ลงพื้นที่รอบเหมืองทองอัครา ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร เพื่อเจาะเลือดซ้ำประชาชนผู้ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงเป็นครั้งที่ 4 ซึ่งผลปรากฎว่าประชาชนมีสารโลหะหนักตกค้างจำนวนมากเช่นเดิม

14) เดือน ม.ค. 2558 กพร. ได้ลงพื้นที่สุ่มตรวจสารปนเปื้อนบ้าง โดยพบว่ามีชาวบ้านจำนวนหนึ่งมีโลหะหนักในกระแสเลือด ต่อมาจึงออกคำสั่งให้บริษัท อัคราฯ หยุดประกอบกิจการเป็นเวลา 30 วัน มีผลตั้งแต่วันที่ 14 ม.ค. 2558 เพื่อให้บริษัทแก้ไขปัญหา แต่บริษัทอัคราฯ ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่ง

15) วันที่ 3 ก.พ. 2558 ชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และเลย กว่า 50 คน ได้เข้าพบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมตัวแทนหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยรังสิต ตัวแทนกระทรวงสาธารณสุข ผู้ว่าฯ พิจิตร ตัวแทน กพร. เพื่อพิจารณาเรื่องร้องเรียน

16) ในเดือน เม.ย. 2559 ตัวแทนจาก 4 กระทรวง ประกอบด้วย รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ชื่อเดิม) และรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นชาวบ้านทั้งสองฝ่าย จากนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมได้นำเสนอให้ที่ประชุม ครม. เมื่่อวันที่ 10 พ.ค. 2559 ปิดเหมืองทองโดยใช้คำว่า “ไม่ต่ออายุประทานบัตร” เนื่องจากมีความขัดแย้งในพื้นที่และอายุสัมปทานใกล้หมด

17) ข้อเสนอให้ปิดเหมืองโดยกระทรวงอุตสาหกรรม (อรรชกา ศรีบุญเรือง เป็นรัฐมนตรีอุตสาหกรรม) ทำให้วันที่ 19 พ.ค. 2559 ประชาชนจากบริเวณรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรี พนักงานบริษัท อัคราฯ และครอบครัว ประมาณ 4,000-5,000 คน ซึ่งไม่เห็นด้วยจากข้อเสนอนี้จึงรวมตัวกันที่ศาลากลางจังหวัดพิจิตรเพื่อแสดงการคัดค้านการปิดเหมือง

18) ข้อมูลจากบริษัท อัคราฯ ระบุว่า ตั้งแต่เริ่มขุดเหมืองทองในไทยตั้งแต่ปี 2544 สามารถผลิตทองคำได้มากเป็นลำดับ จาก 1 ล้านตัน/ปี เพิ่มเป็น 5 ล้านตัน/ปี และสามารถผลิตได้ราว 1 แสนออนซ์/ปี พร้อมประกาศว่าเป็นผู้ประกอบกิจการเหมืองที่มีสินแร่และผลิตทองคำได้มากที่สุดในประเทศไทย

19) กระทั่งวันที่ 13 ธ.ค. 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช.ก็ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ระงับข้อขัดแย้งโดยมีคำสั่งที่ 72/2559 ประกาศว่า “ผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำจะต้องระงับการประกอบกิจการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป

20) ภายใต้คำสั่งเดียวกันให้คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ ต้องระงับการอนุญาตให้สำรวจ หรือทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงระงับการต่ออายุสัมปทานเหมืองแร่ทองคำ ผู้ประกอบการต้องฟื้นฟูพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ตามที่กำหนดไว้ในรายการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

21) ฝั่งบริษัท อัคราฯ ได้ทีปลดพนักงานทั้งหมด 265 คน รวมถึงเลิกจ้างพนักงานของบริษัทอีก 450 คน และหยุดเดินเครื่องจักรทั้งหมด และได้หยุดดำเนินกิจการอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ม.ค. 2560

22) หลังจากเหมืองถูกปิดลงทางบริษัท คิงส์เกตฯ ซึ่งเป็นบริษัทแม่เจ้าของสัมปทานได้ติดต่อขอเเจรจากับรัฐบาลไทยเพื่อยื่นข้อเสนอในการหาทางออกร่วมกัน แต่ไม่สามารถตกลงกันได้

23) จนกระทั่งวันที่ 5 พ.ย. 2560 บริษัท คิงส์เกตฯ ตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการกับราชอาณาจักรไทย เรียกร้องค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 750 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 25,000 ล้านบาท เนื่องจากเป็นการละเมิดข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) จากคำสั่งปิดเหมือง

24) วันที่ 29 มี.ค. 2563 ศาลแพ่งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมรับฟ้องคดีแบบกลุ่ม (Class Action) หลังจาก สื่อกัญญา ธีระชาติดำรง เป็นตัวแทนประชาชนรอบเหมืองทองอัคราฯ จาก 12 หมู่บ้านใน อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร และ อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ ยื่นฟ้องบริษัท อัคราฯเพื่อขอค่าชดเชยคนละประมาณ 1.58 ล้านบาท รวมเป็นเงินกว่า 500 ล้านบาท (ยื่นฟ้องครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2559 ในข้อหาละเมิดตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535)

25) ขณะที่ภาครัฐก็เริ่มดำเนินคดีกับฝ่ายบริษัทบ้าง โดยวันที่ 5 มี.ค. 2564 พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แต่งตั้งให้ พ.ต.ท.สุภัทธ์ ธรรมธนารักษ์ รองอธิบดีดีเอสไอ เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษดำเนินคดีกับบริษัท อัคราฯ ฐานความผิดการถือครองหุ้นแทนบุคคลต่างด้าว การปล่อยให้สารพิษรั่วไหล รวมทั้งการฟอกเงินและการหลบเลี่ยงภาษี อีกทั้งได้ส่งความเห็นส่งไปยังพนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ และ ป.ป.ช. ด้วย

26) กรณีพิพาทจากการยื่นฟ้องอนุญาโตตุลาการของเอกชนออสเตรเลียในครั้งนี้มีแนวโน้มที่รัฐบาลไทยจะแพ้คดีและอาจต้องควักเงินจ่ายค่าโง่ก้อนโต แต่แล้วกาลกลับพลิก โดยเมื่อ 19 ม.ค. 2565 บริษัท คิงส์เกตฯ เผยแพร่ประกาศทางเว็บไซต์ว่าได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลียว่า ขณะนี้รัฐบาลไทยได้อนุมัติประทานบัตรเหมืองแร่ (mining lease) ให้เปิดดำเนินการเปิดเหมืองแร่ในไทยอีกครั้งแล้ว ประกอบด้วย ประทานบัตรเหมืองชาตรีใต้ 3 แปลงและเหมืองแร่ควอตซ์ 1 แปลง

27) ประกาศดังกล่าวระบุหมายเลขอ้างอิงของประทานบัตรทั้ง 4 แปลง ประกอบด้วย แปลง (1) 26910/15365 แปลง (2) 26911/15366 แปลง (3) 26912/15367 และแปลง (4) 25528/14714 โดยแต่ละแปลงมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 10 ปี นับจากวันที่ 31 ธ.ค. 2564 รวมทั้งได้ขอต่อใบอนุญาตแปรรูปโลหกรรม (Metallurgical Processing Licence–MPL) เสร็จสมบูรณ์และได้รับการอนุมัติแล้ว และกำลังปรับปรุงโรงงาน 2 แห่งให้มีกำลังการผลิตต่อปีมากกว่า 5 ล้านตัน

28) อย่างไรก็ตาม ในข่าวประชาสัมพันธ์ของบริษัท เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2564 คิงส์เกต ระบุไว้ว่า ทางบริษัทและรัฐบาลไทยได้ร่วมกันร้องขอให้อนุญาโตตุลาการเลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไปเป็นวันที่ 31 ม.ค. 2565 เพื่อเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายขยายเวลาในการหาข้อสรุปการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท

อ้างอิง:
https://bit.ly/3KT7AIi
https://bit.ly/32MuH6o
https://bit.ly/3g9kUu8
https://bit.ly/3g5IkQT

https://bit.ly/3AETvK1
https://bbc.in/3AGkEMH

Copyright @2021 – All Right Reserved.