ภาวะสงครามจากอดีตถึงยูเครน
ก่อหายนะสิ่งแวดล้อมโลกมหาศาล

by Admin

การใช้อาวุธถล่มยูเครนโดยรัสเซียตั้งแต่ช่วงสองวันแรกพุ่งเป้าไปที่โครงสร้างพื้นฐานทางทหารของยูเครน แต่บ้านเรือนของประชาชนก็ถูกโจมตีอย่างจงใจ ตามมาด้วย รวมถึงคลังเก็บอาวุธ สนามบิน ฐานทัพเรือ ถังเก็บเชื้อเพลิงในหลายจุด ฯลฯ กล่าวได้ว่าการก่อสงครามไม่มีข้อยกเว้นพื้นที่ความเสียหาย

ความระห่ำของอาวุธสงครามเหล่านี้ส่งผลให้เกิดไฟไหม้ ปล่อยมลพิษทางอากาศที่เป็นอันตราย ควันขนาดใหญ่กระจายไปทั่วพื้นที่ ประกอบไปด้วยก๊าซพิษ ฝุ่นละออง โลหะหนักที่จะมีการปนเปื้อนในดินและน้ำเป็นจำนวนมาก รวมถึงจะก่อให้เกิดมลพิษบริเวณชายฝั่งและทะเล หรือแม้แต่รถถังที่ถูกไฟไหม้ เครื่องบินตก และเศษซากจากการสู้รบอื่น ๆ ก็กลายเป็นแหล่งมลพิษด้วยเช่นกัน

โรงงานนิวเคลียร์และความเสี่ยงจากรังสี

เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2022 การต่อสู้เกิดขึ้นรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล สถานที่ที่เกิดภัยพิบัตินิวเคลียร์ครั้งร้ายแรงที่สุดในโลกซึ่งยังคงอยู่ในขั้นตอนการรื้อถอนและดำเนินการให้ปลอดภัย กองกำลังรัสเซียเข้ายึดพื้นที่และมีรายงานว่าคนงานถูกจับเป็นตัวประกัน หากสิ่งนี้นำไปสู่การหยุดซ่อมบำรุงตามปกติอาจเพิ่มความเสี่ยงต่ออันตรายจากโรงไฟฟ้าอย่างมีนัยสำคัญ

วันแรกก่อนการบุกรุกของรัสเซีย มีการรายงานพบระดับรังสีแกมมาในระดับสูงในเขตยกเว้นเชอร์โนบิล ปริมาณรังสีที่รายงานมีค่าประมาณ 28 เท่าของขีดจำกัดประจำปี ซึ่งอาจเป็นผลมาจากฝุ่นที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของยานพาหนะด้วย

นอกเหนืออุตสาหกรรมนิวเคลียร์ในยูเครนที่มีความเสี่ยงและซากปรักหักพังตลอดจนมลพิษจากห่ากระสุนสงครามแล้ว ปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ก็จะตามมาด้วยอย่างไม่อาจคาดการณ์ได้ 

เครดิตภาพ : https://ceobs.org/how-does-war-damage-the-environment/

ผลกระทบต่อแหล่งน้ำ

หลังจากที่รัสเซียเข้ายึดครองไครเมียในปี 2014 ยูเครนได้ปิดกั้นคลอง North Crimean ซึ่งเคยใช้เปลี่ยนเส้นทางน้ำจากแม่น้ำ Dnieper เพื่อทดน้ำในพื้นที่เพาะปลูก, การใช้ในอุตสาหกรรมเคมีรวมทั้ง “ไครเมียไททัน” ซึ่งเป็นผู้ผลิตไททาเนียมไดออกไซด์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป 

การยึดไครเมียของรัสเซียทำให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในเวลาต่อมา โดยที่แหล่งน้ำในภาคตะวันออกของยูเครนปนเปื้อน ทำให้ผู้คนมากถึง 90,000 คนไม่มีน้ำใช้ นี่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในภูมิภาค Donbas มาแปดปีแล้ว ยังไม่รวมถึงท่อส่งพลังงานจากการต่อสู้รอบโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากแม่น้ำนีเปอร์ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักและใหญ่ที่สุดของยูเครน

มลพิษจากอาวุธ

การใช้อาวุธหนักของรัสเซียในเขตเมือง และในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นก่อให้เกิดมลพิษจากวัสดุก่อสร้างที่พังเป็นผุยผง ซึ่งอาจรวมถึงแร่ใยหิน โลหะ และผลิตภัณฑ์จากการเผาไหม้ เศษขยะจำนวนมาก และสามารถนำไปสู่มลพิษในดินและน้ำใต้ดินโดยการทำลายท่อน้ำเสีย สถานีบริการน้ำมันอยู่ใกล้ย่านที่อยู่อาศัย ฯลฯ 

เครดิตภาพ : https://ceobs.org/how-does-war-damage-the-environment/

โครงสร้างพื้นฐานทางอุตสาหกรรม

ยูเครนเป็นประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีเหมืองแร่ โรงงานผลิตแอมโมเนีย ยูเรีย และผลิตภัณฑ์เคมีอื่น ๆ ซึ่งเสี่ยงต่อภัยพิบัติทางเทคโนโลยีครั้งใหญ่ไม่เพียงแต่จากความเสียหายโดยตรงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการขาดแคลนบุคคลากรในการจัดการระบบให้มีความปลอดภัย 

นอกเหนือจากโครงสร้างพื้นฐานด้านเคมี โลหะวิทยา และพลังงานแล้วทั้งยูเครนและรัสเซียเป็นผู้ส่งออกธัญพืชรายใหญ่ ภาวะสงครามที่ยืดเยื้ออาจถีบราคาให้พุ่งสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารในระดับสากล โดยเฉพาะต่อประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้า

เครดิตภาพ : https://ceobs.org/how-does-war-damage-the-environment/

ความหลากหลายทางชีวภาพ

ยิ่งความขัดแย้งดำเนินต่อไปนานเท่าใด ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะการเคลื่อนพลในพื้นที่ เช่น ผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและทางธรณีวิทยาในเขตสงวนชีวมณฑลทะเลดำที่อาจทำลายป่าและแหล่งที่อยู่อาศัยเฉพาะของนกในเขตอนุรักษ์ธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในยูเครน

สภาพภูมิอากาศยิ่งวิกฤต

แน่นอนที่สุดผลกระทบในระยะสั้นและระยะยาวจากการสู้รบจะปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ซึ่งเป็นต้นทุนคาร์บอนเพิ่มเติม โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและก๊าซทั่วโลกจะมีผลกระทบที่ซับซ้อนต่อการปล่อยมลพิษ ด้านหนึ่งราคาที่สูงอาจลดการบริโภคลง แต่ในทางกลับกันจะมีการสนับสนุนให้มีการสำรวจและการผลิตพลังงานฟอสซิลเพิ่มขึ้น

ต้องเข้าใจว่าสหภาพยุโรปพึ่งพาก๊าซจากรัสเซียประมาณ 40% การคว่ำบาตรและการยกเลิกท่อส่ง Nord Stream 2 อาจจะกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานในยุโรประยะยาว ในทางที่ดีอาจมีความเป็นไปได้ในการพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น แต่ที่น่าติดตามก็คือความตึงเครียดทางการเมืองจากสงครามอาจส่งผลต่อข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมพหุภาคีที่กำลังดำเนินการ 

ทรัพยากรถูกผลาญก่อนเกิดความขัดแย้ง

CEOBS ระบุว่า ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากสงครามเริ่มต้นขึ้นก่อนที่พวกเขาจะทำสงคราม เพราะมีการใช้ทรัพยากรจำนวนมหาศาลเพื่อสร้างความพร้อมทางทหาร ไม่ว่าการฝึก การใช้ยานพาหนะทางทหาร เครื่องบิน เรือ อาคาร และโครงสร้างพื้นฐานล้วนต้องการพลังงานคือน้ำมัน ซึ่งการปล่อยคาร์บอนของกองทัพที่มีขนาดใหญ่ที่สุดนั้นปล่อยคาร์บอนมากกว่าหลายประเทศในโลกรวมกัน    

กองทัพยังต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่ทางบกและทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นฐานทัพและสิ่งอำนวยความสะดวก หรือเพื่อการทดสอบและการฝึกอบรม คาดว่าดินแดนทางทหารครอบคลุมระหว่าง 1-6% ของพื้นผิวโลก ในหลายกรณีพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางนิเวศวิทยา 

หากแยกการพัฒนาสาธารณะออกจากพื้นที่สงครามอาจเป็นประโยชน์ต่อความหลากหลายทางชีวภาพ แต่มักไม่ค่อยมีการพูดคุยกัน รวมทั้งพื้นที่คุ้มครองพลเรือนยิ่งไม่ต้องพูดถึงเพราะสงครามในอดีตได้บันทึกความสูญเสียและตัวอาชญากรสงครามไว้เป็นที่ประจักษ์ 

การบำรุงรักษาและต่ออายุยุทโธปกรณ์ทางทหารหมายถึงต้นทุนที่มีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แค่อาวุธนิวเคลียร์และเคมีที่อันตรายที่สุดเท่านั้นที่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมตลอดวงจรชีวิต การกำจัดอาวุธโดยการเผาหรือทิ้งลงทะเลจำนวนมหาศาลก็ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศได้เช่นเดียวกัน

นอกจากสงครามในหลายประเทศได้ทิ้งมรดกด้านสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรงไว้ การใช้จ่ายทางการทหารในระดับสูงโดยทางอ้อมยังทำให้ทรัพยากรถูกหันเหไปจากการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและห่างไกลจากการพัฒนาที่ยั่งยืน ความตึงเครียดระหว่างประเทศที่เกิดจากการใช้จ่ายทางทหารในระดับสูงยังลดโอกาสสำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศเกี่ยวกับภัยคุกคามด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก 

เช่น ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพอากาศที่ทั่วโลกกำลังเรียกร้องให้มีการควบคุมหรือปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานทางเลือก ทว่าภาวะสงครามได้ส่งผลต่อการควบคุมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำมัน ก๊าซ น้ำ และโลหะ โดยเฉพาะในสงครามกลางเมืองหลายแห่งอาจกินเวลานานหลายสิบปี ยิ่งความขัดแย้งที่รุนแรงยิ่งต้องใช้เชื้อเพลิงในปริมาณมาก ซึ่งนำไปสู่การปล่อยคาร์บอนจำนวนมาก 

สถานการณ์สงครามไม่ได้กระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินเท่านั้น แต่เพิ่มความเปราะบางของชุมชนในหลายมิติทั้งความเป็นอยู่ สุขภาวะจากการปนเปื้อนของแม่น้ำ หรือทะเล โดยเฉพาะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกอย่างไม่อาจปฏิเสธ 

นอกจากนี้ยังพบว่าอาวุธที่ใช้ในการล่าสัตว์ป่ามาจากประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง อีกทั้งนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่อนุรักษ์ได้เนื่องจากปัญหาด้านความปลอดภัย ส่งผลเสียต่อโครงการอนุรักษ์ ในขณะที่อุทยานแห่งชาติและพื้นที่คุ้มครองอาจสูญเสียความคุ้มครอง

ในขณะที่การตัดไม้ทำลายป่ามักเพิ่มขึ้นในช่วงที่เกิดความขัดแย้งด้วย 

ไม่อาจมองข้ามการพลัดถิ่นของมนุษย์จำนวนมากจากภาวะสงครามด้วย เช่น ค่ายผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นสามารถสร้างรอยเท้าสิ่งแวดล้อมขนาดใหญ่ อาทิ การจัดการของเสีย อีกทั้งกระทบต่อการบริการด้านสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2011 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ประกาศให้วันที่ 6 พ.ย. เป็นวันสากลเพื่อการป้องกันการแสวงประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมในสงครามและความขัดแย้งทางอาวุธ แต่สิ่งแวดล้อมยังคงเป็นเหยื่อของความขัดแย้งทางอาวุธทั่วโลกอย่างเงียบ ๆ ต่อไป

ข้อตกลงครั้งแรกเกิดขึ้นในช่วงสงครามเวียดนามที่นำไปสู่การสร้างเครื่องมือทางกฎหมายระหว่างประเทศใหม่สองรายการคือ อนุสัญญาว่าด้วยการปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการรับรองในปี 2519 เพื่อห้ามการใช้เทคนิคการดัดแปลงสิ่งแวดล้อมเป็นวิธีการทำสงคราม และการแก้ไขอนุสัญญาเจนีวาที่นำมาใช้ในปีต่อไปที่เป็นห้ามการทำสงครามที่อาจก่อให้เกิด “ความเสียหายอย่างกว้างขวาง ระยะยาว และรุนแรงต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ”

เครื่องมือทั้งสองนี้ถูกตั้งคำถามระหว่างสงครามอ่าวปี 1990-1991 ซึ่งเกิดมลพิษอย่างกว้างขวางจากการทำลายบ่อน้ำมันกว่า 600 แห่งโดยเจตนาในคูเวตโดยกองทัพอิรักและมีการเรียกร้องค่าเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมมูลค่า 85,000 ล้านดอลลาร์ในเวลาต่อมา และนำไปสู่การเรียกร้องเพิ่มเติมเพื่อเสริมสร้างการคุ้มครองทางกฎหมายต่อสิ่งแวดล้อมในระหว่างการสู้รบ

เครดิตภาพ : https://ceobs.org/how-does-war-damage-the-environment/

ยังมีอีกหลายกรณีที่ความขัดแย้งทางอาวุธยังคงก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญทั้งทางตรง ทางอ้อม ตัวอย่างเช่น พื้นที่อุตสาหกรรมหลายสิบแห่งถูกทิ้งระเบิดระหว่างความขัดแย้งในโคโซโวในปี 1999 ซึ่งนำไปสู่การปนเปื้อนสารเคมีที่เป็นพิษในหลายจุดและทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับมลพิษที่อาจเกิดขึ้นในแม่น้ำดานูบ 

ความขัดแย้งในอิรักซึ่งเริ่มขึ้นในเดือน มิ.ย. 2014 และจบลงด้วยการยึดครองพื้นที่สุดท้ายโดยกลุ่ม ISIL และการล่าถอยของกลุ่มติดอาวุธ ISIS ในปี 2017 ได้ทิ้งร่องรอยทางสิ่งแวดล้อมไว้อย่างลึกล้ำ ขณะที่กลุ่มติดอาวุธถอยกลับ พวกเขาจุดไฟเผาบ่อน้ำมันซึ่งทำให้เกิดการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ โพลีไซคลิก อะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน ฝุ่นละออง และโลหะ เช่น นิเกิล วานาเดียม และตะกั่วที่เป็นพิษ

อีกตัวอย่าง น้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ 12,000 ถึง 15,000 ตัน ถูกปล่อยลงทะเลเมดิเตอร์เรเนียน หลังจากการทิ้งระเบิดของโรงไฟฟ้า Jiyeh ระหว่างความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและเลบานอนในปี 2006

โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้ทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกหลายประเทศและพันธมิตรอื่น ๆ เพื่อเสริมสร้างการปกป้องสิ่งแวดล้อมทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการสู้รบด้วยอาวุธเรื่อยมาในหลายพื้นที่ความขัดแย้ง 

เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2019 คณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศได้นำร่างกฎหมาย 28 ฉบับมาใช้เพื่อเพิ่มการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในสถานการณ์ความขัดแย้งและสงคราม

“การปกป้องสิ่งแวดล้อมทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการปะทะกันด้วยอาวุธต้องมีความสำคัญทางการเมืองในระดับเดียวกับการปกป้องสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อมที่ดีคือรากฐานของสันติภาพและสิทธิมนุษยชน” เดวิด เจนเซ่น หัวหน้าฝ่ายสร้างสันติภาพด้านสิ่งแวดล้อมของ UNEP กล่าว

ตั้งแต่ปี 1999 UNEP ได้ดำเนินการประเมินหลังความขัดแย้งมากกว่า 25 ครั้งโดยใช้วิทยาศาสตร์ล้ำสมัยในการพิจารณาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากสงคราม ตั้งแต่โคโซโวไปจนถึงอัฟกานิสถาน ซูดาน และฉนวนกาซา ซึ่งพบว่าความขัดแย้งทางอาวุธก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ 

อ้างอิง: 

(Feb 25, 2022) Ukraine invasion: rapid overview of environmental issues . CEOBS

(Jun 4, 2020) “How does war damage the environment?”. CEOBS

(Nov 6 2019) “Rooting for the environment in times of conflict and war” . UNEP

Copyright @2021 – All Right Reserved.