เมื่อคนญี่ปุ่นขุดหลุมฝังตัวเอง
ด้วยการกินทิ้งกินขว้าง

by Igreen Editor

เมื่อประมาณ 2 – 3 ทศวรรษที่ คำว่า บริโภคนิยม (Consumerrism) เป็นคำยอดฮิตในหมู่นักวิชาการ เอ็นจีโอ และนักเคลื่อนไหวเพื่อสังคมสาขาต่างๆ มันเป็นคำที่ถูกใช้แทนคำว่า ทุนนิยม (Capitalism) ในหลายกรณี และสามารถอธิบายพฤติกรรมของปัจเจกบุคคลในสังคมที่มีผลต่อโลกได้ดีกว่าการบอกว่า โลกของเรากำลังฉิบหายเพราะทุนนิยม

ทุนนิยมเป็นการอธิบายในเชิงโครงสร้างแห่งการขูดรีดทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรม

ขณะที่บริโภคนิยม เป็นผลผลิตของทุนนิยมที่เร่งเร้าให้คนเดินดินแสวงหาการบริโภคที่พิสดาร และไม่แยแสต่อการเผาผลาญทรัพยากร เพราะทรัพยากรต้องรับใช้ทุน และทุนจะอยู่ได้ก็ด้วยการบริโภค

ในช่วงทศวรรษนั้นการบริโภคในสังคมไทยและหลายส่วนของโลกเป็นไปอย่างบ้าคลั่ง อันเป็นผลมาจากความเฟื่องฟูของระบอบทุนเสรี โดยเฉพาะในไทยในช่วงก่อนวิกฤตการเงินปี 2540 และญี่ปุ่นในช่วงก่อนฟองสบู่แตก

จนกระทั่งเราตกหลุมพรางของทุนนิยมในปี 2540 การบริโภคอย่างบ้าคลั่งในไทยก็เริ่มชะลอตัวลง แม้ว่าเราจะไม่ได้ยินคำว่าบริโภคนิยมกันแล้ว แต่มีคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาแทนที่

อย่างไรก็ตาม การกินล้างกินผลาญในโลกยังไม่จบสิ้นลง แม้ไทย ญี่ปุ่น และหลายส่วนๆ ของโลกจะเจ็บปวดกับพิษทุนนิยมจนตระหนักถึงภัยของการกินล้างกินผลาญ แต่โลกของเรายังมีเศรษฐกิจเกิดใหม่อีกมากมายที่รอผงาดขึ้นมา พร้อมๆ กับการบริโภคที่อิงกับมโนคติที่ว่า “มนุษย์คือเจ้าของทรัพยากร จะกินทิ้งกินขว้างก็ย่อมได้”

ในรายงาน Global Food Losses and Food Waste ของ FAO ระบุว่า ในประเทศพัฒนาแล้วโดยเฉลี่ยกินทิ้งกินขว้างกันคนละถึง 100 กิโลกรัมต่อคน โดยเป็นความสูญเสียในขั้นตอนการบริโภค ขณะที่ประทศที่ยากจนจะเป็นขั้นตอนการสูญเสียอาหารในช่วงการผลิต

อะไรที่เป็นเหตุที่ทำให้คนมีเงินกินทิ้งกินขว้าง?

ในประเทศพัฒนาแล้ว นอกจากภาคธุรกิจจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ผู้คนบริโภคโดยไม่ยั้งคิดผ่านการโฆษณาแล้ว ภาครัฐยังมีส่วนกระตุ้นทางอ้อม ด้วยการกำหนดมาตรฐานด้านอาหารที่เคร่งครัด เช่น การกำหนดวันหมดอายุของอาหารสดและอาหารสำเร็จรูปที่ตายตัว พร้อมด้วยบทลงโทษที่รุนแรงหากห้างร้านยังปล่อยให้มีอาหารหมดอายุวางขายอยู่

ในแง่หนึ่งถือเป็นความใส่ใจต่อสุขภาพของประชาชน แต่คำถามก็คือ อาหารเหล่านั้นหมดสภาพจริงหรือ? หรือเป็นเพียงความตื่นตระหนกจนเกินเหตุ (เพราะกลัวว่าทั้งผู้กินและผู้ขายจะพันพัวอยู่กับการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย)?

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการทิ้งอาหารหมดอายุในญี่ปุ่น

ที่ญี่ปุ่นมีระเบียบการจัดการอาหารหมดอายุที่เคร่งครัดมาก ร้านค้าจะต้องทิ้งอาหารหมดอายุหรือแม้แต่ก่อนที่จะหมดอายุในทันทีเพื่อป้องกันการถูกดำเนินการทางกฎหมายโดยภาครัฐ ดังนั้น อาหารจำนวนมากจึงถูกทิ้งทันทีหลังจากที่ขายไม่ได้ในวันนั้น “ของเหลือ” เหล่านี้กลายเป็นแหล่งอาหารอันโอชะของคนจรจัดและคนไร้บ้าน ที่มักจะมารอคุ้ยหาของเหลือเพื่อไปประทังชีวิตกันต่อไป อาหารหลายอย่างมีสภาพดีอย่างเหลือเชื่อ เพราะมันยังไม่หมดอายุจริงๆ นั่นเอง แต่เจ้าของร้านถูกระเบียบที่เข้มงวดบีบให้ทิ้งขว้าง ดังนั้น ถังขยะของร้านอาหารหรือห้างสรรพสินค้า จึงเป็นสวรรค์ของบรรดาคนจรจัด

ทว่า ในระยะหลัง ร้านค้าและห้างสรรพสินค้าใช้ระบบจัดการของเหลือที่เข้มงวดขึ้นไปอีก เพื่อป้องกันมิให้คนจรจัดกินของหมดอายุแล้วเป็นอันตรายต่อชีวิต ซึ่งจะส่งผลร้ายด้านกฎหมายและภาพลักษณ์ต่อกิจการของพวกเขาอยู่ดี แม้จะเป็นของทิ้งแล้วก็ตาม ดังนั้น ภาคธุรกิจจึงใช้ระบบจัดเก็บอาหารเหลือทิ้งที่มีประสิทธิภาพ จนคนจรจัดไม่สามารถเข้ามาหยิบฉวยได้ในภายหลัง

ผลก็คือ ของเหลือก็ยิ่งเหลือเข้าไปอีก เพราะขาดกระบวนการบริโภคในขั้นตอนสุดท้าย และคนจรจัดก็ยิ่งขาดอาหารมาบำรุงชีวิตอันยากแค้นของพวกเขา ในแง่การบริหารธุรกิจ มันคือการจัดการที่มีประสิทธิภาพ แต่ในแง่มนุษยธรรมและสิ่งแวดล้อมมันคือกระบวนการอันล้มเหลว

Japan Times รายงานว่า ในแต่และปีภาคการผลิตผลาญเงินไปกับอาหารเหลือกินถึงปีละ 114,000 ล้านเยน ของที่ผลิตออกมาถูกนำไปขายซ้ำเพียง 16% ที่เหลือก็ทิ้งไปอย่างไม่ใยดี

ปัญหาของเรื่องนี้ไม่เพียงสะท้อนความตึงของระบบจัดการอาหารเท่านั้น ยังสะท้อนถึงความการขาดวิสัยทัศน์ในระดับชาติด้วย เพราะอย่างที่ทราบกันว่า ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับวิกฤตอัตราการเกิดต่ำ เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย และประชากรวัยทำงานลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการเกษตรที่ขาดแคลนแรงงานอยางหนักหน่วง ทำให้การผลิตอาหารในอัตราที่พึ่งพาตัวเองได้ของญี่ปุ่นอยู่แค่ 39% เมื่อคำนวณจากอัตราแคลอรี่ ส่วนที่เหลือนำเข้าจากต่างประเทศ

ดังนั้น เมื่อกระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมงญี่ปุ่น (MAFF) คำนวณความเสียหายโดยคร่าวๆ จึงพบว่า การทิ้งขว้างอาหารในประเทศ มีอัตราส่วนเท่ากับผลผลิตด้านเกษตรและประมงที่ผลิตได้ในญี่ปุ่น หรือหมายความว่าคนญี่ปุ่นผลิตได้เท่าไรก็ทิ้งไปเท่านั้น ที่เหลือคือกินในส่วนที่นำเข้ามา

จากการประเมินโดยสถาบัน Food Tank องค์กรไม่หวังผลกำไรด้านการจัดการอาหารและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ในปี 2010 ญี่ปุ่นทิ้งอาหารเหลือกินถึง 18 ล้านตันต่อปี ในจำนวนนี้ 5 – 8 ล้านตัน ยังเป็นอาหารที่สามารถรับประทานได้ และเป็นอัตราส่วนเท่ากับข้าวที่ผลิตได้ทั้งหมดในญี่ปุ่น

นั่นคือเรื่องเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน แต่ตอนนี้สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้นมากนัก เพราะล่าสุดตัวเลขจากปี 2017 โดยการรายงานโดย MAFF คือ  6.21 ล้านตันต่อปี เท่ากับอาหารที่ชาวโตเกียว 13 ล้านคนจะกินได้ทั้งปี

ความลักลั่นอีกอย่าง ก็คือจากการประเมินโดย  Japan Times พบว่า ญี่ปุ่นเผาหรือฝังทำลายอาหารเหลือกินจากภาคธุรกิจถึงปีละ 3.3 ล้านตัน แต่กลับนำเข้าข้าวโพดจากต่างประเทศถึง 10 ล้านตัน มาเลี้ยงปศุสัตว์ ซึ่งเป็นอัตรานำเข้าที่สูงกว่าประเทศใดในโลก

คำถามก็คือ ควรหรือไม่ที่ญี่ปุ่นจะนำอาหารเหลือใช้ไปเลี้ยงสัตว์ (ซึ่งมักเป็นเนื้อสัตว์ระดับพรีเมี่ยม) แทนที่จะนำเข้าอาหารจากภายนอก? เพราะการทำลายพื้นที่ป่าเพื่อเปิดทางให้อุตสาหกรรมเกษตรสำหรับอาหารปศุสัตว์เองก็เป็นภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน

และปัญหาก็คือ ด้วยกำลังคนที่ลดลง ภาคเกษตรที่หดตัว และกำลังซื้อที่หายไป ญี่ปุ่นจะยังคงมีพฤติกรรมแบบนี้ไปได้นานสักแค่ไหน? เพราะนิตยสาร Josei Seven ประเมินว่า ขณะที่ประเทศมีอาหารเหลือทิ้ง 6.21 ล้านตันนั้น เยาวชนจำนวนถึง 3 ล้านคน มีอาหารไม่พอยาไส้

ปัญหาลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับญี่ปุ่นประทศเดียว แต่ดูเหมือนว่าญี่ปุ่นจะมีปัญหาหนักที่สุด แต่ในเวลาเดียวกัน ดูเหมือนพวกเขาจะตระหนักในปัญหาน้อยที่สุดเช่นกัน

อาจเป็นเพราะความเคร่งครัดในระเบียบและความตื่นตัวกับเรื่องสุขภาวะจากการกินจนเกินไป ซึ่งนี่คือความลักลั่นที่ทุกฝ่ายต้องเร่งหาทางแก้ไข ก่อนที่ประเทศหนึ่ง และโลกใบหนึ่งจะล่มสลาย เพราะการกินทิ้งกินขว้าง

ภาพประกอบจาก OpenIDUser2 / wikipedia.org, Colenyj / wikipedia.org,

Love Food Hate Waste NZ / wikipedia.org

Copyright @2021 – All Right Reserved.