เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดสากล
ลดผลกระทบระบบนิเวศในระยะยาว

by Igreen Editor

ปัจจุบันมีสถานที่กว่า 150 แห่งทั่วโลกเข้าร่วมเป็น “เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดสากล” ซึ่งนอกจากจะเป็นการรณรงค์ให้เกิดการลดมลภาวะทางแสงที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ สุขภาพของมนุษย์ และการสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าแล้ว ยังมีส่วนช่วยอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดยามค่ำคืนให้คงความสวยงาม

นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเชิงดาราศาสตร์ สร้างรายได้ และกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในสถานที่นั้นอีกด้วย

ในปี 2564 นี้สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ NARIT ในฐานะหน่วยงานด้านดาราศาสตร์ของประเทศได้เดินหน้าโครงการเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย เพื่อให้เกิดอุทยานท้องฟ้ามืดสากล และเขตอนุรักษ์ฟ้ามืดในประเทศ ที่จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเชิงดาราศาสตร์ต่อไป

ทั้งนี้ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีการใช้แสงสว่างเพิ่มขึ้นทุกปีและมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะเป็นแสงสว่างที่จำเป็นหรือไม่จำเป็นก็ตาม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากการใช้แสงสว่างอย่างสิ้นเปลืองและไม่ระมัดระวังส่งผลกระทบต่อคนและสัตว์ ทั้งด้านระบบนิเวศ พลังงาน ดาราศาสตร์ รวมถึงสุขภาพร่างกายโดยไม่รู้ตัว

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้รณรงค์ให้ประชาชนใช้แสงสว่างให้เกิดประโยชน์สูงสุดและส่งผลเสียน้อยที่สุด เพื่ออนุรักษ์ท้องฟ้ายามค่ำคืนภายใต้ชื่อแคมเปญ “Dark Sky Reserve” หรือใช้ชื่อภาษาไทยว่า “เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด”

โดยมีเงื่อนไขว่าสถานที่นั้นต้องสามารถสังเกตเห็นดวงดาวในเวลากลางคืนได้อย่างชัดเจน อาจเป็นอุทยานแห่งชาติ พื้นที่ชุมชนหรือพื้นที่ส่วนตัว

ตัวอย่างเช่น “เขตสงวนท้องฟ้ามืดอาโอรากิ แมคเคนซี” ประเทศนิวซีแลนด์ เขตสงวนท้องฟ้ามืดที่ประสบความสำเร็จ สามารถจัดบริการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ กิจกรรมดูดาว/ถ่ายภาพในเวลากลางคืน ห้องพัก โรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก เทศกาลชมดาว และการบรรยายพิเศษ ทำให้เกิดการจ้างงานและเพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชนได้เป็นอย่างมาก

โลกมีการพัฒนาอยู่เสมอ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การคมนาคม วิศวกรรม ทำให้เทคโนโลยีต่างๆ เข้าถึงผู้คนได้ง่ายกว่าอดีตที่ผ่านมา แต่การพึ่งพาเทคโนโลยีโดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการใช้แสงสว่างจากหลอดไฟ การติดตั้งหลอดไฟอย่างไม่ระมัดระวังและไม่ควบคุมทิศทางตามบ้านเรือน ท้องถนน ส่งผลให้เกิดมลภาวะทางแสงที่เรืองสู่ท้องฟ้า 

ข้อมูลคุณภาพท้องฟ้าจากดาวเทียม Suomi National Polar-orbiting ของกรมอุตุนิยมวิทยาและองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NASA) พบว่า ประชากรโลกติดตั้งหลอดไฟนอกอาคารบ้านเรือนเพิ่มขึ้นถึง 2% ทุกปี ส่งผลให้หนึ่งในสามของประชาชนบนโลกไม่สามารถมองเห็นทางช้างเผือกบริเวณที่ตนอยู่อาศัยได้

อย่างไรก็ตาม มลภาวะทางแสงนั้นยังสามารถควบคุมได้ หากควบคุมทิศทางแสงและเปิดใช้งานเฉพาะบริเวณที่จำเป็น โดยบริเวณที่มีมลภาวะทางแสงมากที่สุดของไทย คือ กรุงเทพฯ และจังหวัดข้างเคียง ซึ่งส่วนมากจะเป็นจังหวัดใหญ่ๆ

อุทยานท้องฟ้ามืด (Dark Sky Park) คือ เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ที่รักษาและสงวนท้องฟ้าในเวลากลางคืนให้มีความมืดที่เหมาะสม ด้วยวิธีการใช้แสงสว่างอย่างระมัดระวัง เหมาะสมต่อการใช้งาน ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะทางแสง (Light Pollution) ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ การสิ้นเปลืองพลังงาน ความปลอดภัย และการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์

รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเชิงดาราศาสตร์ ที่ช่วยเผยแพร่และสร้างความตระหนักถึงผลกระทบของมลภาวะทางแสงแก่ประชาชน มีค่าความมืดท้องฟ้าอยู่ในระดับที่สามารถสังเกตเห็นวัตถุท้องฟ้า เช่น ดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ กลุ่มดาว กระจุกดาว เนบิวลา หรือทางช้างเผือกได้ด้วยตาเปล่า

ปัจจุบันหนึ่งในสามของประชากรมนุษย์ไม่สามารถมองเห็นทางช้างเผือกจากพื้นที่ที่พักอาศัยได้ ทางช้างเผือกที่หายไปชี้ให้เห็นถึงความสว่างของท้องฟ้าที่มากขึ้น เป็นผลจากการติดตั้งหลอดไฟอย่างไม่ระมัดระวังทั้งภายในและภายนอกอาคาร เช่น ป้ายโฆษณา บ้านเรือน ท้องถนน สนามกีฬา เป็นต้น จนเกิดมลภาวะทางแสงที่เรืองสู่ท้องฟ้าส่งผลกระทบหลายรูปแบบ ทั้งระยะสั้นที่กระทบต่อการศึกษาทางดาราศาสตร์ ความปลอยภัยของผู้ใช้ถนน หรือส่งผลกระทบระยะยาวต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ สิ่งมีชีวิตต่างๆ บนโลก

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากมลภาวะทางแสงที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา ส่งผลโดยตรงต่อพฤติกรรมและการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ปีก สัตว์น้ำหรือแม้แต่สิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เช่น แมลง และจุลินทรีย์ เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังสิ่งมีชีวิตอื่นในห่วงโซ่อาหาร และระบบนิเวศในระยะยาวอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยมีตัวอย่างที่เคยมีการศึกษา เพื่อให้เกิดความตระหนักและช่วยลดปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืน ดังต่อไปนี้

การนำทางของสัตว์

การอพยพและการหาอาหารของนกบางชนิดนั้นอาศัยแสงจันทร์และแสงดาวเป็นเครื่องนำทาง แสงไฟจากตัวเมืองที่ส่องสว่างมากเกินไปในช่วงเวลากลางคืนส่งผลต่อนกบางชนิดที่อาศัยช่วงเวลาดังกล่าวในการอพยพ ในสหรัฐอเมริกา มีนกอพยพจำนวนมากบินเข้าหาแสงไฟของอาคาร ตึกรามบ้านช่อง ประภาคาร หรือแม้แต่เรือสินค้า

ทำให้มีนกตายกว่าปีละ 100 – 1,000 ล้านตัวจากการบินชนกระจกหรือติดภายในตัวอาคาร และยังมีกรณีของนกอพยพที่ตามปกติแล้วต้องอพยพย้ายถิ่นฐานเข้าเขตอบอุ่นตามช่วงฤดูกาล แต่แสงไฟจากตัวเมืองทำให้นกหลงทิศทางจนหมดแรง และตายลง 

แมลงหลายชนิดวางไข่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยดูจากแสงที่สะท้อนผิวน้ำ มลภาวะทางแสงทำให้แมลงสับสนระหว่างสถานที่วางไข่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติกับบริเวณพื้นผิวมันวาวที่ไม่เหมาะสม เช่น ผิวถนน หรือแอ่งน้ำขัง ซึ่งส่งผลกระทบต่อจำนวนประชากรแมลงในระยะยาว

เต่าทะเลก็เป็นสัตว์อีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเรื่องการนำทาง เนื่องจากแม่เต่าจะขึ้นมาวางไข่บนหาดทรายในเวลากลางคืน และเมื่อลูกเต่าออกจากหลุมฟักไข่จะอาศัยแสงเรืองจากขอบฟ้าเพื่อหาทางลงทะเล แต่แสงไฟจากเมืองล่อให้มันหลงทิศและเดินเข้าหาความตายในเมือง เฉพาะในมลรัฐฟลอริดาแห่งเดียวก็พบลูกเต่าทะเลตายปีละหลายล้านตัวด้วยสาเหตุนี้

การสื่อสารและการผสมพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต

สัตว์มากมายอาศัยช่วงเวลากลางคืนเพื่อจับคู่ผสมพันธุ์ เช่น กบ เขียด อึ่งอ่าง คางคก เป็นต้น สัตว์เหล่านี้ต่างส่งเสียงระงมเพื่อหาคู่ บริเวณใดที่มีแสงรุกล้ำเข้าไปยังพื้นที่ในการผสมพันธุ์ หรือมีแสงส่องสว่างมากเกินความจำเป็น แสงเหล่านั้นจะส่งผลให้กบสับสน รู้สึกไม่ปลอดภัย จนอาจหยุดการจับคู่ผสมพันธุ์ ทำให้อัตราการผสมพันธุ์ต่ำลง

แมลงบางชนิดติดต่อสื่อสารกันด้วยแสงจากตัวของมันเอง ยกตัวอย่างเช่น “หิ่งห้อย” จะอาศัยความมืดเพื่อกระพริบแสงส่งสัญญาณหาคู่ และเตือนภัยอันตราย จากการศึกษาพบว่า มลภาวะทางแสงทำให้หิ่งห้อยกะพริบแสงลดลงกว่าร้อยละ  50-70  ส่งผลให้หิ่งห้อยต้องแสดงพฤติกรรมเกี้ยวพาราสีนานขึ้น ซึ่งหมายถึงโอกาสในการผสมพันธุ์ที่ลดลง

แสงส่วนเกินเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะมีผลต่อสัตว์หรือแมลง แต่ประชากรของแมลงที่ลดลงยังส่งผลสืบเนื่องไปถึงอัตราการขยายพันธุ์ของพืชหลายชนิดที่ลดลงด้วย โดยเฉพาะพืชที่ดอกบานในเวลากลางคืน อาศัยแมลงและผีเสื้อกลางคืนในการผสมเกสร

ความสัมพันธ์สัตว์ผู้ล่าและเหยื่อ

มลภาวะทางแสงกระทบต่อความสัมพันธ์ของสัตว์ผู้ล่าและเหยื่อ สัตว์ที่ออกหากินตอนกลางคืนจะใช้เวลาตอนกลางวันเพื่อพักผ่อน แต่มลภาวะทางแสงทำลายสมดุลของสัตว์ผู้ล่าและเหยื่อด้วยการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้มีความสว่างมากขึ้น ช่วยให้สัตว์ผู้ล่ามีโอกาสล่าเหยื่อได้ง่ายขึ้น ในขณะที่เหยื่อมีช่วงเวลาถูกล่ายาวนานขึ้น

นอกจากนี้ แสงสว่างยังส่งผลต่อพฤติกรรมการหาอาหารของสัตว์หลายประเภท เช่น นก ค้างคาว กบ คางคก ที่รวมตัวบริเวณแหล่งกำเนิดแสงเพื่อคอยกินแมลงที่บินวนเวียนบริเวณแสงไฟ

แพลงก์ตอนสัตว์ในมหาสมุทรก็มีการตอบสนองต่อแสงไม่ต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่น ธรรมชาติของแพลงก์ตอนสัตว์จะเคลื่อนที่ลงน้ำลึกในช่วงเวลากลางวัน และขึ้นมาบริเวณผิวน้ำช่วงกลางคืน งานวิจัยชี้ให้เห็นว่า จำนวนแพลงก์ตอนสัตว์ที่อพยพขึ้นมาบริเวณผิวน้ำสัมพันธ์กับความสว่างของดวงจันทร์

เช่น ช่วงดวงจันทร์เต็มดวงจะมีการอพยพขึ้นบริเวณผิวน้ำน้อยเพื่อหลีกหนีแสงสว่าง และมีจำนวนมากขึ้นช่วงดวงจันทร์มีความสว่างน้อยๆ บริเวณชายฝั่งที่มีมลภาวะทางแสงจำนวนมากส่งผลกระทบต่อปริมาณแพลงก์ตอนสัตว์บริเวณผิวน้ำที่น้อยลงและกระทบต่อเนื่องถึงสัตว์น้ำที่ออกหากินแพลงก์ตอนเป็นอาหารในเวลากลางคืน

ห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศ

ในระบบนิเวศประกอบด้วยผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้ย่อยสลายในจำนวนที่เหมาะสม ซึ่งมีความสัมพันธ์กันเป็นห่วงโซ่อาหาร ต่างพึ่งพากลไกการทำงานที่สมดุลของระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติเพื่อความอยู่รอด รวมถึงมนุษย์ ซึ่งอาศัยประโยชน์มากมายที่ระบบนิเวศสร้างขึ้น

จำนวนสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมออย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งจากการสิ้นอายุขัยของสิ่งมีชีวิต หรือจากความสัมพันธ์ของผู้ล่าและเหยื่อ จึงยังทำให้ห่วงโซ่อาหารมีความสมดุลอยู่ แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน อาจส่งผลต่อพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตในหลายๆ รูปแบบ และกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นต่อเนื่องเป็นลูกโซ่

มลภาวะทางแสง เป็นปัจจัยหนึ่งที่สิ่งมีชีวิตได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนและหลีกเลี่ยงได้ยาก จากตัวอย่างของผลกระทบที่กล่าวไปตอนต้น แสดงให้เห็นว่า มลภาวะทางแสงที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบหลายรูปแบบต่อสัตว์ที่เป็นพื้นฐานของห่วงโซ่อาหาร เช่น แพลงก์ตอน แมลง นก และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ มากกว่าสัตว์ผู้ล่าระดับบนของห่วงโซ่อาหาร แม้สัตว์ที่เป็นพื้นฐานของห่วงโซ่อาหารจะลดจำนวนลงก่อน แต่ท้ายที่สุดแล้วย่อมกระทบไปยังสิ่งมีชีวิตระดับอื่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีงานวิจัยที่บ่งชี้แน่ชัดว่าเราได้สูญเสียสัตว์และพืชไปเป็นจำนวนเท่าใดแล้วจากผลกระทบของมลภาวะทางแสง แต่ตามหลักการทางนิเวศวิทยา การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจนเกินกว่าที่สิ่งมีชิวิตในระบบนิเวศจะปรับได้ทัน (ecological trap) อาจส่งผลให้จำนวนประชากรลดน้อยลงและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในที่สุด

และแน่นอน มนุษย์ที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศก็อาจจะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อ้างอิง: https://darksky.narit.or.th/impact/wildlife/

Copyright @2021 – All Right Reserved.