ไมโครพลาสติกอันตรายต่อมนุษย์
‘อ่าวไทยตัว ก’ เสี่ยงปนเปื้อนกว่าที่อื่น (จบ)

by Igreen Editor

รศ.ดร.ประวิทย์ โตวัฒนะ คณะวิจัยการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในทะเล สถาบันทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เปิดเผย igreen ว่า ผลงานวิจัยของคณะวิจัยการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในทะเล จากสถาบันทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง มหาลัยวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จำนวน 2 เรื่อง มีดังนี้ 1) จากการศึกษาโดยการเก็บตัวอย่างปลาเศรษฐกิจที่วางจำหน่ายในตลาดสดจำนวน 165 ตัวอย่าง และ 2) จากการศึกษาโดยการเก็บตัวอย่างปลาเศรษฐกิจที่วางจำหน่ายในตลาดสด

1) จากการศึกษาโดยการเก็บตัวอย่างปลาเศรษฐกิจที่วางจำหน่ายในตลาดสดจำนวน 165 ตัวอย่างใน อ.สทิงพระ จ.สงขลา ที่จับได้จากจากชาวประมงพื้นบ้านระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนพฤศจิกายน 2560 ขนาดของตัวอย่างปลาดังกล่าวมีขนาดความยาว 8.5- 37.1 ซม. หนักระหว่าง 8.0- 133.0 กรัม แบ่งเป็นปลา 3 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย 1.กลุ่มปลาหน้าดินมีจำนวน 6 ชนิดจากตัวอย่างปลา 30ตัว พบเศษพลาสติก15 ตัว หรือ 50%  2.กลุ่มปลาผิวน้ำมีจำนวน 11 ชนิด จากตัวอย่างปลาทั้งหมด 74 ตัวอย่าง ตรวจพบเศษพลาสติก 51 ตัวอย่าง หรือ 69%

และ 3.กลุ่มปลาที่อาศัยอยู่บริเวณปะการัง มีจำนวน 7 ชนิดจากตัวอย่างปลาทั้งหมด 61 ตัวอย่าง ตรวจพบเศษพลาสติก 44 ตัวอย่าง หรือ 72 % โดยสรุปจำนวนเศษพลาสติกในกระเพาะ และทางเดินทางอาหารของปลาที่ตรวจพบทั้ง 3 กลุ่มหลัก = 67% คือพบเศษพลาสติกในปลา 110 ตัวจากตัวอย่างปลาทั้งหมด 165 ตัว เศษพลาสติกดังกล่าว ประกอบด้วย Microplastic ( < 5 mm) = 80% และ Mesoplastic (5-25 mm) = 20%

โดยสามารถอ่านรายละเอียดชนิดของปลาที่ศึกษาเพิ่มเติมได้จากงานวิจัยเรื่อง First Evidence of Existence of Microplastic in Stomatch of Some Commercial Fishes in the Lower Gulf of Thailand  ที่ตีพิมพ์ในวรสารนานาชาติ Applied Ecology and Environmental Research 2018, 16(6) : 7345-7360.

2) จากการศึกษาโดยการเก็บตัวอย่างปลาเศรษฐกิจที่วางจำหน่ายในตลาดสด จำนวน 105 ตัวอย่าง ใน  อ.สทิงพระ จ.สงขลา ที่จับได้จากจากชาวประมงพื้นบ้านระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม 2560 ขนาดของตัวอย่างปลาดังกล่าวมีขนาดความยาว 7.6- 21.9 ซม. หนักระหว่าง 4.0 – 99.0 กรัม แบ่งเป็นปลา 2 กลุ่มหลักประกอบด้วย 1) กลุ่มปลาหน้าดินมีจำนวน 2 ชนิด จากตัวอย่างปลา 68 ตัว พบเศษพลาสติก 35 ตัว หรือ 51% และ 2) กลุ่มปลาผิวน้ำมีจำนวน 2 ชนิด จากตัวอย่างปลาทั้งหมด 37 ตัวอย่าง ตรวจพบเศษพลาสติก 22 ตัวอย่าง หรือ 59%

โดยสรุปจำนวนเศษพลาสติกในกระเพาะ และทางเดินทางอาหารของปลาที่ตรวจพบทั้ง 2 กลุ่มหลัก = 54% คือพบเศษพลาสติกในปลา 57 ตัวจากตัวอย่างปลาทั้งหมด 105 ตัว เศษพลาสติกดังกล่าวประกอบด้วย Microplastic (<5mm) = 27% Mesoplastic (5-25 mm) =70% และ Macroplastic (> 25 mm) = 3%โดยสามารถอ่านรายละเอียดชนิดของปลาที่ศึกษาเพิ่มเติมได้จากงานวิจัยเรื่อง Ingestion of Microplastic by Some  Commercial Fishes in the Lower Gulf of Thailand: A Prelimary Approach to Ocean Conservation ที่ตีพิมพ์ในวรสาร International Journal of Agricultural Technology 2018,Vol. 14(7): 10171032

จากผลการวิจัยดังกล่าวได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามีเศษพลาสติกโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Microplastic และ Mesoplastic ในอ่าวไทยแล้ว ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใด เนื่องจากการปนเปื้อน Microplastic และ Mesoplastic นั้นได้เกิดขึ้นแล้วในทะเลทั่วทั้งโลก ดังผลการวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรีย ที่ได้ทำการเก็บอุจจาระจากคน 8 คน จาก ยุโรป รัสเซีย และญี่ปุ่น และได้ตรวจพบ Microplastic ในอุจจาระของทุกคนโดยพบ Microplastic จำนวน 20 ชิ้นในอุจจาระหนัก 10 กรัม ซึ่งเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงให้เห็นว่าปริมาณขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงสู่ทะเลทั่วโลกในปัจจุบันได้มีปริมาณมากเกินกว่าความสามารถของทะเลจะรองรับ (Carrying capacity)ได้แล้ว และมันไม่ได้ก่ออันตรายกับสัตว์ต่าง ๆ เท่านั้น แต่มันได้เข้าไปปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหารของมนุษย์แล้ว

ในสภาพปัจจุบันถ้าประเทศต่าง ๆ ทุกประเทศทั่วโลกหยุดทิ้งขยะพลาสติกลงสู่ทะเลโดยสิ้นเชิงตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ปัญหาการปนเปื้อนของขยะพลาสติกที่ปนปื้อนในห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ยังต้องใช้เวลาในการย่อยสลายตัวหลายร้อยปีจึงหมดไป โดยย่อยสลายตัวกลายเป็นธาตุคาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน

สำหรับในอ่าวไทยนั้นปัญหาการปนเปื้อนของ Microplastic ในห่วงโซ่อาหารของมนุษย์นั้นมีโอกาสเกิดความรุนแรงมากกว่าในทะเลแถบอื่น ๆ ของโลก เนื่องจากลักษณะของอ่าวไทยรูปตัว ก ซึ่งเป็นทะเลแบบกึ่งเปิด อาจทำให้ระดับการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกอาจสูงมากกว่าบริเวณที่อื่น ๆ ของโลกด้วย

ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนชาวไทย และประชาชนทั่วโลก  ต้องหยุดทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลตั้งแต่บัดนี้แล้ว ก่อนที่จะสายเกินกว่าที่จะแก้ไขได้

การแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกลงสู่ทะเล

เพื่อให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืน และเป็นระบบตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ควรดำเนินการดังต่อไปนี้

1) รัฐบาลจะต้องมีนโยบายเร่งด่วนในการรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงภัยร้ายของขยะพลาสติกที่มีต่อสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในท้องทะเลรวมทั้งตัวของมนุษย์เองด้วย เพื่อลดปริมาณและการใช้พลาสติกลงดังเช่นรัฐบาลได้กระทำอยู่ในปัจจุบันโดยขอความร่วมมือให้ห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อขนาดใหญ่หลายแห่งลดปริมาณการใช้ Single use plastic ลงเช่น ลดใช้ถุงพลาสติกลง นอกจากนั้นรัฐบาลควรมีนโยบายให้ร้านจำหน่ายอาหารในหน่วยงานราชการทุกแห่ง รวมทั้งการจัดประชุมสัมมนาต่าง ๆ ของหน่วยงานของรัฐ งดใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกบรรจุอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชนทั่วไปด้วย

2) ใช้วัสดุอื่นทดแทนพลาสติกในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ใช้ถ้วย จาน และหลอดกระดาษ ใช้

โฟมชานอ้อย หรือใบตอง ในการห่ออาหาร หากไม่สามารถจะใช้หรือหาวัสดุอื่นทดแทนพลาสติกได้ ก็ให้ใช้ไบโอพลาสติกที่ผลิตจากวัสดุทางการเกษตรแทน เช่น อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ทราบถึงอันตรายของขยะพลาสติกพอสมควรแล้ว แต่ก็ยังคงใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากพลาสติกอยู่ ตัวอย่างเช่น แก้ว และหลอดพลาสติก ถุงพลาสติกใส่อาหาร เนื่องจากว่าไบโอพลาสติกหรือ

โฟมชานอ้อยที่ใช้ทดแทนผลิตภัณฑ์พลาสติกข้างต้นมีราคาต่อหน่วยสูงกว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากพลาสติกประมาณ 4-5 เท่า ทำให้ประชาชนไม่นิยมใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัสดุอื่นทดแทน

ดังนั้น รัฐบาลควรมีนโยบายทางด้านภาษีโดยการเก็บภาษีผลิตภัณฑ์พลาสติกให้สูงขึ้นนำเงินภาษีที่เก็บได้มากขึ้นมาชดเชยให้แก่ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยใช้วัสดุทดแทนเพื่อให้ราคาของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยพลาสติกมีราคาใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัสดุทดแทนเป็นต้น ซึ่งจะทำให้ประชาชนนิยมมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัสดุทดแทน แทนผลิตภัณฑ์พลาสติกมากขึ้นเพราะราคาใกล้เคียงกัน

3) นำผลิตภัณฑ์พลาสติกเก่านำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle และ Reuse)

4) การฝังกลบขยะพลาสติกในที่ฝั่งกลบขยะ ( Landfill) ที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการนั้นสามารถไหลลงสู่แม่น้ำในช่วงฝนตกหนักหรือน้ำท่วมและขยะพลาสติกเหล่านี้จะไหลลงสู่ทะเลในที่สุดจึงควรมีการดักขยะพลาสติกในบริเวณคลองหรือท่อระบายน้ำโดยใช้ตาข่ายและอวน หรือแห ดักขยะจากบริเวณปากแม่น้ำหรือปากคูคลองระบายน้ำป้องกันไม่ให้ขยะพลาสติกหลุดรอดไหลลงสู่ทะเลดังเช่น เทศบาลในจังหวัดระยองได้ทำสำเร็จมาแล้ว

5) การกำจัดด้วยการเผาทำลายอย่างถูกวิธีเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าโดยเตาเผาขยะที่ถูกหลักวิชาการ และนำพลังงานมาผลิตกระเสไฟฟ้า เป็นต้น

Copyright @2021 – All Right Reserved.