เผยภาพหาชมได้ยากผลงานจากกล้องที่ติดตั้งไว้ในอุทยานแห่งชาติแซร์รา โดส ออร์เกาส์ (Serra dos Órgãos) ในป่าแอตแลนติกทางตะวันออกเฉียงใต้ของบราซิลสามารถจับภาพของเสือพูม่า หรือคูการ์ที่มีขนสีขาวทั้งตัว โดยภาพถ่ายดังกล่าวถ่ายในปี 2556 เป็นครั้งแรกที่ได้รับการยืนยันว่าพบสิงโตภูเขาที่มีอาการ Leucism (ลูซิซึ่ม) ซึ่งเป็นการกลายพันธุ์ทางพันธุกรรมที่ทำให้ร่างกายส่วนใหญ่เป็นสีขาว หรือที่เรียกกันว่าสัตว์เผือกนั่นเอง ภาพนี้เพิ่งจะได้รับการเผยแพร่ในวงกว้างเมื่อเร็วๆ นี้ผ่านทาง National Geographic
นักวิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อมของอุทยานแห่งชาติที่พบเสือภูเขาตัวนี้เผยว่าหลังจากได้ถ่ายภาพแล้วนักวิจัยหวังที่จะจับมันมาเพื่อทำการวิเคราะห์ยีนของมัน แต่พวกเขาไม่เคยเห็นมันอีกเลย และหลังจากตั้งกล้องอีกครั้งก็ยังจับภาพมันไม่ได้
ลุค ฮันเตอร์ ผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์วงศ์เสือ/แมวใหญ่ Wildlife Conservation Society’s Big Cats Program บอกว่า “ในชั่วชีวิตของผมอาจไม่เจอสิงโตภูเขาสีขาวอีกตัวอีกแล้ว”
ข้อแตกต่างระหว่างลูซิซึ่ม ( Leucism) กับภาวะผิวเผือก (Albinism) ก็คือ ภาวะผิวเผือกเป็นภาวะที่ไม่มีเมลานินหรือเม็ดสีซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผิวหนัง ขน และดวงตามีสี ไม่เพียงแต่ผิวมีสีขาว แต่ยังมีดวงตาที่ซีดมากจนมักเป็นสีชมพูหรือสีแดงเพราะเส้นเลือดเห็นได้ชัดขึ้น
ส่วนลูซิซึ่มเป็นเพียงการสูญเสียเม็ดสีบางส่วนซึ่งทำให้สัตว์มีผิวชั้นนอกหรือขนสีขาวหรือเป็นหย่อมๆ อย่างไรก็ตาม เซลล์เม็ดสีในดวงตาไม่ได้รับผลไปด้วย
เสือพูม่า หรือ เสือคูการ์ หรือ สิงโตภูเขา (Cougar, Puma, Mountain lion) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมในวงศ์เสือและแมว (Felidae) มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกา พบได้ตั้งแต่ยูคอนในประเทศแคนาดาถึงทางตอนใต้ของเทือกเขาแอนดีสในอเมริกาใต้
ตามปกติแล้วเสือพูม่าจะมีขนสีดำหรือเทาและภาวะเผือกเป็นสิ่งที่หาได้ยากมากในสัตว์ประเภทนี้ ต่างจากสัตว์ประเเภทเสือหรือแมวชนิดอื่นๆ ที่พบตัวเผือกไม่ยากนัก ซึ่งลุค ฮันเตอร์บอกว่านี่คือสิ่งที่ยืนยันว่าเป็นเรื่องที่ไม่ปกติสุดๆ ที่พบพูม่าขนสีขาว
ข้อมูลจาก:
Christine Dell’Amore. (December 3, 2020). “Extremely rare white cougar highlights a quirk of the species”. National Geographic.
Cecilia Cronemberger. (December 2018). “First record of leucism in puma from Serra dos Órgãos National Park, Brazil”. Cat News.
ภาพ ICMBio